อินเดียเวียดนามตีตลาดไทยในอียู
 


อินเดียเวียดนามตีตลาดไทยในอียู


อินเดียเวียดนามตีตลาดไทยในอียู
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากการที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรป (อียู)15ประเทศ ในสินค้าไทยทุกชนิดกว่า6,200รายการว่า ตั้งแต่ปี 58 ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกไปกลุ่มประเทศยุโรปต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,375 ล้านบาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้ความสามารถการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดยุโรปลดลง และคาดว่ามูลค่าส่งออกไทยไปยุโรปในปี 58 มีมูลค่า 21,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากปีก่อน 0.3% ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี

“ผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพี ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังอียูหายไป848 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 28,400 ล้านบาท และกระทบต่อจีดีพี0.36% ซึ่งหากรวมการถูกตัดสิทธิจีเอสพีในแคนาดา และตุรกี เข้าไปด้วยจะทำให้มูลค่าส่งออกลดลงรวม943ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 31,500 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี0.40%โดยมูลค่าการส่งออกที่ลดลงนั้น พบว่าผู้ค้าจากอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้ามาแย่งตลาดแทนและอาจแย่งส่วนแบ่งมากขึ้น หากสินค้าไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้”

สำหรับสินค้าที่อียูหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้เปรียบราคาแทน หลังจากไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี เช่น สับปะรด ได้รับผลกระทบ 60 ล้านดอลลาร์, ของปรุงแต่งจากกุ้ง 33.4 ล้านดอลลาร์, ยานยนต์ 20.8 ล้านดอลลาร์, กุ้งสดและแช่แข็ง, 20.2 ล้านดอลลาร์, ปลาหมึกแช่แข็ง, 17.7 ล้านดอลลาร์, ยางนอกรถยนต์ 12.2 ล้านดอลลาร์, ถุงมือยาง 11 ล้านดอลลาร์, เลนส์แว่นตา 9.3 ล้านดอลลาร์, เครื่องปรับอากาศ 9.3 ล้านดอลลาร์, รองเท้า 6.6 ล้านดอลลาร์ และ อื่น ๆ อีก 49 ล้านดอลลาร์

ด้านการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปนอกจากจะประสบปัญหาเรื่องของการถูกตัดสิทธิจีเอส พีแล้วก็ได้รับผลกระทบจากตลาดยุโรปประสบปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจและค่าเงิน บาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรสูงสุดในรอบ19เดือนด้วย

ส่วนแนวทางการปรับตัว และเตรียมรับมือกับการตัดสิทธิจีเอสพีนั้น ไทยควรเร่งใช้สิทธิจากข้อตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) ต่าง ๆ ในอาเซียนให้มากขึ้น และควรย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ นอกจากนี้ ควรต้องเร่งหาแนวทางกลยุทธ์ปรับตัวเช่น การหานวัตกรรมใหม่ และพยายามลดต้นทุน เพื่อเพิ่มมูลค่า และคุณภาพให้แก่สินค้า และควรเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ทดแทนตลาดอียู เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเร่งหาโอกาสเจรจากับอียู เพื่อผลักดันเอฟทีเอ หรือเจรจาให้อียูคงสิทธิจีเอสพีให้ในบางสินค้า

นายอัทธ์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าไทยภาพรวมในปี 58 สดใสกว่าปี 57 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.0-4.9% มูลค่า 229,866-238,923 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโอกาสที่น่าจะเป็นมากที่สุดคือ ขยายตัวได้ 3.1% มูลค่า 234,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 57 ที่คาดว่าจะติดลบ 0.4%

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายตลาดจะพบว่า ตลาดสหรัฐคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 57 เป็น 4.2% ในปี 58 หรือมีมูลค่า 24,802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ปีนี้เป็น 3.1% ส่วนตลาดอียู ส่งออกติดลบ 0.3% มี ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นคาดว่าจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยติดลบ 0.5% มูลค่า 21,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2/57 จากการปรับเพิ่มภาษี ขณะที่ตลาดอาเซียนเดิม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% มูลค่า 40,591 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหดตัว 2.9% ในปี 57 เนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ขยายตัวดีขึ้น

“ในภาพรวมแม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ไทยไม่ได้เปรียบมากนัก เนื่องจากยังอ่อนค่าน้อยกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น ทั้งนี้ มองว่า เงินบาทที่ระดับเฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.