คลังกระตุ้นบริจาคการศึกษา-กีฬา ใช้ลดภาษีได้2เท่า
 


คลังกระตุ้นบริจาคการศึกษา-กีฬา ใช้ลดภาษีได้2เท่า


คลังกระตุ้นบริจาคการศึกษา-กีฬา ใช้ลดภาษีได้2เท่า

"คลัง" สนองนโยบาย ครม. กระตุ้นการบริจาคด้านการศึกษาและกีฬา ให้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ สำหรับบุคคลธรรมดา เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค.56 ถึงสิ้นปี 58

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาหัวข้อ “รวมพลังกำลัง 2 เพื่อการศึกษาและกีฬา” ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการศึกษาและกีฬาให้ใช้สิทธิ์ได้ 2 เท่า และตัดเงื่อนไขด้านวัตถุประสงค์การบริจาค เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและกระตุ้นให้มีการบริจาคมากขึ้น โดยบุคคลธรรมดาสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ ส่วนบริษัทจะบริจาคหรือสินทรัพย์ก็ได้ และตัดรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ โดยมาตรการนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.นี้ ไปจนถึงสิ้นปี 2558

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในอดีตกรมสรรพากรก็มีมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการศึกษาและกีฬา ใช้สิทธิ์ได้ 1 เท่าของเงินได้สุทธิ แต่ไม่ยืดหยุ่นเพราะมีเงื่อนไขมากทำให้เรื่องการของการใช้สิทธิ์ดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการบริจาค แต่เงื่อนไขใหม่นี้ผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการใช้สิทธิ์ เช่น บริจาคเงินหรือสร้างอาคารพร้อมที่ดินให้แก่โรงเรียนของรัฐ หรือเอกชนได้ การบริจาคเงินให้แก่นักกีฬาโดยระบุชื่อผู้รับผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมพลศึกษา การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการกีฬา เป็นต้น ซึ่งทำให้เงินที่บริจาคถูกนำไปใช้ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค โดยไม่ต้องรอเงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนหรือสนับสนุนนักกีฬาที่ตัวเองชื่นชอบ

“เงินบริจาคด้านการศึกษาหรือด้านการกีฬาในอดีตก็ทำไว้อย่างมีข้อจำกัด แต่วันนี้กรมสรรพากรเปิดกว้างมากขึ้น รายรับของกรมสรรพากรในส่วนของภาษี อาจจะขาดหายไปประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่เงินที่หายไปอธิบายได้ว่า เงินจะเข้าไปสู่สังคมอย่างมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และประเทศชาติโดยตรง เช่น ปีหน้าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะอยู่ที่ 20% ดังนั้น หากหักลดหย่อนได้ 2 เท่า ก็เท่ากับ 40% แสดงว่าทุกๆ 100 บาทที่มีการบริจาค จะเป็นของผู้บริจาค 60 บาท และเป็นของรัฐ 40 บาท ผมชักชวนหากภาคเอกชนจะเข้ามาบริจาคกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จนทำให้เงินของกรมสรรพากรขาดหายไปจะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมีเงินสมทบจากภาคเอกชนที่ลงไปสู่สังคมในสัดส่วนที่มากกว่าเม็ดเงินที่รัฐสูญเสียไป”

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า เม็ดเงินภาษีที่สูญเสียไปจะไม่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ และฐานะทางการคลังในอนาคต เพราะในแต่ละปีมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศสูงขึ้นถึง 600,000 ล้านบาท และการจัดการเก็บรายได้ก็มีอัตราการขยายตัวเกิน 100,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากส่วนที่เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้อัตราการขยายตัวของภาษีโดยรวมลดน้อยลงบ้าง เพราะเงินภาษีที่รัฐเก็บ 100 บาท ต้องนำมาส่งเข้าคลัง 100 บาท แต่ถ้าส่วนนี้ไม่ได้เก็บแปลว่ามีภาคเอกชนเข้ามาสมทบด้วยมากกว่ารัฐบาล เงินที่ถูกใช้ไปในเรื่องการสร้างโรงเรียน การสร้างสนามกีฬา การสนับสนุนให้มีการดูแลให้มีคุณภาพถือว่าคุ้มค่ามาก

ส่วนเรื่องการลดภาษีเงินบุคคลธรรมดานั้น ขอให้รอผลการจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะลดลงเหลือ 20% ในปีหน้าว่า กรมสรรพากรจะสามารถขยายฐานภาษีได้กว้างมากขึ้นหรือไม่ เพราะในหลักการแล้วการเสียภาษีควรเสียในอัตราที่น้อย แต่ต้องอยู่บนฐานที่กว้าง จึงเห็นว่ายังไม่ควรลดภาษีเงินบุคคลในช่วงเวลานี้ และที่สำคัญต้องหารือกับหลายฝ่ายอย่างรอบคอบ ไม่สามารถที่จะตัดสินใจได้เพียงคนเดียว



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.