ความขัดแย้งในใจ โดย วีรพงษ์ รามางกูร
 


ความขัดแย้งในใจ โดย วีรพงษ์ รามางกูร


 ความขัดแย้งในใจ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

คอลัมน์ คนเดินตรอก/ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ความขัดแย้งในสังคมเป็นสิ่งปกติที่มีอยู่ในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้างเป็นของธรรมดา เพราะที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นย่อมจะมีความขัดแย้ง การแสดงออกซึ่งความเห็นต่างทางการเมืองก็คือความขัดแย้งเรื่องหนี่ง

พื้นฐานของความขัดแย้งมีอยู่หลายอย่าง แล้วแต่จะเลือกเชื่อทฤษฎีใด ถ้าเชื่อว่าการแสวงหาอำนาจและการต้องการรักษาอำนาจเป็นพื้นฐานของความขัดแย้งก็ใช่ ความแตกต่างเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของความขัดแย้งก็ใช่ ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติศาสนาที่ไม่อาจกลมกลืนกันได้ก็คงจะใช่อีกเหมือนกัน วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละถิ่น ของแต่ละภูมิภาค ของแต่ละกลุ่มชนที่ต้องมาร่วมอยู่ในสังคมเดียวกัน ก็เป็นพื้นฐานของความขัดแย้งกัน ก็เป็นเรื่องปกติอยู่นั่นเอง

ในโลกสมัยใหม่ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อเรื่องอุดมการณ์ ความเชื่อในตรรกะ ความเห็นของตน ล้วนเป็นพื้นฐานทางความขัดแย้งกันได้


ภาพจาก : www.peytonbolin.com

ความแตกต่างกันในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐาน ทำให้ผู้คนมีความขัดแย้งแต่อาจจะสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น หากไม่มีการกระพือหรือปลุกระดมให้เกิดอารมณ์ร่วมของผู้ที่มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ให้เกิดความคิดไปในแนวทางเดียวกัน และเมื่ออารมณ์ร่วมเกิดขึ้น ก็ย่อมสามารถชี้นำให้เกิดปฏิกิริยาที่จะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งตามปกติแล้วจะถูกกดเอาไว้ด้วยความรู้สึกผิดชอบ รู้สึกถูก รู้สึกผิด ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์พื้นฐานตามธรรมชาติของทุกสังคม เป็นสากลเหมือน ๆ กันทุกแห่ง แต่การปลุกอารมณ์ร่วมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือประเด็นใด บางทีก็ใช้ข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมด บางทีก็ใช้ข้อมูลที่เป็นจริงบางส่วนเป็นเท็จบางส่วน บางทีก็ใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จทั้งหมด ใช้เครื่องมือใช้สื่อต่าง ๆ ในการสร้างกระแสให้เกิดอารมณ์ร่วมกัน ใช้เครือข่ายต่าง ๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้รับการพัฒนาและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีความสะดวกและง่ายต่อการใช้งานของคนในสังคมทุกระดับชั้น ก็ยิ่งทำให้การสร้างอารมณ์ร่วมโดยการปล่อยข่าวทางเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ตเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว ร่วมกันกับการปล่อยข่าวลือจากปากไปสู่ปาก การปล่อยข่าวจึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็วแพร่หลาย แต่ก็ตรวจสอบได้ง่ายว่าข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมานั้นเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จ ต่างกับสมัยก่อนที่ต้องใช้การปล่อยข่าวผ่านเครือข่ายกลุ่มคนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและที่ไม่เป็นทางการ แม้จะไม่รวดเร็วอย่างในปัจจุบันแต่ก็ตรวจสอบความจริงได้ยาก

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการสร้างกระแสปลุกเร้าอารมณ์ความขัดแย้งให้เกิดขึ้น โดยใช้ความแตกต่างเป็นพื้นฐานในการสร้างแนวร่วมทางอารมณ์ เช่น ความแตกต่างทางพื้นที่ชนบทกับในเมือง ฐานะทางสังคม คนชั้นสูงกับคนชั้นล่าง ฐานะทางเศรษฐกิจคนจนกับคนรวย อาชีพเกษตรกรกับพ่อค้านายทุน เป็นต้น ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นทันที กลายเป็นประเด็นโต้เถียงกันในสังคม ในครอบครัว สภากาแฟ ที่สำคัญคือการรายงานข่าว การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน ซึ่งมักจะเริ่มจากหนังสือพิมพ์ ทั้งที่เป็นกระดาษและในเว็บไซต์ จากการแสดงความคิดเห็นขัดแย้งผ่านทางสื่อมวลชนแล้วก็ย้อนกลับมาโต้เถียงกันในวงการต่าง ๆ

จากการโต้เถียงขัดแย้งกันในสื่อมวลชน ในวงสนทนา ก็อาจจะเกิดการปะทุให้มีการจับกลุ่มเดินขบวนประท้วง ถ้ามีแกนนำที่สามารถใช้วาทศิลป์ปลุกเร้า มีปัจจัยต่าง ๆ ที่พร้อม ทั้งกำลังเงินกำลังทรัพย์ มีกลุ่มเครือข่ายจัดตั้งที่เคยร่วมกันรณรงค์ในเรื่องต่าง ๆ อยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นการแสดงออกผ่านทางมวลชนที่ออกมาประท้วง กลายเป็นการกระทำที่ไม่สงบ ในที่สุดก็อาจจะเกิดความรุนแรงและกระทำการที่ผิดกฎหมาย ชักนำไปสู่การใช้อำนาจรัฐผ่านทางตำรวจและทหารในการรักษาความสงบและมักจะจบลงด้วยความรุนแรงหากเกิดการต่อต้าน

เมื่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจบลงด้วยความรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวก็จะสร้างความคุกรุ่นอยู่ภายใน ความขัดแย้งภายในใจก็จะเกิดขึ้น

ความขัดแย้งภายในใจเป็นสิ่งที่ประเมินประมาณได้ยาก เกิดบรรยากาศอึมครึม โหวงเหวง ว่างเปล่า ผู้คนจะรู้สึกว่าตนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง เรื่องความถูกต้องของการบังคับใช้กฎหมาย คำตัดสินของศาลเรื่องนโยบายการเงินการคลัง งบประมาณแผ่นดิน การลงทุน การให้สิทธิประโยชน์ การให้สัมปทาน นโยบายการส่งออก รวมถึงการให้ความเห็นเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจว่าดีหรือไม่ดี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตรเงินเฟ้อ เป็นต้น เพราะเกรงว่าจะไปขัดกับความเห็นของรัฐบาลหรือทางราชการ สังเกตดูได้จากการประกาศดำเนินนโยบายต่าง ๆ เช่น การให้สัมปทาน การอนุมัติโครงการ การดำเนินนโยบายต่างประเทศ เมื่อรัฐบาลประกาศผลการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน พรรคการเมือง ผู้คนในวงการต่าง ๆ ก็เงียบ ไม่มีการแสดงความคิดเห็น ไม่มีเรื่องติติงไม่มีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ จากสื่อมวลชนก็ดี จากพรรคการเมืองฝ่ายต่าง ๆ

การไม่มีการแสดงออกถึงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนคิดต่าง ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในสังคมมีความเห็นตรงกันหมด ตรงกันข้ามกับความจริง เพราะความขัดแย้งความอึดอัดเหล่านี้ถูกกดไว้ในใจ

นับวันความขัดแย้งในความเห็นต่างที่ไม่อาจจะแสดงออกมา ที่ถูกกดถูกอัดเอาไว้ กลายเป็นความอึดอัดที่ถูกเก็บสะสมไว้ นานวันเข้า จำนวนผู้คนที่ต้องสะสมความอึดอัดเหล่านี้ก็จะมีมากขึ้นทุกที

ในที่สุดวัฏจักรก็จะหมุนกลับ ความขัดแย้งที่เก็บกดไว้ในใจก็จะค่อย ๆ เผยตัวออกมาในการถกเถียงกันในครอบครัว ยอมรับข้อเท็จจริงในครอบครัว ต่อมาก็ในวงสนทนา ในวงเหล้า ในสภากาแฟ กลายเป็นกระแสที่ตรงกันข้ามกับวงจรเดิม แล้วก็จะค่อย ๆ ปรากฏในสื่อมวลชน ในเว็บไซต์ แล้วในที่สุดก็จะเกิดปฏิกิริยาที่เปิดเผยบนท้องถนน กลับไปสู่ความรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งเป็นแรงเหวี่ยงของพลังในสังคมที่พยากรณ์ได้ เหมือน ๆ กับพลังของกลไกตลาดในเรื่องของวิชาเศรษฐศาสตร์ เหมือน ๆ กับเรื่องความร้อนแฝงในวิชาฟิสิกส์หรือวิชาเคมี เมื่อสถานการณ์ไปถึงจุดที่มีปัจจัยต่าง ๆ เหมาะสม ก็อาจจะเกิดการระเบิดที่รุนแรงทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เป็นผลดีกับใครเลย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่ป้องกันและแก้ไขได้โดยใช้ "ปัญญา" ไม่ใช้ "อวิชชา" และ "อคติ" มองทุกอย่างด้วยความเป็นกลาง ตามความเป็นจริง ทำลายเหตุปัจจัยที่จะสร้างความขัดแย้งลงไปหรืออย่างน้อยก็ไม่ให้มีเพิ่มขึ้น รอเวลาที่จะทำให้จิตสงบลง

ตอนนี้ก็มีระเบิดอีกแล้ว เป็นระเบิดลูกแรกหรือเปล่า



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.