ไล่ออก 3 ข้าราชการเอี่ยวขายข้าวจีทูจี
 


ไล่ออก 3 ข้าราชการเอี่ยวขายข้าวจีทูจี


ไล่ออก 3 ข้าราชการเอี่ยวขายข้าวจีทูจี
ที่กระทรวงพาณิชย์ เวลา 16.30 น. วันที่ 12 มี.ค. 58 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รมว.พาณิชย์  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงพาณิชย์ มีมติเห็นชอบ 9 ต่อ 0 เสียงให้ไล่ออกจากข้าราชการ 3 คนคือ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกองความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของรัฐบาลก่อน แต่นายมนัส ได้เกษียณอายุราชการนานแล้ว มติดังกล่าวจึงไม่มีผลใดๆ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาตามหนังสือชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ที่ป.ป.ช.ส่งมาให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา ซึ่งระบุว่า ข้าราชการทั้ง 3 คนมีส่วนร่วมกระทำความผิด โดยช่วยเหลือและมุ่งหมายให้ 2 บริษัทของจีนเข้ามาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ โดยที่ทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมการค้าต่างประเทศ และประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม อ.ก.พ.กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีอำนาจในการพิจารณาโทษเป็นอย่างอื่น นอกจากไล่ออก ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2536 และระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551 ที่ระบุว่า หากข้าราชการมีความผิดวินัยร้ายแรงต้องไล่ออกสถานเดียว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า มติไล่ออกดังกล่าว จะมีผลทันทีเมื่อปลัดกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในคำสั่งไล่ออก 2 ข้าราชการ โดยการถูกไล่ออกนี้ จะทำให้ข้าราชการทั้ง 2 คน ไม่มีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จบำนาญใดๆ ทั้งสิ้น แต่ระหว่างนี้ ผู้ที่ถูกให้ออกจากราชการทั้ง 2 ราย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่รับทราบคำสั่ง โดยให้ยื่นต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กพค.)

”ที่ประชุมอ.ก.พ.กระทรวงพาณิชย์ เครียดมาก ที่ผลสรุปออกมาเป็นแบบนี้ แต่ไม่มีทางเลือกอื่น เราพิจารณาตามมติครม.ปี 36 และระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551 ในชีวิตราชการ ผมไม่เคยพิจารณาโทษใครจนถึงขั้นไล่ออกจากราชการ รู้สึกเสียใจมาก หลังจากนี้ ข้าราชการทั้ง 3 คนต้องไปสู้คดีอาญาต่อไป หรืออาจจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วย”

อย่างไรก็ตาม อยากฝากเตือนข้าราชการ ที่ต้องทำงานกับนักการเมืองว่า ตามหลักการแล้ว หากเห็นว่าคำสั่งของฝ่ายการเมืองอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือทำให้เกิดการทุจริต ก็ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ทำตาม แต่ในทางปฏิบัติ ข้าราชการบางส่วนไม่กล้าขัดคำสั่ง หรืออาจจะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว รางวัล หรือการเลื่อนขั้น จึงอาจกระทำความผิดได้



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.