สืบสานตำนานฉลอง 105ปี เมืองด่านซ้าย ร่วมงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนสุดยิ่งใหญ่
 


สืบสานตำนานฉลอง 105ปี เมืองด่านซ้าย ร่วมงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนสุดยิ่งใหญ่


สืบสานตำนานฉลอง 105ปี เมืองด่านซ้าย ร่วมงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนสุดยิ่งใหญ่
อำเภอด่านซ้าย ดินแดนทางทิศตะวันตกของจังหวัดเลย แต่ค่อนไปทางภาคเหนือ ซ่อนตัวอยู่ก้นกระทะ บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นที่ราบกลางหุบเขา มีลำน้ำหมันไหลผ่าน มีภูเขาขนาบสามด้าน ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม กระทรวงมหาดไทยจัดอยู่ 1 ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน แต่สำเนียงพูดไม่เหมือนคนอีสานทั่วไป ช้า แต่นุ่มนวล ไพเราะ เสนาะหู มีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีงานบุญประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเดียวในประเทศ เช่น งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก งานพิธีเลี้ยงหอแก้บน ส่วนยิ่งใหญ่ที่เป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศคือ “งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน”

“ผีตาโขน” เป็นที่รู้จักกันดีว่าอยู่ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย การละเล่นผีตาโขน จัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า “งานบุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุเจดีย์สองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน

ผีตาโขน ที่อำเภอด่านซ้ายมี 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่ และผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดา 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัว คือ ผีตาโขนชาย1ตัวและหญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศ จะปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

ผีตาโขนเล็ก เป็นการละเล่นของเด็ก ทำด้วย “หวด” ภาชนะที่ใช้นึ่งข้าวเหนียว ซึ่งเป็นส่วนด้านบนดูคล้ายหมวก ส่วนหน้านั้นทำจากโคนก้านมะพร้าว นำมาตัดปาดให้เป็นรูปหน้ากากและเจาะช่องตา ส่วนจมูกทำจากไม้เนื้ออ่อน แกะให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามแต่จินตนาการของผู้สร้างสรรค์ โดยทำเป็นลักษณะยาวแหลมคล้ายงวงช้าง ส่วนเขาทำจากปลีมะพร้าวแห้ง โดยนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาเย็บติดเข้าไว้ด้วยกัน และทาสีสันวาดลวดลายไปบนด้านหน้าของหน้ากากนั้น ๆ หลังจากนั้นจะเย็บเศษผ้าติดไว้บริเวณด้านบน (หลัง) เพื่อให้คลุมส่วนคอของผู้ใส่ไปจนถึงไหล่ ส่วนเครื่องแต่งกายทำจากเศษผ้านำมาเย็บติดกัน และมี “หมากกะแหล่ง” หรือกระดิ่ง (คล้ายกับที่แขวนคอโค, กระบือ) แขวนผูกไว้บริเวณเอว เพื่อให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะเวลาเดิน และส่ายสะโพก ส่วนประกอบสุดท้าย คือ ดาบหรือง้าว ที่จะทำจากไม้เนื้ออ่อน ในขบวนแห่จะประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วม เพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผน และซุกซน

นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า “อำเภอด่านซ้าย เป็นเมืองสำคัญมาแต่โบราณ จัดตั้งเป็นอำเภอ ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 ปีนี้มีอายุครบ 105 ปี มีการบูชาผีเมือง เกิดจากความเชื่อตามคตินิยม ที่สืบทอดตามกันมา มีการนับถือตามลำดับชั้นที่ซับซ้อน โดยมีเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นคนกลางในการกำหนดพิธีการต่าง ๆ มีประเพณีที่อาจไม่เหมือนกับพื้นที่รอบข้าง หลังจากมีการยกระดับงานบุญหลวงและประเพณีการละเล่นผีตาโขน ตั้งแต่ปี 2530 ในระดับชาติ และเป็นระดับนานาชาติในปัจจุบัน ในปีนี้ทางคณะกรรมการมีความประสงค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส กับประเพณีที่งดงาม ได้ทั้งความรู้ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอำเภอด่านซ้าย และความบันเทิงควบคู่กันไปทั้ง 3 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวได้ชมขบวนแห่ผีตาโขน ตลอดจนการแสดงต่าง ๆ ได้ถึง 2 วัน ซึ่งปีนี้ กำหนดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2555
      
โดยวันแรกวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน เป็นพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อแต่โบราณกาล เริ่มตั้งแต่ เวลา 03.00 น. พิธีบวชพราหมณ์ ที่อุโบสถวัดโพนชัย จากนั้นจะทำพิธีเบิกพระอุปคุต ณ บริเวณระหว่างลำ น้ำหมันกับลำน้ำศอก ในเขตเทศบาล และตักบาตรแด่พระสงฆ์ เริ่มตั้งแต่หน้าวัดโพนชัย ไปตามถนนแก้วอาสาถึงทางแยกไปอำเภอนาแห้ว แล้ววนกลับไปยังวัดโพนชัย จนกระทั่งเวลา 08.30 น. ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน-เจ้าแม่นางเทียม ณ บ้านเจ้าพ่อกวน และแห่ขบวนเจ้าพ่อกวน ไปยังวัดโพนชัย ทำ พิธีเปิด “งานบุญหลวง” ชมขบวนแห่ผีตาโขนและการละเล่นทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ของเด็กและเยาวชน ณ วัดโพนชัย ขบวนแห่ผีตาโขนตามถนนแก้วอาสา และบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย

ในวันที่สองของงาน วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน เป็นงานด้านบันเทิงตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. พิธีเปิดงานบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2555 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย โดยนายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ชมขบวนแห่ ตั้งแต่หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย ไปตามถนนแก้วอาสาถึงวัดโพนชัย เป็นขบวนแห่ของเจ้าพ่อกวน-เจ้าแม่นางเทียม และคณะพ่อแสน ขบวนแห่โรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา ขบวนแห่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง 11 แห่ง และกลุ่มผีตาโขนใหญ่ ผีตาโขนน้อยนับพัน ขบวนทั้งหมดเดินทางไปยังวัดโพนชัย แห่รอบโบสถ์ 3 รอบ อัญเชิญพระพุทธรูปเข้าโบสถ์ จากนั้นเป็นพิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน เพื่อขอฝน หลัง 1 ทุ่ม มีเทศน์พระมาลัยแสน

ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เวลา 04.00 น. มีพิธีเทศน์มหาชาติ ณ อุโบสถวัดโพนชัย เชื่อว่าใครได้ฟังครบทั้ง 13 กัณฑ์ จะได้อานิสงส์แรงกล้า สามารถบันดาลให้ได้พบพระศรีอริยะเมตไตรย์ในภพหน้า ชมขบวนแห่ต้นกัณฑ์เทศน์ที่วิจิตรตระการตา ของทุกคุ้มหมู่บ้าน ในอำเภอด่านซ้าย ขอเชิญนักท่องเที่ยวที่สนใจ สอบถามเส้นทางการเดินทางมายังอำเภอด่านซ้ายและรายละเอียดของงานได้ที่ ที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย โทร. 0-4289-3126 สำนักงานวัฒนธรรม อำเภอด่านซ้าย โทร. 08-3145-3080 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย โทร. 0-4281-2812

ด้านนายสันติภาพ เชื้อบุญมี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลด่านซ้าย กล่าวว่า เพื่อมีส่วนร่วมในงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขนปีนี้ ทางเทศบาลได้จัดมหกรรมอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ณ บริเวณตลาดเย็น เทศบาลตำบลด่านซ้าย เชิญชิมอาหารพื้นเมืองและวัฒนธรรมการกินของชาวอำเภอด่านซ้าย ที่รสชาติไม่เหมือนใครในภาคอีสาน โดยเฉพาะน้ำผักสะทอนที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย พร้อมชมกิจกรรมการแสดงบนเวทีมากมาย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป.

ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์ / ธนโชติ ศรีบุญเรือง



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.