สศช.อึ้งสังคมร้าย-เด็กไทยเสี่ยง "บัณทิต" เตะฝุ่นอื้อ-วิกฤติโลกจ่อซ้ำว่างงานเพิ่ม
 


สศช.อึ้งสังคมร้าย-เด็กไทยเสี่ยง "บัณทิต" เตะฝุ่นอื้อ-วิกฤติโลกจ่อซ้ำว่างงานเพิ่ม


สศช.อึ้งสังคมร้าย-เด็กไทยเสี่ยง

สศช.มองปัญหาสังคมไทยรุนแรงขึ้น 2 เดือนแรกปีนี้ พบเด็กไทยล้านคนเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต 50% ซึมเศร้า ขณะบัณฑิตธุรกิจ-บริหาร-พาณิชย์, ศิลปกรรม, มนุษยศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เตะฝุ่นชุลมุน จับตาเศรษฐกิจโลกทรุดซ้ำเติม แนะเร่งพัฒนาภาษาอังกฤษรับเออีซีหลังฟุดฟิดฟอไฟไม่ได้เรื่อง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2  ปี 2555 ว่า มีผู้ว่างงานจำนวน 334,121 คน คิดเป็น 0.85% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ว่างงาน 0.6% สาเหตุที่ไตรมา 2 ปีนี้ว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ภาคแรงงานเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 521,199 คน เทียบกับ 458,815 คน ของปีที่แล้ว เมื่อแยกเป็นรายสาขาพบว่า สาขาธุรกิจ บริหารและพาณิชยศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่อ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจมาก ทำให้ว่างงานเพิ่มขึ้นมาก รองลงมาเป็นสาขาศิลปกรรมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขณะที่ผู้ที่จบสาขาคอมพิวเตอร์ ระดับ ปวส.และอุดมศึกษามีอัตราว่างงานสูงเช่นกัน เพราะผลจากน้ำท่วม ส่งผลให้กำลังการผลิตของโรงงานเติบโตไม่ทันจำนวนแรงงานที่จบใหม่ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 เป็นช่วงเริ่มต้นของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 ซึ่งพบว่า ช่วยให้รายได้แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้น 19.2% ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเพียง 2.54% ผลการสำรวจของกระทรวงแรงงานระบุว่า อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 82.5% ได้รับผลกระทบ และเป็นข้อจำกัดในการขยายกิจการ โดยเอสเอ็มอี 39% งดรับลูกจ้างเพิ่ม 23.6% ได้ลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา ขณะที่ 21.14% เพิ่มราคาจำหน่ายสินค้า 14.6% เลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน และ 9.2% นำแรงงานต่างด้าวมาทดแทน

ส่วนผลการสำรวจทัศนคติของสมาชิกสภาหอการค้าไทย สมาชิก 82.4% ยืนยันว่าได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นแต่ประสิทธิภาพการทำงานเท่าเดิม ยอดจำหน่ายสินค้าจึงลดลงจากการปรับเพิ่มราคาสินค้า ขณะที่ผลการศึกษาถึงการปรับตัวของตลาดแรงงานพบว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไม่ส่งผลให้การว่างงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ส่งผลต่อการโยกย้ายแรงงานระหว่างกลุ่ม โดยบางส่วนเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพอิสระหรือภาคเกษตร

อย่างไรก็ตาม สัญญาณที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับการว่างงานในระยะสั้น คือ ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยและการทำงานต่ำกว่าระดับความสามารถ เริ่มส่งสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวังการว่างงานที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงและอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดย เฉพาะแรงงานในกลุ่มการผลิตเพื่อการส่งออกในกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีตลาดส่งออกหลักในประเทศยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก เช่น รถจักรยาน เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ รวมไปถึงกลุ่มแรงงานท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ขายของที่ระลึก และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในยุโรปประมาณ 10,000 คนต่อปี ที่ต้องติดตามสถานการณ์ในระยะสั้น

“สัญญาณเฝ้าระวังระยะยาว สำหรับแรงงานคือ ขณะนี้มีแรงงานที่มีอายุน้อยแต่การศึกษาต่ำอยู่จำนวนไม่น้อย กลุ่มนี้จะกลายเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานที่จะทดแทนกำลังแรงงานที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังแรงงานส่วนใหญ่ของไทยมีอายุมาก ระดับการศึกษาต่ำ และทำงานนอกระบบ จึงเป็นข้อจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตของประเทศและการยกระดับคุณภาพชีวิต ส่วนกลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาหลายสาขาก็มีปัญหาว่างงานสูงเพราะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด”

นายอาคม กล่าวต่อว่า ในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ประเทศไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบทางด้านภาษาอังกฤษ เป็นรองทั้งสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษต่ำมาก ซึ่งต่ำกว่าเวียดนามด้วย ดังนั้น ต้องเร่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับคนไทยให้สามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างเร่งด่วนต้องให้ความสำคัญจริงจังและต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาทักษะภาษามลายูกลางด้วย เพราะประชากรในอาเซียนกว่าครึ่งใช้ภาษามลายูกลาง

ด้านนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ปัญหาด้านสังคมของประเทศไทยที่น่าห่วงคือ มีเด็กไทยเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 1 ล้านคน จากการสำรวจของสถาบันรามจิตติ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2555 ในจำนวนเด็ก 7 ล้านคน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษา พบว่าเด็กประมาณ 1 ล้านคน มีอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดโดยไม่รู้สาเหตุ และเด็ก 50% มีอาการเครียด มีความสุขในการไปโรงเรียนลดลง นอกจากนี้ เด็กไทยยังมีความฉลาดทางอารมณ์ลดลง ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะสังคมไตรมาส 2 ยังพบว่ามีคดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น เป็นคดียาเสพติดจำนวน 92,501 คดี หรือคิดเป็น 83.1%ของคดีอาญารวม โดยปัญหายาเสพติดถือเป็นภัยคุกคามและจะเฝ้าระวังได้ยากขึ้นเมื่อเข้าสู่การเป็นเออีซี.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.