จับตาอัตราแลกเปลี่ยน-เงินทุนเคลื่อนย้าย
 


จับตาอัตราแลกเปลี่ยน-เงินทุนเคลื่อนย้าย


จับตาอัตราแลกเปลี่ยน-เงินทุนเคลื่อนย้าย
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อคืนวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมาได้ ได้ประกาศเข้าซื้อสินทรัพย์ 60,000 ล้านยูโรต่อเดือน ทำให้ปริมาณที่เข้าซื้อทั้งหมดถึง 1.14 ล้านล้านยูโร ถือว่าเป็นจำนวนมากกว่าที่ตลาดคาด และหลังการประกาศมาตรการดังกล่าว พบว่าตลาดการเงินในต่างประเทศตอบรับในเชิงบวก โดยตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่ามาตรการดังกล่าวของอีซีบีนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของยุโรป ลง โดยอีซีบีจะเริ่มเข้าซื้อ 19 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.58 ไปจนถึง ก.ย. 59 และอาจขยายเวลาต่อออกไป จนกว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอีซีบีในการที่จะทำให้บรรลุได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับการใช้มาตรการเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะพบข้อสังเกตว่า ในช่วงแรกของการทำคิวดีของสหรัฐฯ นั้น สามารถเข้าซื้อได้ทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยช่วงเวลาการทำคิวอี 1 เริ่มตั้งแต่ 16 ธ.ค.52 จนถึงเดือน มี.ค. 54 ได้ซื้อหลักทรัพย์ไปทั้งสิ้น 1,750 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการทำคิวอีของอีซีบีก่อนหน้านี้ทำได้เพียงการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนเท่านั้น แต่การตัดสินใจล่าสุดนี้ ทำให้สามารถเข้าซื้อตราสารภาครัฐที่อยู่ในยูโรโซนได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เนื่องจากอีซีบีเองก็เกิดจากการรวมตัวกันจากหลายประเทศในยุโรป ดังนั้น จึงค่อนข้างมีความซับซ้อนกว่าคิวอีของเฟดอยู่บ้าง เพราะนอกจากแต่ละประเทศจะเข้าซื้อหลักทรัพย์ของประเทศตนแล้ว ยังเข้าซื้อในประเทศอื่นภายในกลุ่มได้ด้วย

ทั้งนี้ การประกาศมาตรการคิวอีของอีซีบีครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ได้ติดตาม และประเมินผลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของมาตรการ รวมถึงผลข้างเคียงต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยในส่วนของธปท. จะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.