ชนบทระทม! รัฐเล็งรีดขนห่าน ครม.สั่ง อปท.ขอภาษีท้องถิ่นเพิ่ม 8.5 พัน ล.
 


ชนบทระทม! รัฐเล็งรีดขนห่าน ครม.สั่ง อปท.ขอภาษีท้องถิ่นเพิ่ม 8.5 พัน ล.


ชนบทระทม! รัฐเล็งรีดขนห่าน ครม.สั่ง อปท.ขอภาษีท้องถิ่นเพิ่ม 8.5 พัน ล.

งบปี 59 ผ่าน ครม. 2.72 ล้านล้านบาท บีบ “องค์กรปกครองท้องถิ่น” รีดเลือดกับปู สั่งใช้เกณฑ์ประเมินราคาที่ดินใหม่เก็บภาษีท้องถิ่นเพิ่มให้ได้ 8,540 ล้านบาท หวังลดภาระงบประมาณส่วนกลาง “ปรีดิยาธร” จับมือ “สมหมาย” หนุนเต็มที่กลาง ครม. ชี้รัฐบาลนี้ไม่มีนักการเมือง จึงไม่ต้องสนฐานเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 เม.ย.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ครม.ได้เห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้หลักเกณฑ์ประเมินราคาที่ดิน ตามที่กรมที่ดินได้จัดทำราคาประเมินใหม่ในช่วงต้นปี 2558 มาใช้เพื่อให้เก็บภาษีท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น หลังจากที่ใช้เกณฑ์ประเมินราคาที่ดินฉบับเดิม ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2520-2524 ซึ่งเมื่อใช้หลักเกณฑ์ประเมินราคา ที่ดินใหม่จะทำให้ อปท.เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นวงเงิน 8,540 ล้านบาท จากปัจจุบันเก็บภาษีท้องถิ่นได้ 60,000 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 70,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม.ทางสำนักงบประมาณได้เสนอในที่ประชุมโดยใช้คำว่า ให้กระทรวงมหาด ไทยกำกับดูแลให้ อปท.เร่งรัดการจัดเก็บรายได้ให้มีฐานภาษีครบถ้วนและทบทวนอัตราจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ขอเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ โดยให้ระบุว่า ให้ อปท.จัดเก็บภาษีให้มีสัดส่วนสูงกว่าปี 2558 เพื่อไม่ให้เป็นภาระรัฐบาลมากนัก เพื่อจะได้เอาเงินงบประมาณไปสนับสนุนเรื่องอื่นแทน โดยงบประมาณที่รัฐบาลลดการอุดหนุนท้องถิ่นลง 8,540 ล้านบาทนี้ จะโอนมาอยู่ในส่วนของงบกลางไว้ก่อนแทน ซึ่งแนวทางดังกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ให้การสนับสนุนในที่ประชุม ครม.

“สาเหตุที่ทาง อปท.ไม่นำเกณฑ์ประเมินราคาที่ดินใหม่มาใช้เพื่อให้เก็บภาษีโรงเรือนเพิ่มขึ้น เนื่องจาก อปท.เกรงว่าจะกระทบกับฐานเสียง และที่ผ่านมานักการเมืองไม่ต้องการให้ใช้เกณฑ์ประเมินที่ดินใหม่ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องฐานเสียง จึงผลักดันให้ใช้เกณฑ์ประเมินราคาที่ดินในปัจจุบันแทน”

ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ที่ ครม.เห็นชอบมีดังนี้คือ กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.72 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 390,000 ล้านบาท รายได้สุทธิ 2.33 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบรายจ่ายประจำ 2,100,836.3 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 77.2% ของงบประมาณ เพิ่มขึ้น 72,977.5 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 2558 หรือเพิ่มขึ้น 3.6% สำหรับรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังมีวงเงิน 13,536.1 ล้านบาท ลดลง 28,429.3 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายเพื่อการลงทุนมีวงเงิน 543,635.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94,160.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.9% คิดเป็นสัดส่วน 20% ของงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้อยู่ที่ 61,991.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,291.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.3%

โดยมีกรอบวงเงินกู้สูงสุดเพื่อชดเชยการขาดดุลตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 593,593.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34,033.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.1% มีสมมติฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 13,359,400 ล้านบาท ขยายตัว 4% อัตราเงินเฟ้อ 1.8% หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือ กระทรวงศึกษาธิการวงเงิน 520,132.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,806 ล้านบาท รองลงไปเป็นงบกลางที่รัฐบาลจัดสรรไว้เป็นวงเงิน 402,139.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,431.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% สาเหตุที่งบกลางเพิ่มขึ้นมากเป็นเพราะมีการปรับเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการใหม่ซึ่งต้องเพิ่มงบส่วนนี้อีก 17,000 ล้านบาท

“ขณะเดียวกัน ให้ทุกส่วนราชการเตรียมการในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับงบรายจ่ายปี 2559 เพื่อให้สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ ทันทีที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2559 มีผลบังคับใช้ โดยงบเพื่อการลงทุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ โดยให้มีความพร้อมทั้งการประมาณราคา สถานที่ก่อสร้าง การเสนอแผนปฏิบัติงานในการจัดซื้อจัดจ้างว่าจะทำสัญญาได้เมื่อใด ในไตรมาสไหน โดยเน้นให้ทำสัญญาได้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 เป็นหลัก”



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.