นักเศรษฐศาสตร์มั่นใจศก.ไทย 3-6 เดือนข้างหน้าดีขึ้น
 


นักเศรษฐศาสตร์มั่นใจศก.ไทย 3-6 เดือนข้างหน้าดีขึ้น


 นักเศรษฐศาสตร์มั่นใจศก.ไทย 3-6 เดือนข้างหน้าดีขึ้น
mavikthumbnails/thumbnails/450x153-images-stories-article2014-3021-jjjj116.png">กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็น          นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 72 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 12 – 20 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่า

ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 24.51(เต็ม 100) ลดลงเล็กน้อยจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 25.67 ซึ่งการที่ดัชนีมีการปรับตัวลดลงและค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแออยู่เป็นอย่างมาก  เมื่อวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนพบว่าทุกปัจจัยค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50  โดยเฉพาะปัจจัยด้านการส่งออกสินค้า(ดัชนีเท่ากับ 7.75)  การลงทุนภาคเอกชน(ดัชนีเท่ากับ 17.61) และการบริโภคภาคเอกชน(ดัชนีเท่ากับ 18.31) ที่อยู่ในสถานะอ่อนแอเป็นอย่างมาก  ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐซึ่งถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเดียวที่ทำงานได้ดีกว่าปัจจัยอื่นแต่ค่าดัชนีก็ยังคงอยู่ในระดับ 38.03  เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับ 40.85 ซึ่งต่ำกว่า 50

ด้านความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 เดือนข้างหน้า  ค่าดัชนีอยู่ที่ 70.35 ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา   (ค่าดัชนีเท่ากับ  76.11)  เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 80.99 ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา(ค่าดัชนีเท่ากับ  86.72) การที่ค่าดัชนียังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ค่อนข้างมาก  สะท้อนให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน  แต่ความมั่นใจดังกล่าวมีระดับที่ลดลงจากการสำรวจ 2 ครั้งก่อนหน้า  แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะอยู่ในภาวะฟื้นตัวและจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน  แต่การดีขึ้นดังกล่าวไม่ได้กินระยะเวลานาน หากแต่กินระยะเวลาเพียงสั้นๆ  เพียง  5-6  ไตรมาสเท่านั้น  

เมื่อพิจารณาปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าพบว่าทุกปัจจัยค่าดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50แสดงให้เห็นว่าทุกปัจจัยขับเคลื่อนจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน  อย่างไรก็ตามหากพิจารณาแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าก็จะพบว่าค่าดัชนีปรับลดลงเกือบทุกปัจจัย (ยกเว้นการส่งออกสินค้าใน 6 เดือนข้างหน้าที่ดีขึ้นเล็กน้อย) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความมั่นใจที่ลดลงต่อปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างๆ    

ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของ       วัฏจักร  พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.1 เห็นว่าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery) รองลงมาร้อยละ 33.3 เศรษฐกิจถดถอย (Recession) และร้อยละ  11.1 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ (Trough) มีเพียงร้อยละ1.4 ที่เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงรุ่งเรือง (Peak) เมื่อแบ่งวัฏจักรออกเป็น 2 ฟาก คือ ฟากเศรษฐกิจขยายตัวจนถึงจุดสูงสุด(ร้อยละ 44.5) และ ฟากเศรษฐกิจถดถอยจนถึงจุดต่ำสุด(ร้อยละ 44.4) แล้วเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจะพบว่า เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในภาวะขยายตัว

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า
(1)   เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเป็นอย่างมาก    
(2)   แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ  
(3)   นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน  แต่ความมั่นใจดังกล่าวมีระดับที่ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนหน้า  แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะอยู่ในภาวะฟื้นตัวและจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน  แต่การดีขึ้นดังกล่าวไม่ได้กินระยะเวลานาน หากแต่กินระยะเวลาเพียงสั้นๆ  เพียง  5-6  ไตรมาสเท่านั้น  
(4)   วัฏจักรเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ในในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery)






 

Read : 828 times

* );

// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.