วีรพงษ์ รามางกูร : การส่งออกสำคัญอย่างไร
 


วีรพงษ์ รามางกูร : การส่งออกสำคัญอย่างไร


 วีรพงษ์ รามางกูร : การส่งออกสำคัญอย่างไร





เราคงจะสังเกตกันได้ ทุกครั้งที่เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มักจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับภาวะการส่งออกชะลอตัวและตลาดการท่องเที่ยวซบเซาไปด้วย ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจก็มาพร้อมๆ กับกำลังซื้อของครัวเรือนภายในและการลงทุนภายในประเทศก็ชะลอตัวลงไปด้วย เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่อย่างนี้

เมื่อเกิดสภาวการณ์ดังกล่าว ก็มักจะมีนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายรัฐบาลออกมาให้ความเห็นว่า เป็นเพราะประเทศเราพึ่งพาการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยวมากเกินไป เราควรจะลดความสำคัญของรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวลง หันมาเพิ่มความต้องการของตลาดภายในประเทศให้มากขึ้น จะได้พึ่งพาตลาดต่างประเทศน้อยลง เศรษฐกิจของเราจะได้ไม่ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดต่างประเทศ เมื่อตลาดส่งออกดี ตลาดการท่องเที่ยวฟื้นตัว ความเห็นเหล่านี้ก็หายไป ไม่มีใครทำอะไรต่อจนเมื่อเกิดภาวะซบเซาหรือชะลอตัว ก็จะได้ยินความเห็นดังกล่าวนี้กลับมาอีก วนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ยินอย่างนี้อีกแล้ว

สำหรับประเทศที่มีขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก อีกซ้ำยังมีรายได้ต่อหัวหรือต่อครัวเรือนต่ำ หรือปานกลางก็แล้วแต่ การลงทุนผลิตอะไร ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางด้านการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ไก่ ไข่ กุ้ง ปลากระป๋อง หรืออื่นๆ ถ้าผลิตแล้วใช้บริโภคในประเทศเท่านั้นก็ไม่มีทางจะปลูกหรือผลิตเป็นจำนวนมากจนให้ราษฎรยึดถือเป็นอาชีพได้ เพราะขนาดของตลาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับความสามารถหรือศักยภาพการผลิต สินค้าเกษตรหลายอย่างหลายชนิดที่เราผลิตอยู่ต้องพึ่งตลาดต่างประเทศมากกว่าตลาดในประเทศด้วยซ้ำ ที่เราผลิตแล้วส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศได้ก็เพราะเรามี "ความได้เปรียบเชิงเทียบ" หรือ "comparative advantage" ในการผลิตสินค้าเหล่านี้ ถ้าไม่มีตลาดต่างประเทศให้เราส่งออกเราก็คงผลิตได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เราผลิตได้ในขณะนี้

สินค้าทางด้านอุตสาหกรรมก็เหมือนกันถ้าจะผลิตให้มีต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ก็ต้องผลิตของเป็นจำนวนมาก และมากกว่าที่ตลาดภายในประเทศต้องการ และต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศด้วย หากจะผลิตเท่าที่ "ทดแทนการนำเข้า" หรือ "import substitute" เท่านั้นก็จะไม่มีทางมีอุตสาหกรรมที่แข็งแรง ที่สามารถผลิตของที่มีคุณภาพหรือราคาถูก เพราะขนาดของตลาดที่เล็กทำให้ผลิตได้น้อยและในที่สุดก็ต้องล้มไป เพราะสู้สินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดไม่ได้ ถ้าไม่มีกำแพงภาษีช่วยคุ้มกันเพื่อให้มีราคาแพง การส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญเหมือนกับสินค้าเกษตรกรรม



สําหรับเศรษฐกิจภาคบริการเช่น โรงแรม รีสอร์ต ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ชายหาดริมทะเล การขายส่งขายปลีกภายในประเทศ รวมทั้งการขนส่ง สายการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ หากจะลงทุนเพื่อซื้อกันเองภายในประทศก็คงจะทำได้ไม่ยาก แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวนักเดินทางจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาพักมาซื้อมาใช้บ้าง การลงทุนในอุตสาหกรรมภาคบริการก็ย่อมจะเป็นไปได้

รายรับจากการส่งออกสินค้าและบริการ แต่ละปีจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อย ย่อมประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญๆ 3 อย่างด้วยกัน กล่าวคือ ปริมาณการส่งออก ราคาสินค้าหรือบริการที่ส่งออกที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร หยวน เยน เป็นต้น และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินตราต่างประเทศเหล่านั้น

ถ้าปีใดปริมาณการส่งออกดี ราคาดี ค่าเงินบาทไม่แข็ง รายได้ของประชาชนผู้ผลิตสินค้าหรือบริการส่งออกก็จะสูง ถ้าปริมาณส่งออกสูงแต่ราคาไม่ดี ค่าเงินบาทแข็ง รายได้ของผู้ส่งออกก็จะไม่ดีเท่าในกรณีแรก เป็นต้น ดังนั้น ถ้าจะส่งเสริมการส่งออกให้ได้ผล ก็ต้องผลักดันปริมาณการส่งออกให้ได้มาก ซึ่งคงจะขึ้นอยู่กับว่า ราคาและคุณภาพสินค้าส่งออกของเราแข่งขันกับผู้อื่นได้หรือไม่ เป็นของที่คู่กัน

ทีนี้ลองมาดูภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศบ้าง ถ้าปีใดราคาสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของเรา เป็นต้นว่า ข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ไก่ กุ้ง อาหาร และอื่นๆ ส่งออกได้ในปริมาณมาก ราคาดี ต่างประเทศมีความต้องการสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจในบ้านเขาขยายตัวดี คนมีงานทำ อัตราการว่างงานมีน้อยลง ราคาสินค้าเกษตรและการประมงเหล่านี้ดีขึ้นก็ทำให้รายได้ของครัวเรือนในชนบทซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมของเราเองสูงขึ้นก็จะพลอยดึงภาคอุตสาหกรรมของเราให้ขยายตัวขึ้น แต่ถ้าปีใดการส่งออกของสินค้าภาคเกษตรซบเซา ทั้งปริมาณและราคา รวมทั้งค่าเงินบาทก็แข็งตัวด้วย รายรับของครัวเรือนในภาคเกษตรก็จะซบเซา รายได้ของครัวเรือนก็จะชะลอตัว การบริโภคของครัวเรือนก็จะชะลอตัวลงไปด้วย

สำหรับภาคเกษตรนั้น ขณะที่ทำการผลิตเกษตรกรจะยังไม่ทราบว่าราคาที่ตนจะขายได้เป็นเท่าไหร่ ดังนั้น ราคาสินค้าเกษตรในฤดูเก็บเกี่ยวครั้งที่แล้วจึงมีความสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม เกษตรกรมักทำการผลิตอย่างเต็มที่เต็มกำลังอยู่เสมอ ไม่ว่าราคาสินค้าเกษตรจะออกมาอย่างไร อย่างมากก็อาจจะมีการปลูกทดแทนกันบ้างระหว่างอ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ส่วนยางพาราซึ่งเป็นไม้ยืนต้น การสับเปลี่ยนกันระหว่างปาล์มน้ำมันกับยางพาราต้องใช้เวลานานและมีต้นทุนสูง

ภาคอุตสาหกรรม การตอบสนองต่อราคาและตลาดส่งออกจะไม่เหมือนภาคเกษตร ที่ผลิตใกล้ระดับเต็มกำลังความสามารถหรือศักยภาพเสมอ ราคาที่ชาวไร่ชาวนาได้รับจึงเป็นตัวหลักในการปรับขึ้นลง เช่นเดียวกันกับภาคบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคารที่พักผ่อนหย่อนใจ บริการการบินและอื่นๆ ส่วนภาคอุตสาหกรรมตัวที่เป็นตัวปรับขึ้นลงตามภาวะตลาดก็คือปริมาณการผลิต ซึ่งมักจะวัดด้วยสัดส่วนของการใช้กำลังการผลิตหรือ "capacity utilization" ว่าอุตสาหกรรมใช้กำลังการผลิตเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิต โดยเพิ่มหรือลดจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิต ซึ่งจะมีผลต่ออัตราการว่างงานที่มีการประกาศเสมอในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะจำนวนของผู้รับจ้างกว่าร้อยละ 95 อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

ปี 2558 เป็นปีที่โชคไม่ดี เพราะราคาสินค้าทุกชนิดตกหมด ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกประสบกับปัญหาเศรษฐกิจชะงักงันซบเซา สืบเนื่องมาจากปี 2557 ที่ผ่านมาและคงจะต่อเนื่องมาปีนี้ด้วย



ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าขั้นปฐม ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ตั้งแต่ น้ำมันดิบ แร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งสินค้าเกษตรต่างๆ พากันลดราคาพร้อมๆ กันหมดทุกตัว ในที่สุดราคาน้ำมันก็พังทลายลง พร้อมๆ กับเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ประเทศรัสเซีย และอาจจะลามต่อไปยังประเทศอื่น

รายได้ของครัวเรือนที่เป็นฐานสำคัญ สำหรับรองรับการขยายตัวของตลาดสินค้าภาคอุตสาหกรรมบริการ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตรต่างพากันหดตัวลงเพราะรายได้จากการส่งออกของเรา นอกจากไม่ขยายตัวแล้วยังหดตัวด้วยซ้ำไป

การจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐบาล ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ เมื่อเทียบกับการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และใน 18 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นงบประจำ อันได้แก่ งบเงินเดือน ค่าจ้าง ครุภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆ เสีย 75 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อาจจะใช้เพื่อนโยบายในการลงทุน การลงทุนสมัยนี้ก็ใช้เครื่องมือเครื่องจักรและพลังงานเป็นส่วนใหญ่ และไม่มากพอที่จะไปชดเชยภาวะตกต่ำของราคาและปริมาณของการส่งออก และยิ่งถ้าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งขึ้นไม่อ่อนลง ก็ยิ่งไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดความซบเซาเศรษฐกิจได้เลย


การกระตุ้นผลักดันการส่งออกในปี2558 นี้จึงจำเป็น

 


 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน15 ม.ค.2558)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.