ยัน"กรมภาษี"ไม่คิดพรากจากอก"คลัง"
 


ยัน"กรมภาษี"ไม่คิดพรากจากอก"คลัง"


ยัน

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวภายหลังเข้าร่วมชี้แจงกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถึงแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังศึกษาการลดหย่อนภาษีหลายรายการ เพราะปัจจุบันมีการลดหย่อนกว่า 20 รายการ เช่น เบี้ยประกันชีวิต, การซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และการกำหนดค่าใช้จ่ายคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งขณะนี้คนมีรายได้ 150,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี เท่ากับผู้มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือนไม่ต้องเสียภาษี จึงจำเป็นต้องศึกษาค่าลดหย่อนต่างๆ ให้เป็นจริงมากที่สุด เพราะปัจจุบันมีการหักค่าลดหย่อนมากเกินไป

ส่วนข้อเสนอแยกหน่วยงานจัดเก็บภาษีเป็นอิสระ ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต เหมือนในต่างประเทศ มองว่าเป็นโครงสร้างที่ดีลดการแทรกแซงทางการเมือง แต่สภาพของไทยยังไม่เหมาะ เหมือนกับนำรถหรูมาครอบไว้ในรถตุ๊กตุ๊ก จึงควรรอไว้อีกระยะ แต่เห็นด้วยกับข้อที่จะกำหนดร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี แม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี เพราะจะช่วยให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูล และสามารถออกมาตรการช่วยเหลือให้กับผู้มีรายได้น้อย และเห็นด้วยกับแนวทางการแยกฐานจัดเก็บภาษีในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สิ่งที่กังวลคือ การแยกงบประมาณประจำปีออกมาเป็น 2 ขา คือ ขารายรับ และรายจ่าย เพราะนอกจากต้องกำหนด พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว ยังต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.รายรับและกำหนดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีในร่างงบประมาณประจำปีด้วย ซึ่งอาจจะกระทบต่อการกู้เงินในโครงการด้านสังคม เช่น สวนสัตว์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ เพราะโครงการเหล่านี้ไม่มีผลชี้วัดทางด้านเม็ดเงิน แต่ได้ประโยชน์ในเรื่องความรู้ รวมถึงการสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ เพราะต้องดูแลควบคุมค่าโดยสารไม่ให้แพงเกินไปแต่เป็นประโยชน์ต่อการเดินทางของประชาชน”



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.