ถนนยางพาราคุ้ม! ทนนาน12ปี-ไม่มีซ่อม "ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา"มีสูตร-พร้อมลงมือ มาเลย์สนใจ-ส่งคนดูงาน
 


ถนนยางพาราคุ้ม! ทนนาน12ปี-ไม่มีซ่อม "ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา"มีสูตร-พร้อมลงมือ มาเลย์สนใจ-ส่งคนดูงาน


 ถนนยางพาราคุ้ม! ทนนาน12ปี-ไม่มีซ่อม

 

ราคายางพาราตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี เหลือเพียง 3 กิโลกรัม 100 บาททำชาวสวนยางเครียดหนักกับภาระหนี้ก้อนโต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความพยายามจะผลักดันโครงการนำยางธรรมชาติ (ยางพารา) มาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีมติเห็นชอบเรื่องนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2555



ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีการวิจัยอย่างจริงจัง ในการนำยางพารามาผสมกับยางมะตอยเพื่อราดถนนก็คือ "ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา" ซึ่งมีการทดสอบมานานนับ 10 ปีแล้ว

นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ผู้ที่ขลุกอยู่กับงานวิจัยเรื่องถนนยางแอสฟัลต์ผสมยางธรรมชาติ หรือถนนยางมะตอยผสมยางพารานับสิบปี ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การราดถนนผสมยางพาราทำครั้งแรกตั้งแต่ปี 2500 แต่ในยุคนั้นไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนว่าคุณสมบัติมันดีขึ้นอย่างไร รู้แต่ว่ามันเหนียวขึ้น แข็งแรงขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลเป็นตัวเลขเชิงวิทยาศาสตร์

กระทั่งปี 2542 ยางราคาตก จึงมีการรื้อฟื้นเรื่องนี้ เป็นที่มาของการทำวิจัยเชิงลึก ซึ่งเริ่มแรกเป็นงานวิจัยในห้องแล็บ เพื่อหาเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสมของยางพารา กระทั่งได้ตัวเลขที่ลงตัวคือ 5-6% โดยคุณสมบัติที่ได้คือ แข็งแรงมากขึ้น ทนต่อความร้อนมากขึ้น มีจุดหลอมตัวสูงขึ้นจาก 50 องศาเป็น 60 องศา และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีการคืนตัวกลับดีขึ้น



สำหรับศูนย์กลางการทดลองงานวิจัยอยู่ที่ "ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา" อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการสร้างเครื่องผสมยางพารากับยางมะตอยเป็นไพลอตโปรเจ็กต์ 2 แบบคือ เครื่องผสมยางแห้ง และเครื่องผสมน้ำยางข้น โดยผสมได้ครั้งละ 5 ตัน จึงเป็นที่มาว่าพื้นที่หลายจุดภายในศูนย์วิจัย ราดถนนด้วยยางมะตอยผสมยางพาราตามสเป็กของสถาบันวิจัยยาง

ต่อมาในปี 2545 กรมทางหลวงได้ร่วมกับศูนย์วิจัย ราดถนนสาธารณะที่ด้านหน้าศูนย์วิจัย ระยะทางประมาณ 300 เมตร จากนั้นได้เก็บตัวอย่างถนนที่เสร็จแล้ว 2 แบบ ไปทดสอบในห้องแล็บ ทดสอบใช้ล้อเหล็กวิ่งทับจำนวน 2 หมื่นรอบ ผลปรากฏว่า ถนนที่ตัดมาจากผสมยางพารายุบน้อยกว่าที่ไม่ผสม ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2.9 เท่า แต่เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีเครื่องผสมในเชิงพาณิชย์ เพราะปกติการทำถนนแต่ละครั้งต้องผสมเป็นร้อยตัน จึงได้ทดลองทำถนนในหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรทั่วทุกภาครวมแล้วประมาณ 50 แห่ง

"กรมทางหลวงยอมรับผลว่าดีกว่า ทนกว่าจริง ซึ่งถนนหน้าศูนย์วิจัยนี้ใช้มา 12 ปีแล้ว ไม่ต้องซ่อมเลย ธรรมดา 5 ปีก็มีงบฯซ่อม แต่มองว่าแค่ให้ทนกว่าเท่าเดียวก็คุ้มแล้ว ส่วนตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้กำลังจะจ้างคนที่ชำนาญมาคิดมูลค่าเพื่อยืนยันอีกครั้ง"

ทั้งนี้ล่าสุด ปี 2556 กรมทางหลวงได้ออกสเป็กถนนแอสฟัลติกที่ราดด้วยยางมะตอยผสมยางพาราแล้ว ปี 2557 สำนักงบประมาณก็ออกราคากลางมาเป็นราคากลางเฉพาะผิวทางมาตรฐาน 5 เซนติเมตร ในราคาตารางเมตรละ 380 บาท ขณะที่แบบเดิมตารางเมตรละ 320 บาท แต่ถ้าคิดทั้งถนนรวมโครงสร้างด้วย ราคาจะขึ้นมาแค่ 5% ของราคาถนนทั้งหมด เช่น สร้างถนน 1,000 ล้านบาท ถ้าใช้แบบผสมก็เพิ่มขึ้นมาอีก 5% เท่านั้น คือ 50 ล้านบาท ถามว่าถ้ามันทนกว่า 1 เท่าจะคุ้มหรือไม่

ผอ.ณพรัตน์บอกว่า ประเทศมาเลเซียสนใจงานวิจัยนี้มาก เมื่อปลายปี 2557 คณะรัฐมนตรีมาเลเซียเดินทางมาดูงานเรื่องถนนโดยเฉพาะ หลังจากนั้นได้ส่งคนจาก Malaysian Rubber Board-MRB และกรมทางหลวงมาศึกษารายละเอียด

"เดือนพฤศจิกายน 2557 ไปประชุมเรื่องมาตรฐานยางที่แอฟริกาใต้ MRB ก็มานั่งประกบทุกวัน ซักละเอียดยิบ เราก็นั่งอธิบาย ก็คิดว่าเราทำงานวิจัยมา 10 กว่าปีไปบอกเขาหมดเลย พูดไปก็ช้ำใจไป แต่คิดว่าอยู่ตรงนี้ก็ไม่มีอะไร อย่างน้อยที่อื่นทำก็ยังได้ประโยชน์ หลังจากนั้นไม่นานมีโทรศัพท์มาบอกว่าจะราดถนนแล้ว"

สำหรับปี 2558 นี้ ผอ.ณพรัตน์กล่าวว่า จะทำวิจัยต่อยอดหาค่า BreakingResistance เกี่ยวกับการลื่นไถล ซึ่งปกติจะทำในล้อรถ แต่เราจะดัดแปลงมาทำในถนน เมื่อได้ค่าพวกนี้แล้วจะนำไปเสนอต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือจีน หากได้รับความสนใจ ผลที่ได้คือจะมีการใช้ยางมากขึ้น

"สำหรับเมืองไทยตอนนี้ทำได้ทันที เพราะว่ามีสเป็กแล้ว มีราคากลางแล้ว เอกชนตอนนี้ก็มีคนทำผสมแล้ว เช่น ทิปโก้ ที่สำคัญที่สุดรัฐต้องมีนโยบายจริงจัง ไม่ได้หมายความว่ายางทั้งหมดจะมาทำสิ่งนี้ แต่ถ้าทำได้ยางส่วนหนึ่งจะหายไปจริงๆ"


นั่นคือ งานวิจัยชิ้นโบแดงของคนไทยที่ชี้ชัดว่าถนนยางพาราทำได้จริง และคุ้มค่าจริง

 


 

 

(ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.