ปราปต์ บุนปาน : การเมืองเรื่อง "เสื้อ"
 


ปราปต์ บุนปาน : การเมืองเรื่อง "เสื้อ"


 ปราปต์ บุนปาน : การเมืองเรื่อง

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12



ชวนขบคิดไม่น้อย สำหรับคำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรี ที่อุปมาความแตกต่างระหว่าง "โลกตะวันตก"Ž กับ "ตะวันออก"Ž และความแตกต่างระหว่าง "สหรัฐ"Ž กับ "ไทย"Ž ผ่านสัญลักษณ์อย่าง "เสื้อŽ "

ผู้นำไทยฝากบอกไปยังรัฐบาลสหรัฐว่า อย่าตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งโลกใส่ เพราะแต่ละประเทศมีปัญหาไม่เหมือนกัน เปรียบได้กับเสื้อที่ต้องมีหลายขนาด

ขออนุญาตคิดต่อจากท่านนายกฯ ด้วยการตั้งข้อสังเกต 3 ประการ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ไม่ว่าจะสวมเสื้อไซซ์ไทย ไซซ์สหรัฐ ไม่ว่าจะใส่เสื้อรูปแบบไหน ลวดลายใด

หรือต่อให้คิดเชื่อว่าตนเองกำลังสวมเสื้อ ตามเสียงยกยอของคนรอบข้าง ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีอาภรณ์ใดๆ มาปกคลุมร่างกายเอาไว้เลย

ถ้าคิดตามท่านนายกฯ ก็หมายความว่า มนุษย์โลกยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องสวมเสื้อ

เพราะมนุษย์ไม่สามารถดำรงตนอย่างเปลือยเปล่า ใกล้เคียงกับสภาวะทางธรรมชาติดั้งเดิมได้อีกต่อไป เมื่อสังคมของพวกเขาพัฒนาขึ้น จนเต็มไปด้วยปัญหาอันสลับซับซ้อน ตลอดจนผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันอย่างหลากหลาย มหาศาล

จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการสร้าง "กลไก"Ž บางอย่าง ขึ้นมาอำนวยความเป็นธรรม และแก้ไขข้อพิพาทขัดแย้งดังกล่าว "กลไก"Ž ที่ว่านั้น อาจเปรียบเสมือน "เสื้อ"Ž ก็เป็นได้

สอง "การเมืองเรื่องเสื้อ"Ž จึงกอปรขึ้นมาจากทั้ง "ความเหมือน"Ž และ "ความต่างŽ"

กล่าวคือ เราทุกคนต่างต้องสวมเสื้อเช่นเดียวกัน ทว่า รูปแบบหรือขนาดของเสื้ออาจผิดแผกแตกต่างกันไป

"ความเหมือน"Ž และ "ความต่าง"Ž ตรงจุดนี้ สามารถตีความได้อย่างไรบ้าง?

อาจตีความได้ว่า เราจำเป็นต้องมีรูปแบบการปกครองอะไรสักอย่างมาควบคุมจัดการสังคมมนุษย์ โดยที่อาจเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ได้แล้วแต่กรณี

หรืออาจตีความได้ว่า มนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ต่างต้องการระบอบประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญ รวมทั้งรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน และเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คน เหมือนๆ กัน

โดยอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น รูปแบบของสถาบันการเมือง ฯลฯ แต่ต้องไม่ทำลายหลักการประชาธิปไตยเบื้องต้น

ไม่แน่ใจว่า เวลามีการพูดถึง "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ"Ž นั้น ผู้พูดคิดถึงการตีความในแบบหลังหรือแบบแรกมากกว่ากัน?

สาม ท่านนายกฯ กล่าวได้ถูกต้อง ในประเด็นที่ว่าไทยกับสหรัฐไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อขนาดเดียวกัน

แม้โดยหลักการแล้ว ไทยกับสหรัฐต้องใส่เสื้อเหมือนกัน แต่รายละเอียดเฉพาะของเสื้อก็ไม่

จำเป็นต้องสอดคล้องเป็นพิมพ์เดียวกัน และอาจแปรผันไปได้ตามบริบทสังคมที่ต่างกัน

น่าตั้งคำถามต่อยอดจากแง่คิดของท่านนายกฯ ได้อีกว่า แล้ว "เสื้อ"Ž ที่ คสช. ครม. สนช. สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังออกแบบกันอยู่ กับ "เสื้อ"Ž ที่คนไทยจำนวนมากอยากใส่นั้น

เป็น "เสื้อ"Ž ตัวเดียวกันหรือไม่?

น่าตั้งคำถามเพิ่มเติมด้วยว่า "แม่น้ำห้าสาย"Ž คิดว่าใครคือผู้ที่จะสวมใส่ "เสื้อตัวใหม่Ž" ซึ่งพวกเขากำลังร่วมกันประกอบสร้างขึ้นมา?

ผู้สวมใส่ คือ ประเทศไทยทั้งประเทศที่เปรียบได้กับเรือนร่างของมนุษย์คนหนึ่ง โดยมี "แม่น้ำห้าสาย"Ž เป็นอวัยวะสำคัญๆ ที่ควบคุมระบบการทำงานของร่างกายดังกล่าวเอาไว้

ส่วนคนไทยรายอื่นๆ มีสถานะเป็นดังอวัยวะย่อยๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อร่างกายลดหลั่นกันลงไป และพึงปฏิบัติหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ของตน ตามคำสั่งควบคุมของอวัยวะหลัก

เมื่ออวัยวะหลักเห็นว่าเสื้อตัวหนึ่งมีความเหมาะสมกับร่างกาย อวัยวะรองอื่นๆ ก็จำใจต้องสอดใส่ตนเองเข้าไปในเสื้อตัวนั้นด้วย

หรือมองว่า ผู้สวมใส่มีจำนวนมากมายกว่า 60 ล้านคน โดยทั้งหมดล้วนเป็นปัจเจกบุคคล ที่มีอัตวินิจฉัยในเรื่องต่างๆ เป็นของตนเอง

พิจารณาในแง่นี้ จึงไม่ใช่แค่ไทยกับสหรัฐเท่านั้น ที่ใส่เสื้อต่างกัน

แม้แต่ภายในสังคมไทยเอง ผู้มีอำนาจปกครองกับผู้ถูกปกครอง ก็อาจมีรสนิยมในการเลือกเสื้อมาสวมใส่ไม่เหมือนกัน

 


 


(ที่มา:มติชนรายวัน 16 มีนาคม 2558)




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.