ศธ.ไฟเขียวสอศ.ปรับโครงการ1อำเภอ1ทุน ขอ2.5หมื่นล้านผลิตช่างเทคนิค
 


ศธ.ไฟเขียวสอศ.ปรับโครงการ1อำเภอ1ทุน ขอ2.5หมื่นล้านผลิตช่างเทคนิค


 ศธ.ไฟเขียวสอศ.ปรับโครงการ1อำเภอ1ทุน ขอ2.5หมื่นล้านผลิตช่างเทคนิค

 

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายกฤษณพงศ์  กีรติกร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของศธ. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เสนอขอปรับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน มาเป็น โครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ เป็นโครงการระยะยาว 14 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2572 โดยให้ทุนเด็กทั้งหมด 5 รุ่น  รุ่นละ 2,300 ทุน ใช้งบประมาณ  25,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นทุนในประเทศ 700 ทุน ทุนต่างประเทศ 1,600 ทุน  ใน 3 ระยะ คือ  ทุนระยะสั้น เรียนไม่เกิน 6 เดือน ถึง 2 ปี  1,250 ทุน ทุนในประเทศ 100 ทุน ทุนต่างประเทศ  1,150 ทุน ระยะกลาง เรียน 4 ปี   700 ทุน ทุนในประเทศ 400 ทุน ทุนต่างประเทศ  300 ทุน และทุนระยะยาว เรียน 7 ปี  350 ทุน ทุนในประเทศ 200 ทุน ทุนต่างประเทศ  150 ทุน 


ในส่วนของทุนระยะสั้น จะเป็นทุนให้เปล่า เน้นผลิตช่างเทคนิค นักปฏิบัติการที่มีความชำนาญเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ขาดแคลน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจคของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  อาทิ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง  การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น



ส่วนระยะกลางและระยะยาว ซึ่งค่อนข้างต้องใช้เวลาเรียนนานกว่า และใช้งบประมาณที่สูง อาจจะเพิ่มหลักเกณฑ์ว่าคนกลุ่มนี้ต้องใช้ทุน โดยกลับมาเป็นอาจารย์ในสถาบันอาชีวศึกษาและในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  ซึ่งจากนี้ทางสอศ. ต้องไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการคัดเลือกเด็กเข้าร่วมโครงการได้ภายในปีการศึกษา 2558


นอกจากนั้นที่ประชุมยังหารือ ถึงปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยเห็นว่า หากมหาวิทยาลัยเกิดปัญหา น่าจะให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการได้  ซึ่งอาจจะต้องดูทั้งสองส่วนคือร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา และร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา โดยหากเดินหน้าเฉพาะร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาก่อน เพื่อให้กกอ. เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ก็สามารถทำได้ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าควรจะดูทั้งสองฉบับควบคู่กันไป เพื่อเป็นการเดินหน้าเรื่องการปฏิรูประบบอุดมศึกษาไปในคราวเดียวกัน 


“เนื่องจากที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ย้ำกับกระทรวงต่าง ๆ ว่า ถ้าเป็นไปได้ในช่วง 1-2 ปีนี้ไม่อยากให้แตะเรื่องโครงสร้างมากนัก ขอให้ใช้เวลาทุ่มเทกับการทำงานแก้ไขปัญหาก่อน ดังนั้นในส่วนของกระทรวงต่าง ๆ คงยังไม่มีการปรับโครงสร้างในช่วงนี้ เป็นการดำเนินงานวางระบบไว้สำหรับรัฐบาลหน้าต่อไป  ดังนั้นหากศธ. จะเสนอจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา อาจต้องเสนอเป็นกรณีพิเศษ เพราะปัญหาอุดมศึกษาถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องดูภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการศธ. เพราะทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับให้รัฐมนตรีว่าการศธ. พิจารณาแล้ว"



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.