อนุรักษ์ทะเลสาบสงขลา เพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำอินทรีย์
 


อนุรักษ์ทะเลสาบสงขลา เพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำอินทรีย์


อนุรักษ์ทะเลสาบสงขลา เพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำอินทรีย์

“ดีเปรสชันขึ้นฝั่ง ถล่มชุมชนโดยรอบทะเลสาบสงขลา บ้านเรือน เรือ เครื่องมือประมงเสียหายอย่างหนัก ชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้าน”

สุภาภรณ์ พรรณราย ผู้นำชุมชนบ้านช่องฟืน ต.ปากพะยูน อ.เกาะหมาก จ.พัทลุง เล่าถึงเหตุการณ์ 2 พ.ย.53 แต่ด้วยชุมชนแห่งนี้มีการรวมกลุ่มประชุมหารือกันบ่อยอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ การพูดคุยเพื่อช่วยเหลือกันเองยิ่งมีมากขึ้น ตามประสาคนหัวอกเดียวกัน...การกู้วิกฤติเพื่อรื้อฟื้นอาชีพให้กลับคืนมาเพื่อปากท้องของคนในชุมชน จึงเกิดขึ้น

“เราเริ่มกันตั้งแต่สำรวจเครื่องมือประมงเสียหาย ช่วยกันซ่อมแซมเรือและเครื่องมือประมง รวมถึงสร้างอู่ซ่อมเรือที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิเอสซีจี เมื่อเครื่องมือหากินเข้าที่เข้าทาง แต่ สัตว์น้ำในทะเลสาบมีไม่เพียงพอ เพราะตอนนั้นต่างคนต่างแย่งกันจับ ทั้งที่สัตว์น้ำมีน้อยอยู่แล้ว มีการนำเครื่องมือสารพัดชนิดมาใช้ไม่บันยะบันยัง ทั้งยาเบื่อ อวนลาก อวนรุน และอวนตาถี่ เลยทำให้การทำมาหากินยิ่งยากลำบากมากขึ้น”

ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ชุมชนมีความเห็นร่วมกัน ต้องกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ...ร่วมมือกับกรมประมงออกกฎระเบียบ ห้ามใช้เครื่องมือทำลายล้าง ออกกฎข้อห้ามไม่ให้ ทำประมงที่ผิดกฎหมาย

ส่วนการอนุรักษ์เพื่อเพิ่มประชากรกุ้งและปู หากจับแม่กุ้งหรือแม่ปูชาวประมงจะต้องยอมตัดอวน ปล่อยให้แม่กุ้ง-แม่ปูวางไข่ รวมทั้งการจัดทำธนาคารกุ้งไข่เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทะเลสาบ...ผลจากการร่วมมือร่วมใจ เคารพกฎระเบียบที่ออกมา ชั่วเวลาแค่ 3 ปี ความสมบูรณ์จึงกลับคืนมา มีปูปลา ให้จับกิน จับขาย ไม่ขัดสน

แต่กระนั้นกุ้งปูปลาที่จับได้ ราคาไม่ดีนัก เพราะพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบอยู่ร่ำไป บังเอิญห้วงเวลาปี 2556 สหภาพยุโรป (European Union) ทราบปัญหาของชาวบ้านที่นี่ จึงให้ทุนมูลนิธิสายใยแผ่นดิน เข้ามาช่วยชาวบ้านทำการตลาดสินค้าประมงใหม่... ด้วยโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์

“มูลนิธิฯมาแนะนำให้เราตั้งแพปลาชุมชน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและรับซื้อสัตว์น้ำจากสมาชิกในราคายุติธรรม แล้วนำไปจำหน่ายเอง โดยไม่ต้องให้พ่อค้าคนกลางมากดราคาอีกต่อไป อย่างก่อนหน้านี้ ปลาทูเราขายให้พ่อค้าได้แค่ กก.ละ 30 บาท พอมาขายเองได้ราคา กก.ละ 100 บาท เงินที่ได้แบ่งเป็นค่าปลาให้ชาวประมง 50 บาท อีก 30 บาทเป็นค่าขนส่ง และอีก 20 บาท เป็นเงินกองกลางค่าบริหารจัดการของแพปลาชุมชน”

ไม่เพียงแต่ปลาทู กุ้งก้ามกราม ปลาดุกทะเล ปลาช่อน ปลาขี้เกะหรือปลาบุตรี เดิมขายได้ไม่กี่บาท วันนี้ได้ราคาเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ยิ่งนำมาแปรรูปเป็นสัตว์น้ำอินทรีย์ปลอดสารเคมี ปลาขี้เกะ กก.ละ 20 บาท ทำเป็นปลาแดดเดียว ขายได้ 180-200 บาท... สนใจ สัตว์น้ำอินทรีย์จากประมงพื้นบ้านช่องฟืน ไปได้ที่ Bangkok Farmer’s Market ซอยสุขุมวิท 26 หรือสั่งซื้อทาง Facebook : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.