ลอกมาเล่า : สอนอย่างครู โดย วิชัย ไพวงศ์
 


ลอกมาเล่า : สอนอย่างครู โดย วิชัย ไพวงศ์


 ลอกมาเล่า : สอนอย่างครู โดย วิชัย ไพวงศ์




"ศาสตร์ที่ขึ้นด้วยคณิตคิดว่ายาก

อาศัยปากอื่นเขาเฝ้าเฉลย

เราก็ลอกเรียนได้โดยไม่เชย

ครูกลับเอ่ยสมองเธอเลิศเลอนัก"

บทกลอนที่ผมยกมาข้างต้นเป็นการไหว้ครูนั้น ผมจำมาจากนิตยสาร "สารประชาชน" ซึ่งมีท่านผู้เฒ่านเรศ นโรปกรณ์ "ผู้เขียนสาวเอยจะบอกให้" อันลือลั่นเป็นผู้ควบคุมคอลัมน์ในขณะนั้น ที่บอกว่าในขณะนั้นเพราะบทกลอนดังกล่าว ได้ตีพิมพ์มานานประมาณ 50 ปี (พ.ศ.2507-2508) เห็นจะได้

ผมอ่านแล้วทึ่งว่า ใครหนอช่างเขียนได้องอาจยิ่งนัก แล้วก็มาสะดุดชื่อผู้เขียนในท้ายที่สุดว่าขรรค์ชัย บุนปาน และทราบต่อมาว่าเป็นนักเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.)

สาระของบทกลอน ผมขอแยกออกมาเป็นสองเรื่องหลักคือ

1.สิ่งที่เป็นศาสตร์ บุคคลย่อมสามารถเรียนรู้ได้

2.ครูผู้สอนต้องมีการให้กำลังใจผู้เรียน

ท่านผู้เขียนบทกลอนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว (ปัจจุบันก็ยังเขียนอยู่) คงจะได้ดำเนินการตามคำกลอนนั่น เพราะท่านได้เรียนรู้และสอนคนอยู่ทั่วไปมิได้สอนในห้องเรียนเหมือนครูคนอื่น แต่สอนผ่านสื่อที่เรียกว่า "มติชน"



คนที่จบจากสถาบันฝึกหัดครูแล้วสอน "เป็น" ที่ผมอ่านพบแล้วทึ่งมีอีกคนหนึ่งจะเรียกว่าครูระดับนานาชาติก็ได้ ท่านไม่ได้เขียนเป็นกลอนเหมือนท่านแรก แต่ท่านเขียนเป็นร้อยแก้วว่า

"รับสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ สอนอย่างละเอียดลออโดยผู้ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรวิชาครูจากวิทยาลัยโพลีเทคนิคของสมาพันธรัฐ สวิส ทดลองเรียนฟรีได้ ลงชื่ออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์"

คำประกาศดังกล่าวช่างอาจหาญแท้ "ทดลองเรียนฟรีได้" นี่ผมจำมาจากหนังสือไอน์สไตน์ ชีวประวัติและจักรวาล (ฉบับสมบูรณ์) ที่แปลโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และคณะ

"ผมเชื่อว่าความรักเป็นครูที่ดียิ่งกว่าสำนึกในหน้าที่" เป็นคำประกาศของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ฟังฟังแล้วอบอุ่นหัวใจยิ่งนัก

ผู้เป็นครูต้องมีความเชื่อมั่นว่า อะไรที่เป็นศาสตร์ต้องสอนได้ เรียนรู้ได้ และเป็นสิ่งจำเป็น ผู้สอนต้องเป็น "นาย" ของวิชาที่สอนนั้น มีความรักในวิชานั้น จึงจะทำได้ดีและไม่หลงทาง

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เก่งทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ผมจะไม่พูดถึงเพราะมีคนพูดมากแล้ว ผมจะลอกมาเล่าเฉพาะวิธีสอน การฟังดนตรีคลาสสิก ลองฟังข้อวิพากย์ของท่านในเรื่องการประพันธ์เพลงคลาสสิกที่มีอยู่ในยุคนั้น สักสามสี่คนอย่างตรงไปตรงมา แล้วจะเห็นว่าท่านเป็น "นายวิชา" เช่น

ผลงานของบีโธเฟน : มีความรู้สึกว่ามันแสดงตัวตนมากเกินไปจนเกือบจะล่อนจ้อน

ผลงานขอชูแบร์ท : สามารถถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ดีเยี่ยม

ผลงานของฮันเดล : ตื้นไปหน่อย

ผลงานของวากเนอร์ : ขาดโครงสร้างและดูต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น

ผลงานของซเตราสส์ : มีพรสวรรค์ แต่ปราศจากความจริงที่มาจากภายใน

และที่ดีอย่างยอดเยี่ยมล่ะ

โมซาร์ทและบาคเป็นเยี่ยม งานของสองคนนั่นมีโครงสร้างที่ชัดเจน ทำให้ดนตรีมีที่มาที่ไปเป็นดั่งทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่ถูกดึงมาจากเอกภพ บริสุทธิ์ ราวกับมันมีอยู่แล้วในอากาศธาตุ

ไปสู่ความรู้ด้วยกัน

"คุณชอบบาคหรือเปล่า"

"เออ ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบาคเลยครับ และไม่เคยได้ยินเพลงของเขาด้วย"

"คุณไม่เคยได้ยินเพลงของบาคเลยหรือ" ผู้พูดทำเสียงเหมือนกับว่าผู้ที่อยู่ตรงหน้านั้นไม่เคยอาบน้ำ

"คืออย่างนี้ครับ ผมไม่เคยฟังเพลงของใครจริงจัง"

เอาละซี ลูกศิษย์ไม่รู้อะไรเลย (เขาว่าอย่างนั้น)

ถือเป็นโจทย์ยากสำหรับผู้สอนแน่นอน



"ช่วยบอกผมหน่อย คุณรู้สึกอย่างนี้กับดนตรีมากแค่ไหน"

"ตลอดชีวิตเลยครับ" "ดร.ไอน์สไตน์ครับ ปล่อยผมให้โง่ต่อไปเถอะครับ ผมไม่มีความสำคัญอะไรหรอก"

"ไม่หรอก อย่าพูดอย่างนั้น"

จากสามัญสู่สูงสุด

"มีเพลงแบบไหนบ้างที่คุณชอบ"

"ผมชอบเพลงที่มีเนื้อร้องและทำนองแบบว่า เราตามได้"

"ยกตัวอย่างได้ไหม"

"เกือบทุกเพลงของบิง ครอสบี ครับ"

"ดีมาก" ไอน์สไตน์ว่า พลางเปิดเพลงของบิง

ครอสบี ที่ผู้เรียนชอบ อย่างสนุกๆ สามสี่วรรคแล้วปิดเพลง

"ร้องได้ไหม"

"ได้ครับ" แล้วนักเรียนก็ร้องทวนเพลงนั้นให้ฟัง

"เห็นไหม คุณฟังเพลงเป็น"

"ก็เป็นเพลงโปรดของผมนี่ครับ ส่วนเพลงคลาสสิก นั่น มันคนละโลกกับผมเลยทีเดียว"

"เหลวไหล" ไอน์สไตน์ตวาดด้วยภาษาดอกไม้

"จะมีครูคนไหน เขลาขนาดสอนเลขหารยาวหรือเศษส่วนให้นักเรียนเข้าใหม่เล่า มันจะทำให้นักเรียนใจปิดตายต่อเรื่องหารยาวและเศษส่วน นักเรียนก็จะไม่รู้จักความดีงามของการหารยาวและเศษส่วนเลย ดังนั้นจะต้องเริ่มเรื่องพื้นๆ ก่อน ดนตรีก็เช่นกัน"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เปิดเพลงบิง ครอสบี อีกสองสามเพลง ผู้ฟังฟังอย่างสนุกสนานและร้องตามได้ดี

"คุณเข้าใจดีแล้ว ทีนี้เราจะก้าวต่อไปพร้อมๆ กันถึงเพลงที่ซับซ้อนขึ้น"

ต่อจากนั้น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็เปิดเพลงของจอห์น แมคคอร์แม็ก โดยเปิดเพลงในห้วงสั้นๆ ตามที่ทำมาแต่ต้น ปรากฏว่าผู้ฟังร้องทวนได้อย่างถูกต้อง จนผู้ร้องเองยังประหลาดใจ

"เยี่ยม" ไอน์สไตน์ชม แล้วเปิดเพลงของนักร้องคนอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่าสิบคนอย่างหมกมุ่น จริงจัง ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เหมือนนักเรียนที่อยู่ตรงหน้าเป็นบุคคลสำคัญหนึ่งเดียว

บรรลุเป้าหมาย "บาค" และ "คลาสสิก"



อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หยิบแผ่นเสียงซึ่งมีแต่ดนตรีล้วนๆ ไม่มีเนื้อเพลง เปิดให้นักเรียนฟังและร้องฮัมตาม ปรากฏว่านักเรียนทำได้ดีใกล้เคียงพอดู

"เอาละคุณ ทีนี้เราพร้อมแล้วสำหรับบาค "พลางตบเข่าลูกศิษย์เบาๆ เป็นการให้กำลังใจและเพิ่มความเชื่อมั่น"

"ปล่อยให้ใจคุณเป็นผู้ฟังก็แล้วกัน ก็มีเท่านี้เอง"

คำสารภาพของนักเรียน/ครู

"ถ้าไร้ซึ่งความอุตสาหะที่ครูทุ่มเทให้แก่คนแปลกหน้าคนหนึ่ง ผมจะไม่มีวันได้ยินเพลงของ บาค และสามารถฟังอย่างไม่รู้เบื่อ และทุกครั้งที่ฟังเหมือนมีครูร่วมฟังอยู่ใกล้ๆ"

"อย่างไรก็ตาม ถือเสียว่าผมกับเพื่อนหนุ่มมุ่งมั่นสาละวนอยู่กับกิจการอันยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะสามารถทำได้ เปิดพรมแดนใหม่สู่ความสุนทรีย์ (เจอโรม ไวด์แมน นักเขียนอเมริกัน หนังสือรีดเดอร์ ไดเจสท์ ปี 1955 ปีที่ไอน์สไตน์เสียชีวิต)"

การเรียนรู้จะสนุกสนานและเกิดความสุขทั้งผู้สอน ผู้เรียน จะต้องขึ้นอยู่กับสภาวะประชาธิปไตย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์กล่าวว่า เสน่ห์ของประชาธิปไตยอยู่ที่ความสามารถในการยอมรับและอดกลั้นต่อความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ โดยปราศจากการบังคับและความกลัว และชีวิตก็ไม่น่าอยู่ถ้าปราศจากเสรีภาพในการแสดงออก

ขอให้คุณครูทุกท่านจงอยู่ในใจนักเรียน

 

วิชัย ไพวงศ์

อดีตที่ปรึกษา สำนักบริหารงาน

คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

กระทรวงศึกษาธิการ

 

 



(ที่มา:มติชนรายวัน 28 มกราคม 2558)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.