สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ′พระมหากษัตริย์′ในมุมของคนธนบุรี
 


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ′พระมหากษัตริย์′ในมุมของคนธนบุรี


 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ′พระมหากษัตริย์′ในมุมของคนธนบุรี


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ′พระมหากษัตริย์′ในมุมของคนธนบุรี

โดย วิภา จิรภาไพศาล [email protected]



(ซ้าย) พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ท่าเทียบเรือ กองทัพเรือ พระราชวังเดิม
(ขวา) พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในพระราชวังเดิม


หากกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แน่นอนเราท่านคงนึกถึงพระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์ ในบทบาทของ "วีรบุรุษผู้กอบกู้ชาติ" การรวบรวมผู้คนไปรบกับพม่าและกู้เอกราชของชาติ

นอกจากนี้ จินตนาการหรือภาพเกี่ยวกับพระองค์ ที่เรามักจะนึกถึงก็เป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระองค์, ความสนพระราชหฤทัยในพุทธศาสนาและวิปัสสนาธุระ, ช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ (ที่มีหลากหลายเวอร์ชั่นด้วยกัน) ฯลฯ ซึ่งอ้างอิงจากพระราชพงศาวดาร, ตำนาน และการเล่าขานปากต่อปาก 

แต่ที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการบริหารกิจการบ้านเมืองในฐานะของ "พระมหากษัตริย์" 

เรื่องที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกันนี้ นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนมกราคม นำเสนอไว้ในบทความที่ชื่อว่า "′โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี′ วรรณคดีในฐานะเอกสารประวัติศาสตร์ : พระราชประวัติในมุมมองราชสำนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" โดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 

โดยทั่วไปการสืบค้น อ้างอิง พระราชประวัติ, พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีต มักใช้ "พระราชพงศาวดาร" เป็นสำคัญ

ทำไมปฐมพงษ์เลือกใช้ "โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี" ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นวรรณกรรมประเภทสรรเสริญ ยกย่องคุณความดีของบุคคล ผู้อ่านบางท่านอาจตั้งคำถามว่า เลือกใช้เอกสารเช่นนี้จะเกิด "อคติ" หรือไม่


บรรยากาศงานบวงสรวงวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดปากพิงตะวันตก จ.พิษณุโลก


หากเขาตั้งข้อสังเกตว่า พระราชพงศาวดารที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งมีไม่มากนั้นมี "การดิสเครดิต" พระองค์ 

ตัวอย่างที่ผู้เขียน (ปฐมพงษ์) ชวนให้สังเกต คือ พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่มีการชำระใน พ.ศ.2338 ว่าคำศัพท์ที่ใช้กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีทั้งคำราชาศัพท์ และคำที่ใช้กับสามัญชน เช่น

การใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า "พระเจ้าอยู่หัวอันมีอภินิหารนับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้า" ที่แสดงถึงความเป็นกษัตริย์ และใช้ว่า "เจ้าตากสิน" เสมือนพระองค์เป็นสามัญชน หรือการเลือกใช้คำว่า "ประหารชีวิตตัดศีรษะ" แทนคำว่า "สำเร็จโทษ" ฯลฯ ซึ่งสันนิษฐานว่าศัพท์สามัญชนที่ใช้กับพระองค์จะเกิดขึ้นหลังการชำระหรือไม่

ส่วนที่ปฐมพงษ์เลือกใช้โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยเหตุว่าเอกสารประวัติศาสตร์ประเภทวรรณกรรมไม่มี"การชำระ" โดยบุคคล หรือคณะบุคคลในยุคหลัง


หนังสือ "วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม 1" ของกรมศิลปากร ที่รวบรวมวรรณคดีสมัยกรุงธนบุรี
รวมถึงโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี


ขณะที่โคลงยอพระเกีรยติพระเจ้ากรุงธนบุรี มีผู้เขียนเป็นบุคคลที่ร่วมเหตุการณ์ โดยรับราชการเป็นมหาดเล็กของราชสำนักกรุงธนบุรี และเนื้อหากล่าวถึงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในช่วงต่างๆ เช่น เมืองปัตตานีถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองต่อกรุงธนบุรี, เจ้าหัวเมืองต่างๆ ถวายธิดาเป็นพระสนม, การให้ความช่วยเหลือพระรามาธิบดีจากกัมพูชาที่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ฯลฯ

หากในพื้นที่อันจำกัดนี้ ขอยกเรื่องของ "การปราบดาภิเษก" ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่กล่าวถึงสถานการณ์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ไม่ได้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา จึงมีทั้งการยอมรับและไม่ยอมรับจาก ประชาชน, ขุนนาง, เจ้าเมือง ฯลฯ บางกลุ่มก็รวมกลุ่มตั้งก๊กไม่ยอมรับอำนาจสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแข็งเมืองได้ ดังนี้
ใครอาตมตั้ง             ตัวผจญได้ฤๅ
พ่ายพระกุศลพล       ทั่วท้าว
ปราบดาภิเษกบน       ภทรบิฐ บัวแฮ
สมบัติสมบูรณ์ด้าว     แด่นฟ้ามาปาน
ใครที่โมหะมืดไหม้     สะเทือนฤทธิ์
รอยว่าเวรตามปลิด    ชีพม้วย
ที่แข็งแข่งอิทธิฤทธิ์   ภูวนารถ
ย่อมระยำยับด้วย       ปิ่นเกล้าธรณี

ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ขอท่านได้โปรดอ่านใน "ศิลปวัฒนธรรม" ว่า พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในฐานะพระมหากษัตริย์ที่บันทึกในวรรณคดีเรื่องโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีจากการบอกเล่าของราชสำนักธนบุรีเป็นอย่างไร

อ่านจบแล้วเทียบเคียงกับเอกสารอื่นที่บันทึกถึงพระองค์ท่านดูช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์อีกทียิ่งดีให้ว่ามี"อคติ"แฝงอยู่จริงหรือเท็จประการใด



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.