′ป.ป.ช.′ปัดยื้อคดีสลายชุมนุมปี′53 ยัน รอหลักฐานชัดเจน ดู ม.17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินเทียบ
 


′ป.ป.ช.′ปัดยื้อคดีสลายชุมนุมปี′53 ยัน รอหลักฐานชัดเจน ดู ม.17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินเทียบ


 ′ป.ป.ช.′ปัดยื้อคดีสลายชุมนุมปี′53 ยัน รอหลักฐานชัดเจน ดู ม.17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินเทียบ


เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง กรณีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. (องค์คณะไต่สวน) เลื่อนสรุปสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553-19 พฤษภาคม 2553 ว่า

http://www.matichon.co.th/online/2015/02/14236459721423646008l.jpg

องค์คณะไต่สวนได้พิจารณาสำนวนเรื่องดังกล่าวตามที่คณะทำงานนำมาเสนอแล้ว พบว่ายังมีข้อเท็จจริงอื่นที่เจ้าหน้าที่ยังต้องไปทำสรุปเพิ่มเติมมาอีก และให้พิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายเพิ่มเติมด้วยว่า ตัวข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายนั้น ตามกรอบอำนาจหน้าที่ของผู้ดำเนินการเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ ดำเนินการและได้รายงานเข้าที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังเป็นกรอบกว้าง ๆ อยู่ ไม่รัดกุม จึงได้มอบได้ไปสรุปใหม่ และให้กลับมารายงานองค์คณะอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 และจึงพิจารณาส่งไปยังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่อีกครั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

“ได้ให้ไปทำความเห็นกลับเข้ามาว่า มาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น กับข้อเท็จจริงที่ได้มา มันสอดคล้องกันอย่างไร และฝ่ายที่ทำความเห็นจะต้องบอกมาด้วยว่า มีความเห็นต่อข้อกฎหมายอย่างไร ให้หาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงแนวทางปฏิบัติ ในกฎหมายของเรื่องนี้ ว่ามีแนวอื่น หรือมีข้อเท็จจริง ที่เคยนำมาพิจารณาวินิจฉัยที่ผ่านมาหรือไม่ เคยวินิจฉัยกันมาแล้วหรือไม่ ดังนั้นฝ่ายเลขาฯจะต้องไปรวบรวมเพื่อนำมาเสนอใหม่อีกครั้งว่า คดีอื่น ๆ ที่พิจารณามา มีแนวทางอย่างไร ปฏิบัติกันอย่างไร ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องไปดำเนินการมาเพิ่มเติม” นายสรรเสริญ กล่าว


เมื่อถามว่า ป.ป.ช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการยื้อการพิจารณาคดีดังกล่าวออกไปอีก นายสรรเสริญ กล่าวว่า “ไม่ได้ยื้ออยู่แล้ว ทุกเรื่องหากมีประเด็นที่ยังไม่เรียบร้อย ที่ประชุมจะต้องให้กลับไปทำใหม่ทั้งหมด ทุก ๆ เรื่องเหมือนกันหมด ไม่ได้ยื้อ ยืนยัน”

เมื่อถามว่า การนัดส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มาด้วยตัวเอง จะดำเนินการอย่างไร นายสรรเสริญ กล่าวว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มารายงานตัวในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ อสส. ก็ต้องนำสำนวนไปฟ้องได้ทันที เพราะในวันฟ้อง ไม่จำเป็นต้องนำตัวจำเลยไป โดย อสส. จะนำสำนวนของ ป.ป.ช. ไปส่งฟ้องศาล

เมื่อถามว่า ถ้าตัวไม่มาในวันดังกล่าวจะดำเนินการขอหมายเรียกเลยหรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ จะต้องอีกนัดหนึ่ง เพราะหลังจากที่ศาลรับฟ้องแล้ว กระบวนการของศาลคือ ต้องตั้งองค์คณะ และจะนัดพิจารณาครั้งแรก ซึ่งในวันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องเดินทางมายืนต่อหน้าศาลด้วยตัวเอง เพราะในวันนั้นจะต้องมีตัวอยู่ต่อหน้าการพิจารณาองค์คณะของศาล ถ้าในวันนั้นไม่ไป ถือว่าจะต้องไปดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวมา



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.