มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 250 อดีต ส.ส.
 


มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 250 อดีต ส.ส.


มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 250 อดีต ส.ส.
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรายปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช แถลงผลการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ว่า ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 1 เสียงชี้มูลความผิดในคดีถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 250 คน ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. โดยแบ่งกลุ่มตามพฤติกรรมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก อดีต ส.ส.ที่ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลงมติในวาระที่ 1 , 2 และ 3 จำนวน 239 คน กลุ่มที่ 2 อดีตส.ส.ที่ร่วมเสนอญัตติและลงมติในวาระที่ 2 และ 3 จำนวน 1 คน และกลุ่มที่ 3 อดีต ส.ส.ที่ร่วมเสนอญัตติและลงมติในวาระที่ 1 และ 3 จำนวน 10 คน

นายสรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้มีอดีต ส.ส.อีก 3 คน ประกอบด้วย นายอุดมเดช รัตนเสถียร กรณีสลับญัตติ นายคมเดช ไชยศิวามงคล และนายนริศร ทองธิราช กรณีเสียบบัตรแทนกัน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดอาญาด้วย ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ล่าสุดที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติยกเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญา กรณีเสียบบัตรแทนกัน โดยจะไต่สวนในข้อเท็จจริงต่อไป

นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้สิ้นสุดไปแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายเป็นเหตุให้อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ โดย ป.ป.ช.จะส่งสำนวนและเอกสารหลักฐานไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เพื่อให้ดำเนินการถอดถอนต่อไป ซึ่งกรณีของอดีต ส.ส.มีการกระทำที่แตกต่างจากอดีต ส.ว.ที่ สนช.ได้ลงมติไม่ถอดถอนไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น สนช.คงจะพิจารณาตามการกระทำมากกว่ายึดผลของการลงมติถอดถอนอดีต ส.ว.เป็นตัวตั้ง

ทางด้านนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่ สนช.มีมติด้วยเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ในสภา ให้ถอดถอนอดีต ส.ว. 38 ราย ตามที่กรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ว่า ป.ป.ช.น้อมรับมติดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 65 ที่บัญญัติให้ สนช.มีอิสระในการออกเสียง อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเสียงจะไม่ถึง 3 ใน 5 ในการถอดถอนอดีต ส.ว.ทั้ง 38 ราย ออกจากตำแหน่ง แต่กระบวนการขอถอดถอนที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นการให้การเรียนรู้แก่ประชาชนที่จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของกลไกการถ่วงดุลและคานอำนาจเสียงข้างมากทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญออกแบบไว้ จะทำให้คนไทยได้เรียนรู้ถึงแก่นแท้ของประชาธิปไตย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.