จอมแปลงปลอม ฟอสซิลดึกดำบรรพ์
 


จอมแปลงปลอม ฟอสซิลดึกดำบรรพ์


จอมแปลงปลอม ฟอสซิลดึกดำบรรพ์
นักวิชาการกำลังพิจารณากระดูกมนุษย์พิลท์ดาวน์.

หลังจากที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Daswin) ได้ตีพิมพ์บทความ “ต้นตระกูล” (Origin of Species) อันลือลั่นออกมาในปี ค.ศ.1859 โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์นั้นมีบรรพบุรุษเป็นวานร ก็ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการวิทยาศาสตร์อย่างใหญ่หลวง แม้ทฤษฎีนี้จะมีความเป็นไปได้  หากทว่ายังขาดหลักฐานสำคัญ คือซากฟอสซิล (Fossil) ที่มีลักษณะกึ่งวานรกึ่งมนุษย์อันจะเป็นตัวเชื่อมโยงช่วงการแปรสภาพ หลักฐานหรือโครงกระดูกที่ยังไม่อาจค้นพบ (the missing link) นี้ จึงเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายค้นหาเพื่อจะได้ประกอบทฤษฎีของดาร์วินให้ครบถ้วนสมบูรณ์

Caloneura dowsoni หนึ่งในฟอสซิลที่ชื่อวิทยาศาสตร์ลงท้ายด้วย ดอว์โซนิ

Caloneura dowsoni หนึ่งในฟอสซิลที่ชื่อวิทยาศาสตร์ลงท้ายด้วย ดอว์โซนิ


ดาร์วินเองชี้แจงยืนยันมนุษย์กับลิงไร้หาง (ape) นั้นสืบทอดมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกันแน่ๆ  แต่ผู้ไม่เห็นด้วยก็แย้งว่า งั้นทำไมจึงไม่มีซากฟอสซิลให้เห็นประจักษ์ตาเล่า   ฝ่ายสนับสนุนก็ตอบว่า มี...แต่ยังหาไม่เจอเท่านั้นแหละ

และแล้ว หลังกาลเวลาผ่านพ้นไป 50 ปี หลักฐานสำคัญนี้ก็มีการประกาศว่าได้ ค้นพบแล้วจนได้ โดยนายชาร์ลส์ ดอว์สัน (Charles Dawson) ชาวอังกฤษ ได้ขุดค้นพบชิ้นส่วนกระดูกและฟันของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะครึ่งมนุษย์ครึ่งลิง  บริเวณที่ขุดพบคือหลุมกรวดใกล้เมืองพิลท์ดาวน์ คอมมอน (Piltdown Common) ในมณฑลซัสเซกส์ตะวันออก (East Sussex) อังกฤษ

กรามมมุษย์ที่ถูกเสริมแต่งด้วยฟันลิงอุรังอุตัง.

กรามมมุษย์ที่ถูกเสริมแต่งด้วยฟันลิงอุรังอุตัง.


ดอว์สันมีอาชีพเป็นนักกฎหมาย  แต่สนใจในการเสาะหาและรวบรวมสะสมซากฟอสซิล ก่อนหน้าที่เขาจะค้นพบซากที่เรียกกันว่า “มนุษย์พิลท์ดาวน์” นั้น  เขาได้เคยค้นพบซากดึกดำบรรพ์แปลกๆมาแล้วหลายอย่าง อาทิ ซากสัตว์เลื้อยคลานยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoricreptile) รวมทั้งซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและฟอสซิลพืชโบราณ จนเขาได้รับสมญานามว่า “พ่อมดแห่งซัสเซกส์” (Wizard of Sussex) ผลงานแต่ ละชิ้นที่เขาพบนั้นจะมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ลงท้ายด้วยคำว่า “ดอว์โซนิ” (dowsoni) เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ค้นพบ และเช่นกัน มนุษย์พิลท์ดาวน์อันเป็นผลงานลำดับ 4 ของเขาก็ได้รับชื่อในต่อมาว่า Eoanthropus  dawsoni จุดมุ่งหมายที่ดอว์สันต้องการ ก็คือบรรดาศักดิ์พระราชทาน หรือเป็นท่านเซอร์ (Sir) นั่นเอง

ดอว์สันได้ส่งสิ่งต่างๆที่เขาขุดพบในหลุมดังกล่าว อันประกอบด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหิน ฟันและชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ที่มีความหนากว่าปกติ ไปให้เจ้าหน้าที่แห่งพิพิธภัณฑ์อังกฤษที่เขาติดต่อด้วยเป็นประจำ คือ ดร.อาร์เธอร์ สมิธ วูดวาร์ด (Arthur Smith Woodward) ก่อความตื่นเต้นแก่วูดวาร์ดจนติดตามดอว์สันไปดูบริเวณที่ขุดพบเป็นครั้งคราว เพราะนับเป็นครั้งแรกที่เพิ่งค้นพบของหลักฐานเชื่อมโยงที่ขาดหายไป

มนุษย์นีนเดอร์ธาล.

มนุษย์นีนเดอร์ธาล.


นอกจากวูดวาร์ดซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโนเบลไพรซ์แล้ว นักวิชาการดังๆของอังกฤษในยุคนั้น อาทิ อาร์เธอร์ คีธ (Arthur Keith), กราฟตัน เอลลิออต์ สมิธ (Grafton Elliot Smith) ต่างตื่นเต้นและยอมรับรองว่าซากดึกดำบรรพ์นั้นเป็นของแท้แน่นอน พร้อมกับร่วมกันสันนิษฐานความเป็นมาของฟอสซิลนั้น แล้วก็ขนานนามว่า “สตรีพิลท์ดาวน์”  (Piltdown Woman) ด้วยว่าชิ้นส่วนกระดูกชี้ชัดว่าเป็นผู้หญิง  นอกจากนี้ วูดวาร์ดยังกล่าวว่า จากความสึกกร่อนของฟันทำให้รู้ว่าเธอนั้นเป็นมังสวิรัติ กินแต่พืชผักผลไม้และที่สำคัญเธอเป็นใบ้-เนื่องจากไม่มีริ้วรอยบนกะโหลกที่เชื่อมต่อไปยังกล้ามเนื้อสำหรับออกเสียง

การวิเคราะห์ได้ลึกซึ้งถึงกึ๋นทำให้หลายคนเกิดความหมั่นไส้ ดังเช่น นสพ. “เดอะ เดลี เอ็กซเพรสส์” ได้เขียนเสียดสีกระแนะกระแหนว่า “เธอทำอาหารไม่เป็น เธอซักผ้าไม่ได้   ก่อไฟไม่ได้”

ชาร์ลส์ ดอว์สัน

ชาร์ลส์ ดอว์สัน


ใครจะว่ายังไง ดอว์สันก็ไม่แยแส ขอดังก็พอ โดยเฉพาะเมื่อ ดร.วูดวาร์ดในฐานะผู้บริหาร บริติชมิวเซียม ได้ตกลงใจให้เกียรติตั้งนามฟอสซิลนี้ว่า “อีโอนโธรปุส ดอโซนิ” ดังกล่าวแล้ว อีกทั้งโชคยังช่วยให้ดอว์สันขุดพบชิ้นส่วนฟันและกระดูก รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้จากหลุมกรวดเพิ่มเติมอีกหลายชิ้นในช่วง 3 ปีถัดมา กระทั่งปี 1915 เขาก็ขุดพบกะโหลกและฟันชุดที่ 2 ของมนุษย์พิลท์ดาวน์  ห่างจากหลุมเดิมไปราว 2 ไมล์ ซากกระดูกเหล่านี้มีสีคล้ำแสดงถึงอายุอันยาวนานนับหมื่นปี อีกหนึ่งปีถัดมา ปี 1916 ดอว์สัน
ก็เสียชีวิตในวัย 52 ปี

ทว่า เสียงเล่าลือคัดค้านการค้นพบของดอว์สันก็เริ่มมีขึ้นก่อนเขาตายแล้ว โดย ศ.เดวิด วอเตอร์สตัน (David Waterston) ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาแห่งคิง’ส คอลเลจ, ลอนดอน ได้ให้ความเห็นว่ากรามของมนุษย์พิลท์ดาวน์นั้น คล้ายคลึงกับกรามของลิงชิมแปนซีมาก ส่วนนักโบราณคดีวิทยาอเมริกัน นายวิลเลียม โฮเวลลส์ (William Howells) ก็เห็นเช่นเดียวกัน แถมยังมีข่าวเล่าลือว่า ในวันหนึ่งมีคนเข้าไปเยี่ยมเยือนห้องทำงานของดอว์สันโดยไม่ได้เคาะประตู เขาได้เห็นดอว์สันกำลังง่วนอยู่กับการแต่งแต้มสีลงบนชิ้นส่วนกระดูกและกะโหลก

อย่างไรก็ตาม นักวิทย์ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าหลักฐานเหล่านั้นเป็นของจริง และได้มีการปกปักรักษาชิ้นส่วนต่างๆ อย่างเข้ม งวด กันมิให้ใครเข้าไปยุ่มย่าม

กะโหลกมนุษย์พิลท์ดาวน์ในพิพิธภัณฑ์.

กะโหลกมนุษย์พิลท์ดาวน์ในพิพิธภัณฑ์.


กาลผ่านไปจน ถึงปี ค.ศ. 1949 ดร.เคนเน็ธ โอคลีย์ (Dr.Kenneth Oakley) นักธรณีวิทยาหนุ่มของบริติชมิวเซียม ได้รับอนุญาตให้ใช้เทคนิคใหม่ในการเอาชิ้นส่วนนิดๆของกระดูกไปทดสอบ ทั้งนี้ ถ้ากระดูกใดๆถูกฝังดินอยู่ช้านาน ก็จะดูดซึมเอาธาตุฟลูออไรด์เข้าไป ปริมาณฟลูออไรด์จะชี้บอกอายุของซากกระดูกนั้นได้อย่างแม่นยำ

ผลการทดสอบพบว่ากะโหลกและกรามเหล่านั้นมีอายุเพียง 50,000 ปี

รูปจำลองมนุษย์พิลท์ดาวน์ชาย.

รูปจำลองมนุษย์พิลท์ดาวน์ชาย.


จากทฤษฎีที่บ่งชี้ว่า มนุษย์ปัจจุบันหรือ Homo sapien กำเนิดช่วง 30,000-50,000 ปี โดย พัฒนามาจากมนุษย์นีนเดอร์ธาล  (Neanderthal) ที่มีชีวิตในช่วง 100,000 กว่าปี-50,000 ปีก่อน โน้น ส่วนช่วงแปรสภาพจากวานรเป็นมนุษย์ก็ควรเกิดล่วงหน้านีนเดอร์ธานไปอีกนับแสนปี แต่การที่พิสูจน์อายุของมนุษย์ พิลท์ดาวน์แล้ว พบว่าอยู่เพียงแค่ช่วงเดียวกับนีนเดอร์ธาล ทำให้ผู้รู้ทั้ง หลายตั้งข้อสงสัยขึ้นทันที

นักวิชาการที่ไขข้อสงสัยนี้ออกมาได้แก่ ดร.เจ.เอส. ไวเนอร์ (Dr. J.S. Weiner) แห่งมหา วิทยาลัยออกซฟอร์ด  เขาพยายามหาข้อสรุปว่าทำไมมนุษย์พิลท์ดาวน์จึงมีกะโหลกหนาผิดปกติ และฟันกรามคล้ายกับฟันลิง ครั้นแล้วก็ตรวจสอบพบว่าการที่ฟันมีร่องรอยสึกกร่อนจนแบนราบนั้นเป็นเพราะมันถูกตะไบ!

ฟันของมนุษย์พิลท์ดาวน์.

ฟันของมนุษย์พิลท์ดาวน์.


ดังนั้น ดร.ไวเนอร์จึงหาฟันของชิมแปนซีมาซี่หนึ่ง  แล้วเอามาตะไบจนเรียบ แล้วแต่งเติมสีคล้ำๆเข้าไป  ผลที่ได้คือฟันที่มีลักษณะเหมือนฟันมนุษย์พิลท์ดาวน์แทบไม่ผิดเพี้ยน

เพื่อสนับสนุนการสืบสวนของ ดร.ไวเนอร์ ดร.โอคลีย์จึงลงมือทดสอบอายุของฟันที่ได้มาจากดอว์สันอีกครั้งในปี 1953 แล้วก็สรุปออกมาได้ว่า แม้กะโหลกจะเป็นฟอสซิลแท้ที่มีอายุ 50,000 ปี แต่ฟันกรามนั้นถูกปลอมแปลงขึ้น เพราะสีคล้ำในเนื้อฟันมิได้เกิดจากการดูดซึมฟลูออไรด์มาช้านาน ทว่ามาจากแต่งแต้ม แท้จริงแล้วเป็นฟันของลิงอุรังอุตังที่มีชีวิตอยู่ในยุคใหม่นี้เอง และมันถูกตะไบเรียบร้อยก่อนจะนำมาลงสี

ใครคือตัวการที่ปลอมแปลงฟันเพื่อหลอก ลวงชาวโลก?

ทุกคนเพ่งเล็งไปยังดอว์สัน  เพราะเขาเป็นผู้ครอบครองฟอสซิลเหล่านี้   ประกอบกับมีความรู้แตกฉานในเรื่องโครงสร้างของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ แถมยังมีความสามารถในการใช้สารเคมีแต่งเติม สี และเมื่อเขาตายไปในปี 1916 นับจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดค้นพบชิ้นส่วนมนุษย์พิลท์ดาวน์อีกเลย แม้แต่ ดร.วูดวาร์ดผู้ให้ความสนับสนุนดอว์สัน และก็ยังคงสำรวจค้นหาฟอสซิลพิลท์ดาวน์ต่อไปอีกหลายปีหลังการตายของดอว์สัน

การขุดค้นที่เมืองพิลท์ดาวน์ คอมมอน.

การขุดค้นที่เมืองพิลท์ดาวน์ คอมมอน.


อีกคนหนึ่งซึ่งอาจเป็นตัวการปลอมแปลงก็คือ มาร์ติน ฮินตัน (Martin Hinton) ซึ่งภายหลังได้เป็นผู้ดูแลรักษาซากสัตว์ต่างๆในบริติชมิวเซียม โดยในปี 1975 ได้มีการพบหีบใบใหญ่บนห้องเพดานของพิพิธภัณฑ์ ภายในหีบบรรจุไว้ด้วยชิ้นส่วนกระดูกต่างๆที่มีการแต้มเติมสีไว้ในแบบเดียวกันกับกระดูกพิลท์ดาวน์ เชื่อกันว่าเป็นหีบของฮินตัน ทั้งนี้ผู้ที่ทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์เปิดเผยว่า วูดวาร์ดเคยปฏิเสธไม่ยอมรับฮินตันเข้ามาทำงานในพิพิธภัณฑ์ ฮินตันจึงแกล้งสร้างหลักฐานปลอมแปลงเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อแหกตาวูดวาร์ด และทำให้เขาเสียหน้า ทว่าผลของการแหกตาได้ไปไกลสุดกู่เกินกว่าที่เขาคาดคิด

แต่ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของใครก็ตาม ผลงาน ของเขาสามารถตบตาได้แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยมที่สุดของยุคนั้นถึง 3 คน ได้แก่ วูดวาร์ด, คีธ และสมิธ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบก็คือ นักวิทย์อังกฤษทั้งหลายมีความรู้สึกต้อยต่ำที่มิได้มีส่วนร่วมในการค้นพบหลักฐานมนุษย์ดึกดำบรรพ์ดังชาติอื่น อาทิ เยอรมันได้ค้นพบมนุษย์นีนเดอร์ชาลในปี 1856 ฝรั่งเศสค้นพบมนุษย์โครมันยอง (Cro-Magnon) ในปี 1868 ด้วยเหตุนี้พอมีโอกาสมีส่วนร่วมในการค้นพบครั้งสำคัญนี้ ความภาคภูมิใจจึงได้ปิดบังสายตาของเหล่านักวิทย์อังกฤษ จนไม่ทันสังเกตเห็นร่องรอยแห่งการตะไบหรือการตกแต่งสี

ส่งผลให้หน้าแตกเย็บไม่ติดโดยถ้วนหน้ากัน.

ทีมงานนิตยสาร ต่วยตูน



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.