สารัตถะการเมือง ที่คสช.มิควรมองข้าม โดย ไพรัช วรปาณิ
 


สารัตถะการเมือง ที่คสช.มิควรมองข้าม โดย ไพรัช วรปาณิ


 สารัตถะการเมือง ที่คสช.มิควรมองข้าม โดย ไพรัช วรปาณิ




คํ่าวันก่อน ผู้เขียนได้ไปร่วมงานพิธีสวดศพคุณแม่ของ พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ เผอิญเจอกับคนดังท่านหนึ่ง "อุทัย พิมพ์ใจชน" อดีตประธานรัฐสภา รัฐมนตรีหลายกระทรวง ส.ส. และผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลยุติธรรมจากมูลนิธิอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ปี 2543 ทั้งเป็นผู้มีบทบาทยกร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ทว่าปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นราษฎร "เดินดิน" เต็มขั้น แต่ก็ยังไม่ยอมละทิ้ง "อุดมการณ์" และความสนใจเกี่ยวกับการบ้านการเมืองด้วยความห่วงใย ตามอุปนิสัยดั้งเดิมตั้งแต่วัยหนุ่ม

หลังพระสวดเสร็จ "พี่อุทัย" ได้อุตส่าห์สั่งลูกน้องไปเอา paper ปึกหนึ่งจากรถ แล้วมอบให้แก่ผู้เขียนระหว่างสนทนา พร้อมกำชับว่าอ่านแล้วช่วยวิเคราะห์วิจารณ์ด้วย

ผู้เขียน ซึ่งเป็นแฟนเก่าเคยร่วมทานข้าวเที่ยงคุยเฟื่องเรื่องบ้านเมืองอยู่บ่อยครั้งสมัยท่านเป็นประธานรัฐสภา จึงต้องรีบเปิดอ่านโดยพลัน ปรากฏว่าเป็นสำเนาจดหมายแสดงความคิดเห็นและข้อท้วงติงด้วยประสบการณ์ "คร่ำหวอด" ทางการเมือง ซึ่งได้ส่งไปยังคณะ คสช.แล้วก่อนหน้านี้

Content ในจดหมายเมื่ออ่านแล้ว จะเห็นได้ว่ามีสัญเจตนาที่ห่วงใยบ้านเมือง อันเต็มไปด้วยสาระเหตุผลที่ทรงคุณค่าแก่การรับฟัง จึงอดไม่ได้ที่จะรีบกล่อมเกลาให้สั้น กะทัดรัด แต่คงสารัตถะไว้ครบถ้วน...เพื่อแฟนๆ มติชนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยดังนี้...



ข้อแรก...ควรเห็นความสำคัญการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะประเทศที่เจริญล้วนผ่านการปกครองระบบนี้มาก่อนทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรวางแนวทางปฏิรูปประเทศในแง่ของการเมืองให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อย่าสงสัยราษฎรว่ายังไม่มีความพร้อม คนที่ไม่พร้อมก็มีแต่กลุ่มคนรวย ข้าราชการชั้นสูง และดอกเตอร์เท่านั้น! เนื่องเพราะพวกเขามีความเป็นอยู่สุขสบายแล้วนั่นเอง ไม่อยากได้ยินเสียงราษฎรบ่นลำบาก แต่หากมองว่าเสียงเหล่านั้นเป็นเสียงนกเสียงกา หรือมองว่าเป็นมือที่ 3 มายุยงก็ไม่ตรงข้อเท็จจริง เพราะเขาเหล่านั้นมาร้องมาพูดก็เพื่อต้องการใช้ความเป็นประชาธิปไตยแก้ไขความลำบากยากจน แต่กลับกลายเป็นความรำคาญของคนรวยและผู้มีอำนาจวาสนาไปโดยไม่ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม ท่านอุทัยยอมรับและเข้าใจเหตุผลการปฏิวัติในครั้งนี้ คือ ปัจจัยมาจากความแตกแยก ซึ่งอาจเกิดการรบราฆ่าฟันกันได้ แต่เมื่อยึดติดอำนาจแล้วหากไม่ทำอย่างที่แนะนำข้างต้น ความแตกแยกก็จะซึมลึกยากเกินการแก้ไข แล้วในที่สุด "จะเอาไม่อยู่" ซึ่งประวัติศาสตร์มีให้เห็นมาแล้ว...จึงอย่าดูถูกประชาชน!

สำหรับประเด็นที่ คสช.เป็นห่วงว่า ถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว เข้ามาทำไม่ดีกับประเทศชาติ ท่านอุทัยบอกว่าไม่น่าห่วง เพราะถ้าทำไม่ดีท้ายสุดก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี ไม่ว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งก็ไม่สามารถอยู่ได้ แล้วท่าน (คณะ คสช.) จะกลัวอะไรกับการเลือกตั้ง?

ฉะนั้น อย่าไปเชื่อคำประจบสอพลอที่ว่า "ท่านอยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว อย่าเพิ่งเลือกตั้งเลย" หากเชื่อคำพูดจากบุคคลเหล่านี้ ก็เตรียมเผชิญกับความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นไว้ให้ดี เพราะประชาชนไม่ยอมแน่!

การที่ประเทศมีความสงบระดับหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าเพราะท่าน (คสช.) ประกาศว่าจะเดินตาม "โรดแมป" อันเป็นเหมือนสัญญาประชาคม และเป็นที่รับรู้ของคู่ขัดแย้งในชาติ รวมถึงต่างประเทศด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศเราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ การสู้รบในอดีตเป็นรูปแบบใช้อาวุธ แต่ปัจจุบันเป็นการสู้รบทางเศรษฐกิจการค้า ดังนั้นจึงต้องระวังให้ดี "กดหัวคนไทยได้" แต่จะกดหัวต่างชาติได้หรือ?"

ในอีกตอนหนึ่ง ท่านยังได้กล่าวถึงเป็นเรื่องของการปฏิรูปสังคมว่า...ขณะนี้ยาบ้าระบาดไปทั่วประเทศ ไม่เว้นกระทั่งพระสงฆ์และเยาวชน เป็นการทำลายสังคมอย่างน่าใจหาย ทำลายเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์อย่างชัดแจ้ง การจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่ๆ จำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่ามีผู้เสพติดเพิ่มมากขึ้น มีนักโทษคดียาเสพติดกว่า 60% จากจำนวนนักโทษทั้งหมด จนกรมราชทัณฑ์ถึงกับต้องของบประมาณสร้างเรือนจำเพิ่มเป็นเงินถึง 30,000 ล้านบาท และเมื่อเรือนจำเสร็จจะต้องใช้งบในการเลี้ยงดูอีกปีละเท่าใด?

ฉะนั้น วิธีแก้ไขยับยั้ง คือ ตัดไฟต้นลม กำหนดโทษให้ประหารชีวิตสถานเดียว! และยกเลิกมาตรการลดหย่อนโทษหรืออภัยโทษอีกด้วย จึงจะได้ผล



อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นด้วย เพราะได้ทราบว่าประเทศอินเดียได้ออกกฎหมายในทำนองนี้มาแล้ว นั่นคือ...การยกเลิกกฎหมายความผิดผู้ให้สินบน

ปัญหาคอร์รัปชั่นที่เป็นมะเร็งร้ายเกาะกินประเทศ ทางแก้ปัญหานี้คือ ให้ยกเลิกเอาโทษผู้ให้สินบนเพื่อเขาจะได้กล้าชี้ตัว กล้าแจ้งความเอาผิดกับผู้รับสินบน ซึ่งมาตรการนี้เคยมีทหารระดับพลเอกที่เป็นรัฐมนตรีต้องโทษและตายคาคุกมาแล้ว เพราะกันผู้ให้ไว้เป็นพยานในคดี ปัจจุบันการคอร์รัปชั่นระบาดทั่วทุกหัวระแหงทุกระดับ แต่ไม่มีใครกล้าแจ้งความ เพราะจะมีโทษด้วยและเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง หากมีการพิสูจน์ได้ว่าผู้นั้นแจ้งเพื่อการกลั่นแกล้ง จะต้องรับโทษอย่างหนักสถานเดียว

โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจพื้นฐาน ท่านอุทัยได้เน้นให้เห็นว่าฐานะของผู้คนระดับรากหญ้านั้น ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นลำดับต้นๆ มีการโฆษณาให้ชาวต่างชาติมาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จึงควรกำหนดโทษผู้ที่ประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ต้องรับโทษ 2 เท่าของโทษที่มีต่อคนไทยด้วยกัน โดยการประกาศให้ทั่วโลกได้รับทราบเพื่อสร้างความมั่นใจอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ท่านอุทัยได้ระบุว่าต้องมีการเลือกตั้งในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และให้มีวาระดำรงตำแหน่งเป็นเทอม ไม่เกินคนละ 2 เทอมติดต่อกัน

ตอนท้ายท่านได้ขอร้องให้ใช้อำนาจรีบลงมือทำในเรื่องที่น่าจะทำ คือ... "การปฏิรูปในเรื่องอื่นๆ ทำเสร็จได้ ก็ถือเป็นเรื่องดี ถ้าไม่เสร็จ ก็ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะเข้ามาบริหารประเทศดำเนินการต่อไป"

"อย่าผูกขาดความรักประเทศไว้แต่เพียงผู้เดียวหรือคณะเดียว" จงทำอย่างประเทศประชาธิปไตยที่เขาทำกัน อย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ความวุ่นวายในประเทศเบาบางลง ส่วนที่จะทำให้ประเทศสงบเรียบร้อย 100% นั้น อย่าฝันเลย เสียเวลาเปล่าๆ!



สรุปข้อเสนอท่านอุทัย ได้เสนอแนะให้ผู้นำใช้อำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีอยู่ในมือหยิบยกเอาจากรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่ดีที่สุด นำมาแก้ไขบางส่วน แล้วประกาศใช้ให้มีการเลือกตั้งทันทีตาม "โรดแมป" ที่วางไว้ ความปรองดองสามัคคีจึงจะเกิดขึ้นอย่างถาวร

พิเคราะห์ content ใน จ.ม.น้อยนี้ แล้วจะเห็นว่าเป็นข้อเสนอทางเลือกด้วยเจตนาที่ดี ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติจากประสบการณ์ทางการเมืองอย่างคร่ำหวอดที่มิควรมองข้าม!

อย่างไรก็ดีนั้นเป็นโจทก์ที่คณะ คสช.อันควรแก่การใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พิจารณากลั่นกรองด้วยเหตุและผล ถึงประเด็นปัญหาความปรองดองของคนในชาติด้วยวิธีการแก้วิกฤตที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นผลให้บรรลุเป้าหมายในที่สุด เพื่อเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นพ้องกับข้อคิดอันแหลมคมของท่านอุทัย ซึ่งสารัตถะการเมืองที่ผู้นำประเทศควรแก่การหยิบยกขึ้นมาพิเคราะห์พิจารณา เพราะแต่ละประเด็นที่กล่าวนั้นล้วนแต่มาจากประสบการณ์ทางการเมืองที่มีคุณค่าทั้งสิ้น

ผู้นำรัฐบาลและหัวหน้าคณะ คสช.เคยกล่าวว่าเป็น "ทหารประชาธิปไตย" เช่นกัน ย่อมมองเห็นความสำคัญของเรื่อง "ประชาธิปไตย" ว่ามีผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลและบ้านเมืองเพียงใด?

 

 

ไพรัช วรปาณิ
กรรมการอัยการ

 

 



 

(ที่มา:มติชนรายวัน 16 มีนาคม 2558)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.