วิกฤตราคาน้ำมันร่วง "ละตินอเมริกา" แขวนอนาคตกับ "พญามังกรจีน"
 


วิกฤตราคาน้ำมันร่วง "ละตินอเมริกา" แขวนอนาคตกับ "พญามังกรจีน"


วิกฤตราคาน้ำมันร่วง

ราคาน้ำมันที่ร่วงสู่ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันแล้ว ยังเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในแถบละตินอเมริกา ว่ามหาอำนาจแห่งเอเชียพร้อมจะโอบอุ้มพันธมิตรที่เจอพิษน้ำมันดิ่งหรือไม่

หลัง ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา บากหน้ามาขอความช่วยเหลือทางการเงินจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ และได้เข้าหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นายมาดูโรได้ออกมาประกาศว่า จีนให้คำมั่นจะเข้าไปลงทุนด้านพลังงาน และโครงการอุตสาหกรรมในเวเนซุเอลาเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในทศวรรษหน้า แต่กลับไม่มีความชัดเจนว่า แดนมังกรจะขยายเวลาการชำระหนี้หรือให้เงินกู้เพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ที่กำลังเจอมรสุมรายได้จากน้ำมันหด เงินเฟ้อพุ่ง และขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค

นายหง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่า จีนจะขยายเครดิตไลน์วงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ที่ให้กับเวเนซุเอลา ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนหน้าหรือไม่

ท่าทีคลุมเครือของพญามังกรในการให้ความช่วยเหลือเวเนซุเอลา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนเองอยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนต้องการจากประเทศละตินอเมริกาอยู่ในช่วงขาลง ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศในภูมิภาคดังกล่าวซึ่งหันมาซบอกจีนในฐานะแหล่งเงินกู้รายใหญ่ เนื่องไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จากองค์การระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)



ทศวรรษที่ผ่านมา จีนให้เงินกู้แก่ชาติละตินอเมริกาไปแล้วมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับน้ำมันดิบ เฉพาะเวเนซุเอลาก็มากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์คาดว่า กว่าครึ่งของน้ำมันดิบ 600,000 บาร์เรลต่อวันที่ประเทศดังกล่าวขายให้กับต่างชาติถูกส่งไปยังจีนเพื่อเป็นดอกเบี้ยเงินกู้

เนื่องจากธนาคารรัฐวิสาหกิจตลอดจนภาคธุรกิจของจีนถือเป็นหน้าใหม่ในวงการการลงทุนและการเงินโลกจึงยังไม่เคยเผชิญกับวัฏจักรฟุบ-ฟื้น ที่นักลงทุนจากภูมิภาคอื่นคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทำให้ขาดแผนรับมือที่รัดกุมหากลูกหนี้เบี้ยวหนี้

นายเควิน กัลลาเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากมหาวิทยาลัยบอสตันระบุว่า "ทุกคนกำลังจับตาดูว่าจีนจะจัดการกับปัญหาผิดนัดชำระหนี้ยังไง เพราะจีนยังไม่เคยเจอปัญหาลักษณะนี้มาก่อน" พร้อมกับประเมินว่า กว่าครึ่งของสินเชื่อมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์จีนที่ปล่อยให้กับประเทศละตินอเมริกาเป็นหนี้ที่มีสินค้าโภคภัณฑ์หนุนหลัง

ในฐานะประเทศที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันสูงกว่า90% ของรายได้ภาครัฐ ราคาน้ำมันที่ลดต่ำสุดในรอบ 5 ปีส่งผลให้เวเนซุเอลาขาดรายได้ไปมหาศาล เงินเฟ้อทะยานสูงกว่า 60%

ประเทศดังกล่าวต้องการเงินกู้ก้อนใหม่ เพื่อซื้อสินค้าจำเป็นซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ณ ราคาน้ำมันที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เวเนซุเอลาจำเป็นต้องมีเงินมาอุดช่องว่างของรายได้น้ำมันราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์

แม้จีนให้คำมั่นว่าจะลงทุนในเวเนซุเอลาเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ก็เป็นโครงการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลนายมาดูโรจะนำเงินก้อนนี้ไปซื้อสินค้านำเข้าหรือประคับประคองเศรษฐกิจที่ใกล้ล้มละลายได้ และต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าโครงการลงทุนจะเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นเศรษฐกิจเวเนซุเอลาอาจพังครืนไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เวเนซุเอลายังมีความหวังว่าจีนจะขยายเวลาชำระหนี้หรือให้เงินกู้เพิ่มเติม หลังเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC) เช่นเดียวกับเวเนซุเอลาประกาศว่า ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีนตกลงยืดหนี้มูลค่า 5.3 พันล้านดอลลาร์ออกไป เพื่อช่วยเหลือสถานะการคลังของประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2552 จีนปล่อยสินเชื่อให้เอกวาดอร์แล้ว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ปัจจุบันจีนครองสัดส่วน 30% ของหนี้นอกประเทศของเอกวาดอร์และเป็นผู้ซื้อน้ำมันของประเทศนี้ครึ่งหนึ่งของปริมาณส่งออกทั้งหมด

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าจีนจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเวเนซุเอลา และประเทศละตินอเมริกาอื่นๆ ในที่สุด เพราะมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้มากเกินกว่าจะปล่อยให้ล้มคว่ำ

นอกจากด้านพลังงานแล้วจีนยังเข้าไปลงทุนด้านโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน ปีที่แล้วประธานาธิบดีสีประกาศว่าการค้าระหว่างจีนกับละตินอเมริกาจะเพิ่มเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์ภายในทศวรรษหน้า ส่วนมูลค่าการลงทุนโดยตรงจะทะลุ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นการซื้อใจให้ละตินอเมริกายืนข้างจีนต่อไป แม้ทำเลที่ตั้งจะอยู่ใกล้สหรัฐมากกว่า




เรียบเรียงโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.