เชิญเที่ยวงานแห่พระ-แข่งเรือขึ้นโขนชิงธง "อันซีนไทยแลนด์"169 ปี แห่งมรดกลุ่มน้ำหลังสวน
 


เชิญเที่ยวงานแห่พระ-แข่งเรือขึ้นโขนชิงธง "อันซีนไทยแลนด์"169 ปี แห่งมรดกลุ่มน้ำหลังสวน


เชิญเที่ยวงานแห่พระ-แข่งเรือขึ้นโขนชิงธง
ตำนานการแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง งานประเพณีแห่พระแข่งเรือชิงโล่และถ้วยพระราชทาน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ถือเป็นการดำเนินชีวิตของคนไทยในอดีต มีความผูกพันกับสายน้ำมาเนิ่นนาน การปลูกสร้างบ้านหรือชุมชน ตั้งแต่สมัยโบราณกาลของคนไทย จะเลือกทำเลที่ติดแม่น้ำลำคลองเป็นสำคัญ เพื่อจะได้อาศัยน้ำในการเพาะปลูก ดื่มกิน และใช้เพื่อชำระร่างกาย เมืองหลังสวน มีแม่น้ำไหลผ่านเปรียบเสมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงเมือง ความสำคัญของแม่น้ำอีกประการหนึ่งก็คือ ใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาและการขนถ่ายสินค้าเพื่อการค้าขาย พาหนะที่ใช้ติดต่อกัน ก็เกิดจากฝีมือประดิษฐ์ของมนุษย์นั่นคือ เรือ ซึ่งนับว่าเป็นบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ การคมนาคมขนส่ง ขนบธรรมเนียม ประเพณีและความสนุกสนานแก่คนไทยเป็นอย่างมาก

ในสมัยก่อนเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ว่างเว้นจากการเพาะปลูก ปักดำทำนา ในราวเดือน ก.ย.-ธ.ค.โดยเฉพาะช่วงเทศกาลทอดกฐิน คนในหมู่บ้าน จะร่วมแรงร่วมใจกันตกแต่งเรือองค์กฐิน ไปทอดตามวัด    วาอารามต่าง ๆ ที่ตนศรัทธา ซึ่งวัดส่วนใหญ่จะตั้งริมฝั่งแม่น้ำ ขบวนเรือทอดกฐินจะมีเรือลำใหญ่ ส่วนมากจะใช้เรือมาด ที่ตกแต่งมีธงทิวอย่างสวยงามเป็นเรือตั้งองค์กฐิน นอกจากนั้นจะมีเรือขนาดรองลงมาพายนำและพายติดตามแห่องค์กฐินไปตามคุ้งน้ำ มีพิณพาทย์ ลาดตะโพนในเรือองค์กฐินบรรเลงอย่างสนุกสนานเสียงดังลั่นไปทั่วคุ้งน้ำ เมื่อทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการเล่นเรือเพลง และลงท้ายด้วยการพายเรือแข่งกันและการแข่งขันเรือยาวนี้เริ่มมีในท้องถิ่นหลังสวนมาเนิ่นนานไม่ปรากฏแน่ชัดว่าตั้งแต่สมัยใด แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการแข่งขันเรือกันในเดือน 11 และถือเป็นพระราชพิธีประจำเดือนเพราะในช่วงเดือน 11 เป็นช่วงที่มีน้ำนองเปี่ยมสองฝั่งเหมาะแก่การแข่งขันเรือเป็นอย่างยิ่ง ในสมัยแผ่นดินพระเอกาทศรถ โปรดให้มีการแข่งขันเรือของทหาร เพื่อต้องการฝึกซ้อมฝีพาย เรือลำใดเข้าเส้นชัยก่อน ก็จะพระราชทานรางวัลให้เป็นกำลังใจ เรือยาวที่ใช้ในการแข่งขันในปัจจุบันก็เป็นเรือที่พัฒนามาจากเรือที่ใช้ทำสงครามในสมัยก่อนนั้นเอง

ผู้สันทัดกรณีบางท่านสันนิษฐานว่า การแข่งขันเรือยาวของหลังสวนคงจะเกิดขึ้นราว พ.ศ. 2387 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะในช่วงนั้นเมืองหลังสวนมีวัดเกิดขึ้นหลายวัด การแห่พระลากพระก็คงจะเกิดขึ้นและมีการแข่งขันเรือยาวกันแล้ว ประเพณีการแข่งขันเรือยาวของหลังสวนเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของทุกปี เพราะในวันออกพรรษานี้ชาวพุทธจะไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดจากความเชื่อ ที่ว่า ในวันอันสมมุตินี้เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดสัตว์โลก ซึ่งในสมัยนั้นก็คงจะใช้เรือเป็นพาหนะ เสร็จจากการร่วมทำบุญตักบาตรแล้ว ก็สนุก สนานด้วยการพายเรือแข่งกัน

การแข่งขันเรือยาวในระยะแรก ๆ ไม่มีการมอบรางวัลใด ๆ เป็นการแข่งขันเพื่อความสนุกสนาน หลังจากที่ได้ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า สมัยก่อนพายชนะ 1 เที่ยว จะได้รับผ้าแถบ 1 ผืน และเมื่อได้รับผ้าแถบมาแล้ว นายหัวเรือจะนำมาผูกไว้ที่โขนเรือ ชนะหลายเที่ยวก็จะได้ผ้าแถบหลายผืน และเมื่อเลิกพายแล้ว ก็จะนำผ้าแถบเหล่านี้ไปเย็บติดกันเป็นผ้าม่านถวายวัดต่อไป ต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ เรือมีความยาวมากขึ้น ใช้ฝีพายมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2482 ได้มี ขันน้ำพานรอง ของพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในสมัยนั้น ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ต้องชนะเลิศติดต่อกัน 3 ปี จึงจะได้รับขันน้ำพานรองเป็นกรรมสิทธิ์ เรือต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนรับขันน้ำพานรองใบนี้กันอยู่หลายปี ในที่สุด เรือแม่นางสร้อยทอง ของวัดบรรพตวิสัย (วัดในเขา) ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน ก็ได้รับขันน้ำพานรองใบนี้เป็นกรรมสิทธิ์

กระทั่ง ปี พ.ศ. 2506 นายถ้วน พรหมโยธา ข้าราชการกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดชุมพร ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศการแข่งขัน และโล่รางวัลชนะเลิศประกวดเรือประเภทสวยงามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อทั้งสองล้นเกล้าพระบรมราชานุญาตแล้ว สำนักพระราชวังได้แจ้งให้จังหวัดชุมพรและคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่พระ แข่งเรืออำเภอหลังสวน ส่งตัวแทนไปรับ จังหวัดชุมพรจึงขอความกรุณาให้ พลเอกครวญ สุทธานินทร์ เป็นตัวแทนเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และได้อัญเชิญโล่พระราชทานมาอำเภอหลังสวน ทำการแข่งขันเรือยาวในปี พ.ศ. 2507

งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ 18-19 เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ฝีพาย 30 คน และฝีพาย 32 คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน มีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ 500 เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด สถานที่แข่งเรือคือวัดด่านประชากร ปี พ.ศ. 2555 นับเป็นปีที่ 169 ที่ ชาว อ.หลังสวน จ.ชุมพรได้รักษาประเพณี “ขึ้นโขนชิงธง” จนได้รับ ธง “UNSEEN THAILAND” จาก สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ในปี 2555 นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ชุมพร ร่วมกับ อบจ.ชุมพร ททท.ชุมพร อำเภอหลังสวน และชาวหลังสวน ขอเชิญชวนร่วมงานประเพณีแห่พระแข่งเรือ ชิงโล่และถ้วยพระราชทาน ขึ้นโขนชิงธง มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน ประจำปี 2555 วันที่ 31 ตุลาคม–4 พฤศจิกายน 2555 เช้าวันที่ 31 ต.ค. 55 ขอเชิญร่วมทำบุญประเพณีตักบาตรเทโว ทอดผ้าป่า ชมขบวนแห่พระทางบก เร้าใจตื่นตากับการแข่งเรือยาว ขึ้นโขนชิงธง การประกวดกองเชียร์ สีสันบรรยากาศทางน้ำ การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การประกวดภาพถ่าย เพลิดเพลินกับงานของดีที่ชุมพร เลือกหาสินค้าถูกใจ สนุกกับกิจกรรม และความบันเทิงที่หลากหลาย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.