พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : น้าอายังจำได้ไหม การเมืองกับกฎอัยการศึกของฟิลิปปินส์
 


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : น้าอายังจำได้ไหม การเมืองกับกฎอัยการศึกของฟิลิปปินส์


 พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : น้าอายังจำได้ไหม การเมืองกับกฎอัยการศึกของฟิลิปปินส์

[email protected]




เรื่องกฎอัยการศึกเริ่มกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในบ้านเรามากขึ้นในช่วงนี้ แต่ผมไม่อยากจะมองแค่ง่ายๆ ว่าประเทศไทยนั้นแปลกประหลาดมากมายนัก เพราะสิ่งที่น่าสนใจควรจะอยู่ในเรื่องที่ว่าการทำความเข้าใจในเรื่องกฎอัยการศึกนั้นเป็นเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดาในวงการวิชาการและการวิเคราะห์ทางการเมือง-สังคมครับ

เอาเป็นว่า ประเทศเราคงไม่ใช่ประเทศแรกในโลกที่ใช้กฎอัยการศึก ซึ่งจะนิยามง่ายๆ ว่ากฎอัยการศึกคืออะไร ก็คงจะนิยามด้วยเงื่อนไขสองตัวครับ หนึ่งคือ เงื่อนไขที่ว่ากฎอัยการศึกนั้นเป็นสิ่งที่ให้อำนาจในทางกฎหมายกับองค์กรบางองค์กรในการกระทำการบางอย่างในลักษณะที่องค์กรนั้น หรือผู้ที่เป็นผู้นำขององค์กรนั้น (โดยทั่วไปมักเป็นทหาร) มีขอบเขตอำนาจบางอย่าง และขอบเขตอำนาจนั้นมักจะมีลักษณะที่กว้างขวางเสียจนอาจจะพูดได้ว่าไม่มีขอบเขต

ส่วนเงื่อนไขที่สอง กฎอัยการศึกทำหน้าที่ในการจัดการกับกฎระเบียบที่มีอยู่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบที่เรียกว่าหลักเสมอกันทางกฎหมาย หรือการปกครองด้วยกฎหมาย (Rule of Law) ซึ่งในแง่นี้หมายถึงระบอบการปกครองแบบหนึ่งที่ใช้กฎหมายเป็นใหญ่ คือ กฎหมายใหญ่กว่าอำเภอใจของผู้ปกครอง (เรียกง่ายๆ ว่า ไม่นับอำเภอใจของผู้ปครองเป็นกฎหมาย ด้วยคำจำกัดความง่ายๆ ว่า กฎหมายคือคำสั่งของผู้ปกครอง เพราะกฎหมายที่จะถูกเรียกว่ากฎหมายในระบอบการปกครองด้วยกฎหมายนั้นจะมีลักษณะพิเศษบางอย่างที่คำถึงถึงความเท่าเทียม และความเป็นมนุษย์ของผู้ที่อยู่ใต้ปกครองด้วย) พูดอีกอย่างก็คือ กฎอัยการศึกเมื่อใช้ก็จะทำลายกฎหมายตัวอื่นๆ ไปด้วย และอาจจะทำลายหลักการทางกฎหมายบางอย่างลงไปด้วย

ในแง่นี้ กฎอัยการศึกจึงเป็นการสร้างสภาพยกเว้นบางประการให้กับระบบการปกครองด้วยกฎหมาย ถึงขั้นที่มีการตั้งคำถามกันว่า ตกลงแล้วกฎอัยการศึกถือเป็น "กฎหมายไหม" ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่เราถามนั่นแหละครับ ว่ากฎหมายเสียงข้างมากที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกและการดำรงอยู่ของคนข้างน้อยนั้นจัดว่าเป็นกฎหมายไหมเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงมักจะพูดกันง่ายๆ ว่า การใช้กฎอัยการศึกจำเป็นจะต้องประกาศใช้อย่างจำเป็นจริงๆ ซึ่งสภาพความจำเป็นก็แตกต่างกันออกไปตามสังคม และที่สำคัญอาจจะมีรายละเอียดที่ไม่ควรละเลยว่าคนที่ใช้ประกาศนี้คือใคร

ตัวอย่างแรกที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงสองสามสัปดาห์นี้ มีพายุหิมะเข้าที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ผู้ว่าการรัฐต้องประกาศสภาวะฉุกเฉิน (State of Emergency) ในการรับมือกับหิมะ เพราะเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ จำต้องพิจารณาที่จะทิ้งหิมะลงไปในทะเลสาบและแม่น้ำบางแห่ง แต่ในกรณีปกตินั้นทำไม่ได้เพราะว่ามีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทำงานอยู่

เรื่องนี้ผมก็คิดขำๆ ว่า สมัยคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯนั้น มีการใช้กฎหมายพิเศษจัดการน้ำท่วม แต่เอาเข้าจริงไม่ได้เหมือนกับว่ากฎหมายจะไปจัดการกับน้องน้ำหรอกครับ แต่มันเหมือนกับว่ากฎหมายใช้จัดการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการสั่งการต่างหาก

นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่า สถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเป็นกฎอัยการศึกแบบหนึ่งในแง่การสร้างสภาวะข้อยกเว้นทางกฎหมายและการบริหารนั้น อาจใช้จัดการกับภัยพิบัติ ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง และผู้ที่ใช้อำนาจก็คือผู้บริหารเดิมที่อยู่ในอำนาจของกฎหมายอยู่แล้ว หรือในกรณีนี้อาจรวมไปถึงเรื่องของการที่มีกฎหมายระบุว่าให้ทหารใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีข้าศึกศัตรู แต่ทั้งหมดนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องของการยึดอำนาจ



ตัวอย่างที่สอง อาจจะใกล้ตัวเราหน่อยก็คือการรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา ที่เริ่มต้นด้วยการประกาศกฎอัยการศึกของทหาร ในขณะที่ยังมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นัยว่าเพื่อควบคุมไม่ให้สถานการณ์ชุมนุมของทั้งสองฝ่ายนำมาสู่ความรุนแรงทางการเมือง จากนั้นก็เกิดการยึดอำนาจรัฐ คงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก และเพิ่มเอาคำสั่งคณะรัฐประหารซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายในตัวเองออกมาใช้ เพราะไม่ได้เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจมาจากกฎอัยการศึก แต่เป็นอำนาจที่มาจากการสถาปนาอำนาจทางการเมืองของตัวเองโดยการปฏิเสธและทำให้รัฐบาลเดิมสิ้นสุดลง จากนั้นก็เพิ่มเรื่องของการย้ายคดีความต่างๆ ที่เห็นสมควรด้วยดุลพินิจและคำสั่งของคณะรัฐประหารมาไว้ที่ศาลทหาร

นั่นก็คือเงื่อนไขและที่มาที่ไปในปัจจุบันของระบอบการปกครองของบ้านเรา ที่กฎอัยการศึกกลายสภาพเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในการค้ำยันรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจรัฐด้วยการใช้กฎอัยการศึกในระบบปกติ แล้วแปรสภาพกฎอัยการศึกในระบบปกติมาสู่กฎอัยการศึกในสถานะพิเศษ ซึ่งต่างจากการยึดอำนาจในหลายครั้งที่ทหารในฐานะผู้ปกครองยึดอำนาจก่อนใช้กฎอัยการศึก แต่มาครั้งนี้ใช้กฎอัยการศึกในการยึดอำนาจ

แต่ถ้ามองจากฝ่ายผู้ยึดอำนาจเองก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะหากต้องยกเลิกกฎอัยการศึกไป ก็จะทำให้ต้องมาคิดหนักว่าการค้ำยันระบอบการปกครองที่มีอยู่จะทำได้อย่างไร และระบบกฎหมายปกติที่ดูก้าวหน้าและได้มาตรฐานสากลในประเทศของเราในระดับหนึ่งอาจจะย้อนกลับมาจัดการกับกลไกส่วนพิเศษเหนือระบบกฎหมายปกติของรัฐบาลและผู้มีอำนาจชุดนี้นั่นแหละครับ ทั้งที่คนที่เขารณรงค์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก หรือศาลทหาร เขาไม่ได้บอกให้ยกเลิกกฎหมาย หรือศาลเลย เขาเพียงแต่อยากให้ใช้ระบบปกติที่เคยใช้กันมาเท่านั้นเอง

จบเรื่องเมืองไทยแต่เพียงเท่านี้ครับ ไม่ได้ต้องการจะเขียนตรงๆ แค่อยากจะยกตัวอย่างให้เห็นเฉยๆ ว่าทำไมกฎอัยการศึกในวันนี้จึงมีลักษณะที่เหมือนจะเป็นเงื่อนไขบางอย่างที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับการปกครองประเทศ ทั้งที่ในหลายๆ ครั้งการทำรัฐประหารในอดีตไม่ได้มีปัญหากับเรื่องนี้ เพราะเขาอาจจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างแท้จริง หรือว่ามีเงื่อนไขที่ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญจะเสร็จเมื่อไหร่ หรือจะกลับสู่การเลือกตั้งเมื่อไหร่ หรือแม้แต่เรื่องว่าหลายฝ่ายนั้นรู้สึกว่าสามารถเข้ามามีส่วนในการร่างกฎกติการ่วมกันได้

เรื่องที่อยากเขียนจริงๆ คือ ตัวอย่างที่สาม นั่นก็คือการใช้กฎอัยการศึกในช่วงการสถาปนาอำนาจทางการเมืองของเฟอร์ดินัด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีขวัญใจประชาชนคนหนึ่งของฟิลิปปินส์ ที่สุดท้ายไม่มีที่จะซุกตัวในประเทศ เพราะกลายเป็นจอมเผด็จการในสายตาประชาชนของเขา และต้องจบชีวิตลงในอเมริกา ประเทศที่สนับสนุนเผด็จการอย่างเขามาในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง



อ่านเรื่องของมาร์กอสเนี่ย น่าสนใจว่ามาร์กอสก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเมืองการปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในยุคอดีตที่รัฐบาลหลายประเทศมีความโน้มเอียงไปในทางใช้อำนาจทหารและปกครองด้วยเงื่อนไขพิเศษ ทั้งที่เริ่มต้นจากการเลือกตั้ง หรือจากการแซ่ซ้องสรรเสริญของมวลมหาประชาชนนั่นแหละครับ

การศึกษาเรื่องมาร์กอสนี้น่าสนใจมาก เพราะเรื่องไม่ได้มีง่ายๆ แค่ว่ามาร์กอสเป็นจอมเผด็จการ ใช้กฎอัยการศึก แล้วก็สุดท้ายถูกประชาชนขับไล่ แต่มาร์กอสนั้นอยู่ในตำแหน่งยาวนานมาก ตั้งแต่ 1965-1986 เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักการเมืองยอดนิยมของประชาชน เป็นวีรบุรุษสงคราม แล้วก็เป็นประธานาธิบดี จากนั้นเขาก็ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อเถลิงอำนาจของเขาในช่วงยุคสมัยที่ 2 เพื่อทำให้เขาสร้างข้อยกเว้นสองประการหลักๆ

หนึ่งคือ ทำให้เขาสามารถสืบอำนาจได้นานกว่าการเป็นประธานาธิบดีสองสมัยตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ถอดแบบมาจากระบอบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

และสอง เขาใช้เงื่อนไขการออกกฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองและการก่อการร้ายที่เกาะทางตอนใต้ที่เป็นอิสลามในการจัดการความคิดที่แตกต่าง ใช้ควบคุมสื่อ และจัดการกับฝ่ายค้าน ที่สำคัญอันเป็นเรื่องเสมือนผลพลอยได้ของการใช้กฎอัยการศึกก็คือการขยายอัตรากำลังของทหารอย่างมหาศาล พูดง่ายๆ ก็คือ ทหารเป็นกลไกสำคัญในการใช้กฎอัยการศึกนั่นแหละครับ ก็ต้องมีบุคลากรมากขึ้นตามมา รวมทั้งโครงสร้างที่ทหารเข้าไปดำรงตำแหน่งมากมายในการบริหารเหนือขอบเขตการป้องกันประเทศที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

ที่สำคัญมาร์กอสนั้นไม่ได้ถูกไล่ง่ายๆ เขาใช้กฎอัยการศึกในช่วง 1972-1981 ต่อเนื่องกับการที่เขาจะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองในช่วงที่สาม ซึ่งเป็นการละเมิดกรอบกฎหมายเดิม (บ้างก็อ้างว่ามาร์กอสนั้นจำต้องยกเลิกกฎอัยการศึกไม่ใช่เพราะถูกค้าน แต่เพราะจะมีการมาเยือนประเทศของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งอย่าลืมว่าฟิลิปปินส์นั้นเป็นเมืองคริสต์ครับ) ต่อมาเขาถูกไล่เพราะเกิดการลอบสังหารอดีตผู้นำฝ่ายค้านคือ อาคิโน และนำไปสู่การตัดสินใจสู้ศึกการเลือกตั้งอีกครั้ง ทั้งที่เขาเพิ่งได้รับเลือกมาไม่เกินสองปี และในครั้งนี้แม้ว่าเขาจะชนะอดีตภรรยาม่ายของอาคิโน (ต่อมาเป็นประธานาธิบดี และลูกชายก็ยังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปัจจุบัน) แต่ก็มีข้อกังหามากมายเรื่องผลการเลือกตั้ง รวมทั้งการทุจริตที่มากมายในยุคของมาร์กอสภายใต้การเถลิงอำนาจด้วยกฎอัยการศึก และนำไปสู่การลุกฮือของประชาชน จนกระทั่งมาร์กอสต้องหนีไปนอกประเทศจากการสนับสนุนของอเมริกานั่นแหละครับ

การพิจารณาการเมืองของการใช้กฎอัยการศึกของมาร์กอสนั้นก็มีการศึกษามากมายหลายด้านตั้งแต่ในยุคที่มาร์กอสยังเรืองอำนาจ และในยุคหลัง เพราะอีกด้านที่สำคัญในการใช้กฎอัยการศึกก็คือ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของยุคมาร์กอส ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการขยายภารกิจของทหารเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มีมาตั้งแต่ก่อนใช้กฎอัยการศึก แต่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่มีฐานค้ำยันจากกฎอัยการศึก ที่เขาใช้อำนาจปกติในการประกาศ แต่ในท้ายที่สุดข้อยกเว้นก็เปลี่ยนสภาพให้เขากลายเป็นผู้มีอำนาจล้นฟ้าที่สืบสานอำนาจต่อมาและทำให้กฎอัยการศึกกลายเป็นเรื่องการจัดการศัตรูทางการเมืองของตัวเอง

พูดง่ายๆ ทำให้กฎอัยการศึกรองรับเสถียรภาพของตัวเองในนามของเสถียรภาพของประเทศนั่นแหละครับ ยิ่งตัวเองมีเสถียรภาพมากเท่าไหร่ สังคมก็มีเสถียรภาพน้อยลงเท่านั้น มันแปรผันกันได้ครับผม



ที่สำคัญในตอนนั้นเพื่อให้กฎอัยการศึกทำงานได้ นอกเหนือจากการใช้กำลังทหารในการจัดการผู้เห็นต่าง และใช้กฎอัยการศึกในการปิดกั้นการตรวจสอบและบีบให้เกิดการโอนย้ายความมั่งคั่งมาให้พวกพ้องของตัวเองแล้ว อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่มาร์กอสใช้ในการสร้างฐานความชอบธรรมให้กับตนเองก็คือ การใช้กฎอัยการศึกภายใต้การสถาปนา "สังคมใหม่" หรือ The New Society (Bagong Lipunan) ในแบบเดียวกับที่ ซูฮาร์โตของอินโดนีเซียก็สร้างระเบียบใหม่ (New Order) ให้กับอินโดนีเซียในยุคใกล้เคียงกัน พูดง่ายๆ ก็คือ การสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ในสังคมโดยให้ทุกคนรักชาติของตัวเองไม่ว่าจะจนจะรวยก็จะต้องร่วมมือกัน ซึ่งเอาเข้าจริงรูปธรรมที่ง่ายที่สุดก็คือ การเชื่อฟังรัฐบาลและไม่ต่อต้านรัฐบาลนั่นแหละครับผม เพราะเมื่อวัดแล้ว ในด้านหนึ่งเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอาจจะดี แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นถ่างออกจากกันมากขึ้น และในอีกด้านที่สำคัญก็คือ แม้ว่ารัฐบาลอาจจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมีผลทำให้เกิดการขยายตัวในเศรษฐกิจ แต่ช่องว่างที่มากขึ้นนี้คือกลไกการกระจายความมั่งคั่งไม่ดีพอ ส่วนหนึ่งจะพบว่าสินค้านั้นขึ้นราคาตามไป

เวลาที่สินค้าขึ้นราคา เราจะต้องดูสองเด้ง นั่นคือ คนจนย่อมต้องแบกภาระมากขึ้น (คนรวยก็ด้วย แต่เนื่องจากเขาได้เงินมากกว่า เขาจึงมีปัญหาน้อยกว่า) และที่สำคัญก็คือ คนจนไม่ได้แบกภาระเฉพาะราคาสินค้า แต่เขาแบกภาระภาษีบริโภคด้วย ซึ่งพวกนี้ลดหย่อนไม่ได้เหมือนภาษีรายได้ของคนรวยนั่นแหละครับ ยิ่งเมื่อมีเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวแล้ว นี่ถือว่าโดนสามเด้งเลยครับผม



ทีนี้ในวงวิชาการเองเขาก็ยังเถียงกันอยู่นะครับ ว่าตกลงประชาธิปไตยกับการใช้อำนาจภายใต้กฎอัยการศึกเนี่ย อะไรมีต้นทุนแพงกว่ากัน เพราะการเลือกตั้งที่มีบ่อยๆ หรือมีแต่ละครั้งก็ต้องเสียเงินเสียทองไปในการรณรงค์ (ไม่นับซื้อเสียง) แต่เอาเข้าจริงแล้ว ในการปกครองระบอบอื่นก็มีต้นทุนในการสืบสานอำนาจเช่นกัน ทั้งโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งการใช้กฎอัยการศึก และอาจจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือความถดถอยทางเศรษฐกิจเช่นกัน และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยได้ศึกษาวิจัยเท่าไหร่ เพราะฝ่ายหนึ่งก็จะมองแต่ข้อเสียของอีกฝ่ายเท่านั้น

ในกรณีของฟิลิปปินส์ในยุคนั้น มีเครื่องมือหนึ่งที่น่าสนใจในการวิเคราะห์การสืบสานอำนาจในนามของการสร้างเสถียรภาพของมาร์กอสในระบอบกฎอัยการศึกก็คือการศึกษาการตอบสนองต่อการปกครองภายใต้กฎอัยการศึกออกเป็นสองแนว คือ การไม่ปริปาก (acquiescence) กับความชอบธรรม (legitimacy) (ดู David Wurfel. "Martial Law in the Philippines: The Methods of Regime Survival". Pacific Affairs. 50:1 (1977, 5-30)) คือการไม่ปริปากอาจจะหมายถึงว่าไม่ยอมรับ แต่ไม่แสดงออก หรือไม่ออกมาต้านเฉยๆ ขณะที่เรื่องความชอบธรรมนั้น มันหมายถึงการเห็นดีเห็นงามไปด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง การสืบสานอำนาจภายใต้กฎอัยการศึกอาจจะต้องประกอบด้วย ปฏิบัติทั้งในระดับ "ยุทธศาสตร์" คือสร้างความชอบธรรมให้ระบอบในสายตาประชาชนทั้งหมด หรือในระดับ "ยุทธการ" คือการลดภัยหรือเข้าจัดการกับแหล่งหรือกลุ่มบางกลุ่มที่ระบอบการปกครองมองว่าเป็นภัย

เราก็ต้องดูกันแหละครับว่าการตอบสนองของแต่ละกลุ่มเป็นแบบไม่ปริปาก หรือเห็นดีเห็นงามด้วย และยุทธศาสตร์และยุทธการนั้นทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะความจริงแล้วมันไม่ง่ายเลย อาทิในแง่การสร้างความชอบธรรมทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน ก็ยังขึ้นกับปัจจัยระหว่างประเทศอีกมากมาย (แหม ดีนะครับที่นักวิชาการประเทศอื่นๆ ไม่ต้องดูเงื่อนปัจจัยทางโหราศาสตร์เข้าไปด้วย) หรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองอาจจะหมายถึงการพยายามเข้าถึงชุมชนทางการเมืองระดับหมู่บ้านตำบลมากขึ้น แทนที่จะพัฒนาพรรคการเมือง หรืออาจจะใช้แนวคิดชาตินิยมมาเป็นสิ่งที่หลอมรวมคนเข้าด้วยกัน เพราะเอาเข้าจริงชาตินิยมเมื่อจะสร้างความชอบธรรมอาจจะขัดกันเองเพราะความชอบธรรมทางเศรษฐกิจมันขึ้นกับการลงทุนจากต่างประเทศด้วย จะด่าฝรั่งหรือปิดประเทศก็ไม่ได้นั่นแหละครับผม ดังนั้นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่จะทำให้ทุกอย่างมันเดินไปตามภาพฝันของสังคมภายใต้กฎอัยการศึกก็คือ "สื่อ" นั่นแหละครับ เพราะถ้าสื่อไม่คุ้ยหรือคุ้ยไม่ได้ ก็ไม่เจอสิ่งที่ผิดปกติหรอกครับ

อย่าลืมว่าการเมืองไม่ได้เล่นโดยนักการเมืองเท่านั้น เมื่อมีกฎอัยการศึกก็มีคนอื่นมาเล่นการเมืองครับ ไม่ใช่การเมืองหมดไป ดังนั้นถ้าสื่อคุ้ยไม่ได้ก็ถือว่าเราเปรียบเทียบได้ยากครับว่าตกลงระบอบไหนมันเปรียบเทียบกันได้จริงหรือไม่ ดังนั้นคอร์รัปชั่นมันจึงไม่ได้หมดไปในหลายกรณีครับ มันแค่เปลี่ยนมือไปเสียมากกว่า

การศึกษาปฏิกิริยาของกลุ่มต่างๆ ในสังคมภายใต้การปกครองด้วยกฎอัยการศึกนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของฟิลิปปินส์ ยิ่งโดยเฉพาะในตอนสุดท้ายที่ฝ่ายคริสตจักรและทหารเริ่มไม่เข้าข้างมาร์กอส และเมื่อรวมกับพลังของผู้คนจากหลายกลุ่มโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ทนกับเรื่องการคอร์รัปชั่นไม่ไหว ระบอบมาร์กอสจึงจบไม่สวย แต่ก็ไม่ได้กินเวลาสั้นๆ นะครับ เรียกว่าหลายปีมากหลังยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้วการสืบสานอำนาจของมาร์กอสถึงจะพังทลายลง ...

 



 

(ที่มา:มติชนรายวัน 17 กุมภาพันธ์ 2558)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.