ทดสอบ ศักยภาพ การบริหาร และ จัดการ นายกฯ ′ลุงตู่′
 


ทดสอบ ศักยภาพ การบริหาร และ จัดการ นายกฯ ′ลุงตู่′


 ทดสอบ ศักยภาพ การบริหาร และ จัดการ นายกฯ ′ลุงตู่′



อ่านหนังสือที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีในนาม "ประธานชมรมแพทย์ชนบท" กล่าวโทษ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แล้ว

สยดสยอง

แม้มิอาจบรรยายว่า เห็น "เลือด" หยดตามรายทาง แต่ "กรรม" อันบรรยายรวมแล้ว 4 ข้อต่อเนื่องกัน

รุนแรง

"เป็นผู้สร้างความแตกแยก ความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขและระบบบริการสาธารณสุขของรัฐมากว่า 2 ปี"

"ไม่มีจุดยืนและภาวะผู้นำ อ่อนด้านบริหาร"

"ทำลายระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นระบบสงเคราะห์ ทำลายหน่วยงานตระกูล ส. ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูประบบสุขภาพ"

"รวมทั้งทำลายแพทย์ชนบทเพราะมองว่าเป็นศัตรูทางการเมือง"

ความรุนแรงในข้อกล่าวหาต่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ทำให้อาการ "เชือดคอ" ของ สนช. บางท่านอ่อนลงอย่างฉับพลัน

กลายเป็นเรื่อง "เดะเดะ"



ยิ่งหากมองถึงความเสียสละอย่างใหญ่หลวงของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ในห้วงแห่งการเคลื่อนไหวของ กปปส.จากเดือนพฤศจิกายน 2556-พฤษภาคม 2557

ยิ่งน่าเห็นใจ "ปลัดณรงค์"

ความจริงในห้วงเวลาอันทรงความหมายนั้นถือว่า "แพทย์ชนบท" กับ "ปลัดณรงค์" เป็นพวกเดียวกัน

เพราะเป้าหมายคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ความรับรู้ในทางสังคมก็คือ ไม่ว่า นพ.รัชตะ รัชตนาวิน ไม่ว่า "แพทย์ชนบท" ไม่ว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ต่างดำรง "เป้าหมาย" อัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ถือธงนำหน้าด้วยความแข็งขันและมั่นคง

เพราะ นพ.รัชตะ รัชตนาวิน เคลื่อนไหวในโฉม "อธิการบดี"

เพราะ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ และบรรดา "แพทย์ชนบท" ทั้งหลาย เคลื่อนไหวในโฉมแห่ง "คนดี" อันมาจากฐานข้าราชการ

อย่าลืม "นกหวีดทองคำ" ที่ได้รับ

อย่าลืมการมีคำสั่งลับๆ ไปยังโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศให้ขึ้นป้ายอันแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่แล้ว "สถานการณ์" ก็พลิกผัน "แปรเปลี่ยน"



หนังสืออัน "ชมรมแพทย์ชนบท" ส่งผ่านศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีน่าจะก่อความหนักใจให้เป็นอย่างสูง

1 ต่อ นายกรัฐมนตรี

1 ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

1 ต่อผู้นำ "กปปส." ซึ่งเคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมากับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ด้วยความเด็ดเดี่ยวหาญกล้า

หาญกล้าระดับ "นกหวีดทองคำ"

ต้องยอมรับว่าบทบาทของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร

ถือได้ว่าเป็น "ผลงาน"

ระยะหลังรัฐประหารจึงไม่มีการโยกย้าย และได้รับมอบหมายให้ทำงานเสมือนกับว่าเป็น "รัฐมนตรี" ระยะที่ยังไม่มีรัฐบาล

สถานะจึงเท่ากับเป็น "คนใน" คนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน หาก "แพทย์ชนบท" มีหนังสือยืนยันมาถึงระดับนี้แล้ว รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

นั่นหมายถึง การเสีย "แนวร่วม"



ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยกล่าวยอดคำเท่ว่า "การบริหารบ้านเมืองไม่เห็นจะยาก"

ล่วงมาถึงกรณีของ "ชมรมแพทย์ชนบท" ล่วงมาถึงกรณีร้องเรียนและกล่าวโทษ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นี่แหละเป็นกาละอันสำคัญอย่างยิ่งยวด

ทดสอบว่า แท้จริงแล้ว "การบริหาร" ยากหรือไม่

 



(ที่มา:มติชนรายวัน 28 มกราคม 2558)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.