รอข่าวดี "พระบรมธาตุเจดีย์" จ.นครศรีฯ ?น้องใหม่?มรดกโลก
 


รอข่าวดี "พระบรมธาตุเจดีย์" จ.นครศรีฯ ?น้องใหม่?มรดกโลก


รอข่าวดี

(ที่มา:มติชนรายวัน 18 มิ.ย.2555)

 

 



นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนไทย และโดยเฉพาะชาว "เมืองคอน" ที่เมื่อเร็วๆ นี้ นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะกรรมการมรดกโลก ออกมาเปิดเผยว่า มติของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ต่างเห็นชอบเสนอส่ง "พระบรมธาตุเจดีย์" วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เข้าชิงประกวดขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในอนาคต

ถือเป็นสถานโบราณแห่งล่าสุดที่ถูกนำเสนอ อย่างเป็นทางการ โดยตัวแทนไทยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 36 ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน-6 กรกฎาคมนี้ ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์ สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ ไทยได้เสนอขึ้นบัญชีรายชื่อ เบื้องต้น 2 แห่งด้วยกัน จัดอยู่ในกลุ่มมรดกวัฒนธรรม (World Cultural Heritage) ได้แก่ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" และ "เส้นทางวัฒนธรรมกลุ่มปราสาทพิมาย-เมืองต่ำ-พนมรุ้ง"

ทั้ง 2 แห่งถูกนำเสนอเข้าอยู่ในบัญชี เบื้องต้นมาตั้งแต่ปี 2547 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

แต่ตามกฎของศูนย์มรดกโลกนั้น หากเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นแล้ว จะมีเวลา 10 ปี ในการที่ประเทศนั้นๆ ต้องจัดทำแฟ้มข้อมูล ขั้นตอนสุดท้าย เสนอให้พิจารณาด้วย

ทำให้ทางผู้รับผิดชอบของไทยจะต้องเร่งเสนอเอกสารสำคัญชิ้นนี้ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้ศูนย์มรดกโลก ส่งไม้ต่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้โหวตเห็นชอบในปี 2557

สำหรับประเทศไทยกรอกแบบฟอร์มเป็นภาคีในอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (State Party of the World Heritage Convention) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2530 เคยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) มาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรกปี 2532-2538

ครั้งที่สอง ปี 2540-2546

และครั้งที่สามหรือในปัจจุบัน ปี 2552-2556


นับตั้งแต่เป็นภาคีประเทศไทยสามารถผลักดันสถานที่สำคัญของไทยเข้าสู่ "มรดกโลก" ได้แล้ว 5 แห่งด้วยกัน

1.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 มีโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง

2.แหล่งมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์นี้ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมปี 2534

3.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ครอบคลุม 6 อำเภอของ 3 จังหวัด ได้แก่ อ.บ้านไร่ อ.ลานสัก อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก รวมพื้นที่ 4,046,747 ไร่ หรือ 6,427 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ (World Natural Heritage) ปี 2534

4.บ้านเชียง จ.อุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทำให้รู้ถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2535

5.ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จัดเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติไทย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติปี 2548

คราวนี้หันกลับมาทำความรู้จักกับพระบรมธาตุเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เดิมชื่อ "วัดพระบรมธาตุ" ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร ที่ทางกรมศิลปากรได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479

นางโสมสุดากล่าวต่อว่า คุณค่าของพระบรมธาตุเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ เข้าหลักเกณฑ์เป็นแหล่งมรดกโลกทั้งข้อ 1, 2 และ 6 คือ มีความ โดดเด่นเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยอายุราว 700 ปี จัดเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของชาวพุทธตลอดมา มีความสัมพันธ์โดยตรง เห็นได้ชัดเจนจากการที่ยังคงอยู่ของประเพณี ความเชื่อ และงานศิลปกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสากล โดยคณะทำงานของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ ในภูมิภาคใกล้เคียงมาเปรียบเทียบให้เห็นตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ ได้แก่ พระสถูปทาคาพา ถูปาราม ทรงกลมแบบลังกาขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในนครอนุราธ ปุระ ศูนย์กลางทางศาสนาของศรีลังกา รุ่งเรืองเป็นเวลายาวนานถึง 1,300 ปี

ตามตำนานกล่าวถึงพระบรมธาตุเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.854 หรือเมื่อ 1,701 ปี มาแล้ว ด้วยศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย โดยเจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลาและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษ ฐาน ณ หาดทรายแก้ว และสร้างเจดีย์องค์เล็กๆ เพื่อเป็นที่หมายไว้

ต่อมาปี พ.ศ.1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) ได้สร้างเมืองนครศรีธรรม ราช พร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นทรงสาญจี และในปี พ.ศ.1770 พระองค์ได้รับเอาพระภิกษุจากลังกามาตั้งคณะสงฆ์และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือ

เป็นทรงระฆังคว่ำ หรือโอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง รอบพระมหาธาตุมีเจดีย์ 158 องค์ สูงจากฐานถึงยอด 37 วา 2 ศอก ยอดสุด ของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา 1 ศอก แผ่เป็นแผ่นหนาเท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (หรือ 960 กิโลกรัม)

แม้ว่าจะผ่านกาลเวลายาวนานนับพันปี ปัจจุบันยังคงมีศาสนิกชนทั้งไทยและต่างชาติ เดินทางเข้ามาสักการะ พร้อมกับกิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี เช่น วันมาฆบูชา มีการแห่ผ้าขึ้น ธาตุ ประเพณีสมโภชพระธาตุ วันอาสาฬหบูชา ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสวดด้านในวันธรรมสวนะ ประเพณีวันวิสาขบูชา เป็นต้น จนได้ชื่อว่าเป็นปูชนียสถานที่มีชีวิตที่ยาวนาน สืบมา เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นศูนย์กลางประเพณีทางพระพุทธศาสนาตามแบบดั้งเดิม สืบทอดมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีพิธีกรรมเกี่ยวเนื่องกับการบูชาพระบรมธาตุมากกว่า 10 ครั้ง ในแต่ละปี

คราวนี้ลองมาฟังชาวชุมชนมุสลิมที่ตั้งรกรากอยู่หลังวัดพระบรมธาตุ แสดงความคิดเห็นอย่างไรต่อพื้นที่สำคัญแห่งนี้ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลก

วิจิต พันด่อล่า อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16 ถนนหลังวัดพระธาตุ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ทราบข่าวจากสื่อว่าพระบรมธาตุเจดีย์จะได้ขึ้นมรดกโลก รู้สึกดีใจอย่างมาก เพราะนับตั้งแต่บรรพบุรุษจนมาถึงตนต่างเกิดที่นี่ เห็นพระธาตุมานานแล้ว ชุมชนกว่า 200 หลังคาเรือนต่างมีความผูกพันกัน มานาน

"ผมยังจำได้ดีตั้งแต่เป็นเด็ก พอมีพิธีทางศาสนาพุทธขึ้น พวกเราเด็กๆ จะไปสนุกสนานกันในวัด บ้านไหนบวชลูกบวชหลาน เพื่อนบ้านก็จะไปช่วยเหลือกัน เรามีความผูกพันกัน มานาน ขณะนี้เหลือแต่รุ่นลูก รุ่นหลาน อาจ จะห่างหายไปบ้าง"

นายวิจิตกล่าวต่อว่า จำได้ว่าคนมุสลิม ที่ตั้งบ้านอยู่หลังวัดพระบรมธาตุสมัยก่อน จะมีอาชีพทำเครื่องถม โหม่ง ฉิ่ง หล่อทองเหลืองพระพุทธรูป แม้กระทั่งระฆังภายในวัดก็เป็นฝีมือการหล่อของชุมชนเรา แต่เดี๋ยวนี้หายไปหมดพร้อมภูมิปัญญาเหล่านั้น อาจจะเป็นสาเหตุจากการสั่งของจาก กทม. พวกเราก็เหลือแต่อาชีพค้าขายภายในวัดพระบรมธาตุเท่านั้น

นางเลา ไม่เปิดเผยนามสกุล อายุ 61 ปี ชาวมุสลิม มีอาชีพค้าขายภายในวัดพระบรมธาตุ กล่าวว่า บ้านก็อยู่ในชุมชนหลังวัด เกิดและโตที่นี่ ค้าขายมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พวกเรา อยู่กันในชุมชนมีทั้งพุทธและมุสลิม เหมือนพี่น้องกัน การนับถือศาสนาเป็นเรื่องของส่วนตัว แต่ เรื่องส่วนรวมในชุมชนเราจะช่วยเหลือกัน ไม่มีใครทักใคร ไม่มีใครติติงใคร คนในชุมชนรู้ดี

"พอถึงวันสำคัญทางศาสนา จะซื้อกับข้าวไปถวายพระ หากเป็นพิธีทางศาสนาอิสลาม ก็จะนำไปมอบให้เช่นกัน พวกเราในชุมชนจะรักส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ส่วนเรื่องค้าขายในวัด หาก จังหวัดบอกให้ย้ายเพื่อจัดโซนนิ่งคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่า แต่หากให้ย้ายชุมชน จังหวัดก็คงต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ดีอย่างนิ่งเงียบ"


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.