"สมบัติ"เตือนเลือกตั้งแบบผสม ก่อเผด็จการ
 


"สมบัติ"เตือนเลือกตั้งแบบผสม ก่อเผด็จการ



เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่โรงแรม เดอะสุโกศล คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) จัดโครงการสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น ในหัวข้อ "10 ประเด็นเด่นนวัตกรรมการเมืองไทย" โดยมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการ สปท. ตัวแทนนักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน และตัวแทนองค์กรต่างๆ เข้าร่วมด้วย โดยนายสมบัติ กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ หลังจากที่มีการออกกฎหมายยังไม่เคยถอดถอนนักการเมืองได้เลย ทั้งนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ สปท.เห็นว่าการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นจริง ต้องสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อน ผลักดัน กับภาคประชาสังคม ซึ่งผลที่ได้จากการสัมมนาในวันนี้จะทำการวิเคราะห์ และจัดทำรายงานเสนอต่อ สปช.ต่อไป 

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับจุดเสี่ยงจากการเลือกตั้งแบบผสมนั้น ถ้ายังไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก จะเกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอไม่มีเสถียรภาพ รวมถึงถ้าพรรคแกนนำมีเสียงเกินครึ่ง จะทำให้เกิดเผด็จการ รัฐบาลบงการได้ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ส่วนจุดเสี่ยงในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กำหนดให้ ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 650 คน เป็นผู้ตัดสินใจโดยใช้เสียงข้างมาก ถ้าพรรคแกนนำรัฐบาลผสมจัดตั้งพรรค โดยมี ส.ส.สนับสนุนเกิน 330 เสียง การถอดถอนจะไม่มีโอกาสสำเร็จ ซึ่งถ้าไม่สามารถถอดถอนผู้ประพฤติมิชอบได้ การทุจริตจะยิ่งแพร่ระบาด

ด้านนายยุทธพร กล่าวว่า ปัญหานักการเมืองไม่ได้เติบโตจากธรรมชาติ แต่เติบโตจากกฎหมาย เพราะไม่มีฐานเชื่อมโยงกับประชาชนโดยแท้จริง และหนีไม่พ้นที่ต้องใช้เงินทุนดำเนินกิจการพรรคการเมือง ท้ายที่สุดจึงต้องมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ซึ่งการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน แต่ปัญหาอยู่ที่พรรคการเมืองเหล่านี้มีฐานคะแนนเสียงที่มาจากประชาชนในท้องถิ่น ตนเห็นว่าการเลือกตั้งแบบสัดส่วนอาจจะเหมาะสมกับประเทศที่กระจายอำนาจแบบสมบูรณ์ แต่ประเทศไทยการกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังคงมีการพึ่งพิงนักการเมืองสูง และะหนีไม่พ้นประชาชนวิ่งเข้าหานักการเมือง จึงทำให้เกิดเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนตามมา

ขณะที่ นายสุริยะใส กล่าวว่า ตนขอสื่อไปถึง กมธ. ปฏิรูปการเมือง และ สปช.ว่า ปัญหาการเมืองในสังคมไทยอยู่นอกรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องอำนาจทุน ที่ไม่เห็นการออกแบบเส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐ อำนาจทุน อย่าให้เข้ามาปะปน โดยเฉพาะในพื้นที่ท้องถิ่น ที่เกิดปัญหานายทุนเข้ามามีบทบาท หากไม่แก้ไขเชื่อว่าระบบไหนก็เอาไม่อยู่ สุดท้ายเราจะได้นักเลือกตั้งแบบเดิม ๆ ส่วนการถอดถอนที่ไม่เคยริเริ่ม และไม่เคยถอดถอนได้ คือ การถอดถอนระดับท้องถิ่น ควรให้มีการริ่เริ่มได้แล้ว ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าต้องปฏิรูปจุดอ่อนของกระบวนการถอดถอน ฝากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเขียนให้ชัดว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องมาชี้แจงสภาฯ ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มาแค่แถลงเปิดและแถลงปิดสำนวนคดี. 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.