รู้จักไหม "ตุ๊กกาย" ที่สวนสัตว์โคราชค้นพบ3พันธ์ุใหม่ของโลก เรืองแสงได้ ใกล้สูญพันธุ์
 


รู้จักไหม "ตุ๊กกาย" ที่สวนสัตว์โคราชค้นพบ3พันธ์ุใหม่ของโลก เรืองแสงได้ ใกล้สูญพันธุ์


 รู้จักไหม


สวนสัตว์โคราชค้นพบตุ๊กกายชนิดใหม่ของโลกเพิ่มอีก 3 ชนิด ตุ๊กกายสนุก ตุ๊กกายกันยา และตุ๊กกายดอยสุเทพ สามารถเรืองแดงได้กลางคืน นักวิจัยห่วงตุ๊กกายบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ เพราะมีการระเบิดภูเขาหินทำปูนซีเมนท์


http://www.matichon.co.th/online/2015/01/14214843971421484449l.jpg

วันนี้ (17 ม.ค. 58) ที่ส่วนแสดงสัตว์เลื้อยคลาน สวนสัตว์นครราชสีมา ต.ไชยมงคล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายกีรติ กันยา นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน ได้นำสัตว์ชนิดใหม่ของโลก มีชื่อว่า ตุ๊กกาย 3 สายพันธุ์ ที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ ประกอบด้วย ตุ๊กกายสนุก ตุ๊กกายดอยสุเทพ และตุ๊กกายกันยา หรือตุ๊กกายหินผางาม รวม 5 ตัว มาจัดแสดงในตู้โชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงามของสัตว์ชนิดใหม่ ซึ่งหาชมได้ยากมาก

สำหรับตุ๊กกายสนุก ถูกค้นพบที่ถ้ำสนุก จ.ชุมพร มีลักษณะปลายหัวแบนและแหลม ลำตัวเรียวยาว หางเรียวมาก หัวสีน้ำตาลอ่อนตัดขอบด้วยเส้นสีเหลือง ท้ายทอยสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวเป็นลายสลับสีน้ำตาลกับเหลือง อาศัยอยู่ตามแนวเขาหินปูนและบนต้นไม้ ปัจจุบันพบเพียงบริเวณเขาหินปูนเพียงจุดเดียวใน จ.ชุมพร และยังไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์คุ้มครองของประเทศ

ขณะที่ ตุ๊กกายดอยสุเทพ ค้นพบในเขตพื้นที่อุทยานดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้น เป็นตุ๊กกายขนาดกลาง หัวสีน้ำตาลเข้มและมีรายร่างแหสีเหลือง โดยตุ๊กกายดอยสุเทพนี้ ยังมีลักษณะพิเศษ คือร่างแหสีเหลืองสามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน อาศัยตามลำธารในป่าดิบแล้ง ระดับความสูง 400-1,600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เป็นตุ๊กกายชนิดใหม่ของโลกที่ยังไม่มีการค้นพบที่ไหนมาก่อน

ส่วนตุ๊กกายกันยา หรือตุ๊กกายหินผางาม ถูกค้นพบที่หินผางาม อ.หนองหิน จ.เลย โดยนายกีรติ กันยา นักวิจัยทีมสำรวจของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์นครราชสีมา จึงตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้คนพบ ซึ่งทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยสัตว์เลื้อยคลานก่อนค้นพบตุ๊กกายชนิดนี้โดยบังเอิญ เมื่อมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา หลังวิเคราะห์ทางพันธุกรรมพบว่ายังไม่ตรงกับสัตว์เลื้อยคลานที่เคยถูกค้นพบชนิดใดมาก่อน จึงยกให้เป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลก มีการตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารนานาชาติ Zootaxa ทั้งนี้ ตุ๊กกายกันยามีขนาดค่อนข้างใหญ่ โตเต็มวัยยาวประมาณ 87.9 มิลลิเมตร หัวมีลายจุด ตาโต แถบคาดคอมีสีน้ำตาลเข้ม หางเรียวยางเป็นบั้ง ลำตัวเป็นเกล็ดสีน้ำตาลเข้มสลับเหลืองไม่เป็นระเบียบ มีตุ่มเกล็ดบนหลัง 19 แถว และมีเกล็ดท้อง 34 แถว ดูสวยงามและแปลกตาเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้นายกีรติ กันยา นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน เปิดเผยว่า สำหรับตุ๊กกายนั้น เป็นสัตว์เลื้อยคลานตระกูลเดียวกันกับตุ๊กแกและจิ้งจก มีรูปร่างคล้ายตุ๊กแกแต่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งตุ๊กกายจะเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น มักจะพบอาศัยอยู่ในป่าเขา ที่เป็นภูเขาหินและในถ้ำทุกภาคของประเทศไทย ปัจจุบันค้นพบประมาณ 30 สายพันธุ์ และบางสายพันธุ์เริ่มจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากมีมนุษย์เข้าไปทำลายที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะตุ๊กกายหมอราวัณ ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันเริ่มค้นพบได้ยากแล้ว เพราะมีการระเบิดภูเขาหินปูน เพื่อทำอุตสาหกรรมปูนซีเมนท์ ทำให้ระบบนิเวศของตุ๊กกายหมดไปจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้นทางสวนสัตว์นครราชสีมา จึงได้พยายามค้นหาตุ๊กกายแต่ละชนิด เพื่อมาทำการเพาะเลี้ยง อนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ในอนาคต นายกีรติฯ กล่าว





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.