รายได้เกษตรกรไม่พอยาไส้ "ปีติพงศ์"ชงแผนยกหนี้4.5พันล้านกู้ชีวิต
 


รายได้เกษตรกรไม่พอยาไส้ "ปีติพงศ์"ชงแผนยกหนี้4.5พันล้านกู้ชีวิต


รายได้เกษตรกรไม่พอยาไส้

“ปีติพงศ์” เผยรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรไทยเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายเพิ่มเป็นเงาตามตัว ทำให้เงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้เกษตรกรน้อยสุดในรอบ 6 ปี เตรียมชง 6 มาตรการช่วยเหลือให้ ครม. เศรษฐกิจ 30 มี.ค.นี้ แย้มยกหนี้ให้เกษตรกร 4,500 ล้านบาท ได้เห็นเร็วๆนี้ ด้าน “สศก.” รายงานผลผลิตสินค้าเกษตรไตรมาส 1 หดวูบ 1.5% เหตุภัยแล้งถล่ม ด้าน “ธปท.” มองต่างมุม ชี้รายได้ภาคเกษตรหด 10% แต่ผลผลิตพุ่ง

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ครบรอบปีที่ 36 ว่า สศก.ได้ประเมินรายได้เกษตรกรปีการผลิต 2557/58 ณ วันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ารายได้เงินสดในภาค เกษตรของเกษตรกรอยู่ที่ 152,470 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อนับรายได้นอกภาคการเกษตรที่ภาครัฐอัดฉีดงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการชดเชยรายได้ชาวนาและชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท และการจ้างงานในฤดูแล้งแล้ว พบว่ารายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 6%

ส่วนด้านรายจ่ายของเกษตรกรพบว่า รายจ่ายเงินสดครัวเรือนภาคเกษตรอยู่ที่ 105,537 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.8% เช่นเดียวกับสัดส่วนรายจ่ายนอกภาคเกษตรก็ยังเพิ่มขึ้น 4.9% สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่เมื่อคำนวณเงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้ของเกษตรกรพบว่าอยู่ที่ 39,070 บาทต่อครัวเรือน น้อยกว่าเงินคงเหลือในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา โดยในปีการผลิต 2551/52 อยู่ที่ 45,019 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้น รัฐบาลยังต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรให้ต่อเนื่อง

นายปีติพงศ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯจะเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรในระยะที่ 3 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจในวันที่ 30 มี.ค.นี้ พิจารณา ซึ่งประกอบด้วย 6 แผนงานหลัก บางแผนงานอาจมีการเสนอขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม ส่วนบางแผนงานเป็นเพียงการปรับระบบบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ได้ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในส่วนของแผนงานทั้ง 6 ประกอบด้วย 1.แผนปรับโครงสร้างการผลิต เนื่องจากใกล้ระยะเวลาเพาะปลูกของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพด 2.การเพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตร

3.การจัดการหนี้สินเกษตรกร 2 ส่วน ส่วนแรก หนี้สินของเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแล รวมประมาณ 4,500 ล้านบาท จะมีความชัดเจนในการยกหนี้ให้เร็วๆนี้ ส่วนที่สอง หนี้ครัวเรือนสะสม ต้องดูว่ารายได้ เงินรายได้สุทธิเกษตรกร จะพอเพียงจ่ายหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่จะแบ่งจ่ายปีนี้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้หนี้สินเพิ่มขึ้น

4.การจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กับน้ำ โดยการจัดที่ดินทำกินที่ได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเร่งรัดการตรวจสอบการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ก็จะมีผลการดำเนินงานเข้าสู่ที่ประชุม คกก.ปฏิรูปที่ดินฯ ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ 5. การจัดการเรื่องบริหารคุณภาพสินค้า และ 6.การพัฒนาข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรให้ถูกต้องแม่นยำ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2558 ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัว 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ซึ่งปัจจัยลบที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัวในไตรมาสนี้ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 คาดว่า ปริมาณผลผลิตจะหดตัวอยู่ในช่วง 0.8-1.8% โดยกลุ่มสินค้าที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา ลำไย มังคุด และเงาะ และสาขาบริการทางการเกษตร โดยผลผลิตทางการเกษตรในช่วงปี 2558 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือน พ.ค.2558

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ผลผลิตภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวหลังจากชะลอตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐใช้มาตรการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อพยุงราคา ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง และผลผลิตกุ้งยังเพิ่มขึ้นด้วย แต่ทั้งหมดนี้ไม่สามารถชดเชยราคายางพาราที่ยังอยู่ระดับต่ำ ทำให้รายได้ภาคเกษตรโดยรวมยังลดลง



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.