อธิบดีกรมชลฯมั่นใจน้ำประปาไม่เค็ม
 


อธิบดีกรมชลฯมั่นใจน้ำประปาไม่เค็ม


อธิบดีกรมชลฯมั่นใจน้ำประปาไม่เค็ม
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำทะเลรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ว่ามั่นใจจะไม่เกิดปัญหาวิกฤติน้ำเค็มกระทบระบบผลิตประปาเหมือนในปี 57 โดยมาตรการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ได้เรียนรู้ปัญหาจากปีที่ผ่านมาทำให้การปล่อยน้ำค่อนข้างละเอียดรอบครอบ จะไม่ปล่อยมาเต็มระบบเพราะปริมาณน้ำเขื่อนใหญ่มีน้อย โดยให้ปริมาณน้ำจำกัดเฉพาะรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น ซึ่งได้ปล่อยน้ำปริมาณน้อยในเส้นทางน้ำในช่วงที่ผ่านพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ภาคกลาง โดยปรับเปลี่ยนการปล่อยมาใช้การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เป็นหลักในการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามารบกวนระบบปะปาของการปะปานครหลวงได้อย่างแน่นอน

“กรมชลฯให้ความมั่นใจไว้ 3 ส่วนที่มีน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งนี้คือน้ำกินน้ำใช้มีน้ำเพียงพอ รักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม ขณะนี้ไม่ห่วงเรื่องน้ำประปาเค็มแต่ห่วงว่า หากฝนทิ้งช่วงอาจทำให้ฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ 1 พ.ค.อาจต้องเลื่อนออกไป สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ลุ่มเจ้าพระยา 8-9 ล้านไร่ ผมอยากให้ลงมือปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฤดูมรสุมจะมีฝนเต็มที่มาถึงช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. เพราะชาวนาอาจจะเสี่ยงกับความเสียหาย ซึ่งในขณะนี้ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรังรอบสอง หลังจากที่กรมชลฯประกาศงดส่งน้ำนาปรัง มีชาวนาเสี่ยงปลูกข้าวไปกว่า 2 ล้านไร่ ที่อาจจะเสียหายได้เพราะกรมชลฯงดส่งน้ำเข้าระบบ”นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลักการที่กรมชลฯ ใช้ควบคุมคุณภาพน้ำจืดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยให้มีปริมาณน้ำไหลในอัตรา 90-100 ลบ.ม.ต่อวินาที วัดที่สถานีสำแล จ.ปทุมธานี และสถานีตรวจวัดน้ำบางไทร ซึ่งปัจจุบัน กรมชลฯควบคุมน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาโดยตรง ในอัตรา 75 ลบ.ม.ต่อวินาที  มาต่อเนื่อง เมื่อมารวมปริมาณจากแม่น้ำป่าสัก ระบายท้ายเขื่อนพระรามหก ในอัตรา 20-25 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำบางไทรมีอัตราไหลเวียนอยู่บางไทร 95-100ลบ.ม.ต่อวินาที จึงมั่นใจว่าสามารถควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตลอดฤดูแล้งนี้

“ยกเว้นกรณีเกิดเหตุการณ์ผิดปกติน้ำทะเลกระเพื่อมจากแรงลมหนุน ปากอ่าวไทยยกตัวสูงขึ้น ทำให้น้ำเค็มเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยามากขึ้น กรมชลฯ จะพิจารณาดำเนินการปล่อยน้ำจากแม่น้ำป่าสักมาช่วยผลักดันน้ำทะเล ซึ่งใช้เวลาเดินทางสามถึงสี่วันเราเตรียมน้ำไว้แล้วจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน ช่วงนี้สั่งการเฝ้าระวังตลอดรายงานโดยอัตโนมัติตรวจวัดค่าความเค็มเป็นรายชั่วโมงพร้อมประสานงานการปะปานครหลวง โดยเรามีหน่วยตรวจวัดของกรมชลฯ วัดค่าความเค็มที่ปากคลองสำแล ขณะนี้อยู่ระดับ 0.18 กรัมเกลือต่อลิตรถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดี ทั้งนี้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกรอบ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.จนถึงปลายเดือนนี้โดยเฝ้าระวังทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ซึ่งจะหนุนสูง 1.45 เมตร โดยวันที่ 16 ม.ค.นี้ ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องจะประชุม เพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามอย่างใกล้ชิดปีนี้โอกาสน้ำเค็มเข้าระบบปะปามีน้อยมาก” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวถึงวิกฤติน้ำเค็มเข้าระบบปะปาในปี57 มาจากปัญหาที่ปล่อยน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร โดยระบายน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อย ซึ่งมีการเพาะปลูกกันมากทำให้น้ำมาออกมาจากปากแม่น้ำน้อยลดลง จึงเกิดปัญหามีค่าความเค็มสูง ปีนี้จึงจัดการระบายใหม่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาโดยตรงไม่ให้เข้าสู่แม่น้ำน้อยและไม่รอน้ำจากชัยนาท-ป่าสัก ได้ควบคุมน้ำมาผ่านเจ้าพระยาโดยตรงในสายที่มีการเพาะปลูกน้อยมาก

“ผมมั่นใจปริมาณน้ำมีเพียงพอเพราะมีมติครม.งดส่งน้ำทำนาปรัง ซึ่งสามารถบริหารจัดการน้ำได้ถึงฤดูฝนได้ไม่มีปัญหา โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ รวมกัน 5,280 ล้านลบ.ม.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 593 ล้านลบ.ม.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 705 ล้านลบ.ม.มีน้ำเพียงพอใช้ถึงวันที่ 1 พ.ค.58 ”นายสุเทพ กล่าว.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.