ผู้ตรวจฯเสนอร่างกม.ปฏิรูปการศึกษา13ฉบับ
 


ผู้ตรวจฯเสนอร่างกม.ปฏิรูปการศึกษา13ฉบับ


ผู้ตรวจฯเสนอร่างกม.ปฏิรูปการศึกษา13ฉบับ
เมื่อ วันที่ 13 มี.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงถึงข้อเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษา 13 ฉบับ ต่อคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความสำคัญต่อการศึกษาของประเทศ เพราะเห็นว่า ปัญหาของประเทศอยู่ที่การศึกษา กระทรวงศึกษาไม่เคยพัฒนาการศึกษามีแต่สร้างปัญหา และเป็นเรื่องความเป็นความตายในอนาคต ซึ่งหากเราไม่ทำประเทศไทยก็จะอยู่อันดับท้าย ๆ ของประเทศกลุ่มอาเซียน  ทั้งนี้จึงอยากให้วงการศึกษาไทยมีความก้าวหน้าในระดับชาติปฏิรูปการศึกษาใหม่ ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงตั้งคณะทำงานเพื่อร่างข้อเสนอดังกล่าว

นายศรีราชา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอร่างกฎหมายที่ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจ การจัดการเรียนการสอน และตัวบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ 12 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วย สภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยมีการตั้งคณะทำงานการศึกษาชาติทั้งระบบ (ซุปเปอร์บอร์ด) เพื่อกำหนดทิศทางที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ กำหนดนโยบายต่าง ๆ แทนกระทรวงศึกษาธิการ พ.ร.บ.การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา พ.ศ. ... ซึ่งสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนของการศึกษาทุกระดับ พ.ร.บ.สถาบันครูศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. ...  พ.ร.บ.การจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... โดยกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยัง อปท. อย่างเต็มรูปแบบ เป็นต้น นอกจากนี้จะเสนอร่าง พ.ร.บ. อีก 1 ฉบับ รวมเป็น  13 ฉบับ เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

ด้านนายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การร่างข้อเสนอดังกล่าว เพื่อที่จะลดอำนาจทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีการแทรกแซงทางการเมือง มีระบบอุปถัมภ์ โดยนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์จากการศึกษา เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการใช้งบประมาณต่างเพราะแต่ละปีกระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณจำนวนมาก แต่เอาเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ตัดการเมืองทิ้งไปเพราะมีการเชื่อมโยงกับ การศึกษาอยู่ อย่างไรก็ตามระบบการศึกษาในอนาคตต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และต้องปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.