กมธ.ยก ร่างฯผุด ม.7 วรรคสอง ปกป้องสถาบัน
 


กมธ.ยก ร่างฯผุด ม.7 วรรคสอง ปกป้องสถาบัน


กมธ.ยก ร่างฯผุด ม.7 วรรคสอง ปกป้องสถาบัน
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรม จำนวน 36 คน โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญเขียนเป็นรายมาตรา นัดแรก ซึ่งเปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟัง  โดยนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่ 2 กล่าวก่อนเริ่มประชุมถึง หลักเกณฑ์การประชุมที่เปิดให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง คือ สามารถถ่ายภาพก่อนการประชุมได้ แต่ในระหว่างการประชุมจะไม่มีการถ่ายทอดสด ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวภายในห้องประชุม นอกจากนั้นแล้วการอภิปรายในประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติจะขอประชุมเป็นการภายในกมธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนเริ่มประชุม นายบวรศักดิ์ ได้ย้ำเพิ่มเติมถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอีกครั้งว่า การรายงานข่าวต้องไม่มีการเผยแพร่ความเห็นหรือการอภิปราย โดยนำเสนอชื่อบุคคลที่ได้อภิปรายว่าใครพูด ใครเสนออะไรออกไปเด็ดขาด และห้ามมีการบันทึกเสียง หรือภาพตลอดการประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยอ้างว่า จะเป็นการสร้างความกดดันในการทำหน้าที่ของกมธ. และการนำเสนอข่าวต้องสรุปเป็นภาพรวมเท่านั้น  ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างพากันมึนงงไปตาม ๆ กันว่าออกกฎแบบนี้จะให้เข้ามานั่งฟังทำไมเพราะขัดต่อการนำเสนอข่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ยกร่างฯได้เริ่มพิจารณา บททั่วไป จำนวน 7 มาตรา ซึ่งการพิจารณาเป็นไปอย่างราบรื่นตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 6  โดยการประชุมได้เริ่มถกเถียงกันมากในมาตรา 7 ที่มักจะถูกนำไปอ้างอิง เป็นประเด็นทางการเมืองบ่อย ๆ จึงมีการเพิ่มวรรคสอง เข้ามาเพื่อไม่ให้มีการกระทบถึงสถาบันเบื้องสูง

จากนั้นเวลา 15.20 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงรายงานความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันแรก ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 12-16 ม.ค. กมธ.วางกรอบพิจารณาบททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัติร์ย์และประชาชน และภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง เฉพาะหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมทั้งสิ้น 89 มาตรา โดยตั้งเป้าไว้จะพิจารณาเฉลี่ยให้ได้วันละ 18 มาตรา ซึ่งในวันนี้ 12 ม.ค. จะเป็นการพิจารณาบททั่วไปจำนวน 7 มาตรา ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ 18 มาตรา รวมทั้งสิ้น 25 มาตรา

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สำหรับผลการพิจารณาชื่อร่างใช้คำว่า “ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ” และตั้งแต่บททั่วไป มาตรา 1 ถึง มาตรา 6 ไม่มีการแก้ไขถ้อยคำในมาตราดังกล่าว ยกเว้นมาตรา 7 ที่จากเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีเพียงแค่วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำการหรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข” 

โดยกมธ.ยกร่างฯได้เพิ่มวรรคสอง โดยระบุว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำ หรือ การวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน ก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี และเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด”

“สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการเพิ่มวรรคสองในมาตรา 7 นั้น เนื่องจากตลอด 17 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี2540 เมื่อเกิดสถานการณ์ทาการเมืองมักจะมีการนำมาตรา 7 มาแอบอ้างในหลายรูปแบบและส่งผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง กรณีที่นำมาตรา 7 มาแอบอ้างมักจะเป็นประเด็นปัญหาที่ไม่มีองค์กรใดมาตัดสินหาข้อยุติได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเปิดช่องทางให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมาทำหน้าที่ตัดสินและให้ได้ข้อยุติ เพื่อไม่ให้กระทบหรือนำสถาบันมาแอบอ้างอีก” โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าว

เมื่อถามว่า การที่กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มวรรคสอง จะเป็นการปิดทางการเสนอนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 หรือไม่  นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะยังมีประเด็นปัญหาที่นอกเหนือไปจากนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 เช่น ก่อนที่จะมีรัฐประหารก็เคยมีปัญหาว่า รัฐสภาจะเปิดประชุมได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 น่าจะจบลงตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.2549 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ว่า มาตรา 7 ไม่เคยมีการปฎิบัติตามประเพณีการปกครอง ที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า จากกรณีที่เคยมีกลุ่มคนประกาศไม่เคยรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้มาทำหน้าที่วินิจฉัยเกรงว่า จะเกิดปัญหาหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า  ไม่มีปัญหา ต้องเดินหน้าไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การที่คนมีมุมมองที่ต่างกัน มันก็ต้องมีองค์กรที่วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งตามกฎหมายเดิมก็ได้ระบุแล้วว่า ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดและผูกพันทุกองค์กร.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.