"พรเพชร" กางแผนนิติบัญญัติ ปั๊มกฎหมาย เดินหน้าถอดถอน ไม่กลัวถูกเช็กบิล
 


"พรเพชร" กางแผนนิติบัญญัติ ปั๊มกฎหมาย เดินหน้าถอดถอน ไม่กลัวถูกเช็กบิล



เพียงแค่เปิดศักราช 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ต้องเริ่มปฏิบัติการถอดถอนนักการเมืองขั้วเดิม ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยื่นถอดถอน ตัวละครสำคัญคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จากการทุจริตโครงการจำนำข้าวและระบายข้าว


ขณะที่สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในฐานะอดีตรองประธานรัฐสภา ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนจากพิษแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.

ในบทบาท 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ปี 2558 สนช.ยังต้องทำหน้าที่ออกกฎหมายสำคัญๆ เพื่อให้รัฐนาวาประยุทธ์ จันทร์โอชา ขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น

"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช.ถึงแผนการของ สนช.ในปี 2558 ว่าจะออกมาในทิศทางใด



- รู้สึกอย่างไรกับการทำงานในตำแหน่งประธาน สนช.


รู้สึกว่าการทำงานของ สนช.ดีขึ้นตามลำดับ ในตอนแรกที่เปิดประชุม สนช.ใหม่ๆ สมาชิกขยันมาก รู้สึกสมาชิกเหมือนกับจะแย่งกันทำงาน เวลาขออาสาสมัครเป็นกรรมาธิการเรื่องหนึ่งเรื่องใดรู้สึกสมาชิกสนใจมาก เป็นห่วงอยู่แล้วว่างานจะมาเยอะ แต่ต่อมางานมากขึ้นรัฐบาลก็เสนอกฎหมายมามากขึ้น สมาชิกก็เข้าใจแล้วว่าทำงานในด้านคุณภาพให้มากขึ้น งานที่ทำไม่ใช่งานง่ายๆ การที่จะทำกฎหมายให้ดีจะต้องดูหลายด้าน จะต้องฟังความเห็นของทุกฝ่าย

จากผลงานที่ผ่านมาทำให้การทำงานระยะหลังฟังความเห็นรอบด้านมากขึ้น ยกตัวอย่างกฎหมายที่ผ่านไปจาก สนช.ซึ่งยังไม่ยุติว่าเป็นอย่างไร คือกฎหมายการค้ำประกัน ซึ่งถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาสถานะของผู้ค้ำประกันไม่ควรอยู่ในสถานะเดียวกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ชั้น 2 ส่วนลูกหนี้ที่แท้จริงเป็นลูกหนี้ชั้น 1 ต้องมีหน้าที่รับผิดก่อนถึงจะผู้ค้ำประกัน

แต่ทางปฏิบัติที่ผ่านมาสถานะของผู้ค้ำประกันตามกฎหมายแทบจะไม่เหลืออยู่เลยเพราะสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ทั้งหลายไปใช้บทบัญญัติบังคับให้ผู้ค้ำประกันมีสถานะเหมือนลูกหนี้ หลักค้ำประกันทางกฎหมายหายไปเลย คนค้ำประกันก็ค้ำประกันแต่ชื่อ แต่ความจริงคือลูกหนี้

รัฐบาลก็ส่งกฎหมายนี้มาเพื่อปรับโครงสร้างให้ถูกต้องว่าใครคือลูกหนี้ ใครคือผู้ค้ำประกัน ใครรับผิดไปตามหลักการที่มันมีอยู่ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่เอาเข้าจริงปัญหาตามมา ตอนนี้กำลังศึกษาว่าฝ่ายสถาบันการเงินไม่พอใจ ที่ไม่พอใจกำลังตรวจสอบว่ากระบวนการที่เราพิจารณากฎหมายพูดเรื่องนี้กันเคลียร์ไหม ที่เขาว่าจะเสียหายมากมายอย่างนู้นอย่างนี้มันได้เข้ามาสู่ สนช.ไหม ผมไม่ได้ว่าอะไรนะว่าการแก้ไขกฎหมายจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็รับฟัง แต่ทำไมตอนพิจารณากฎหมายประเด็นนี้ถึงไม่มีการพูดกัน ทำไมมาโวยหลังจากกฎหมายผ่านไปแล้ว ซึ่งมันกระทบทั้งรัฐบาลที่เป็นผู้เสนอกฎหมาย และ สนช.ผู้ผ่านกฎหมาย นี่เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง


- ใครควรจะรับผิดชอบความผิดพลาด

ถ้าดูผิวเผินก็เป็นข้อผิดพลาดของฝ่ายผู้เสนอและฝ่ายผู้พิจารณากฎหมายแต่จริงๆ แล้ว ถ้ากระบวนการของเราถูกต้องเราฟังคุณแล้ว แต่คุณไม่พูดตอนนั้นล่ะ แล้วคุณมาพูดทีหลัง ซึ่งตอนนี้ผมกำลังตรวจสอบว่าเราได้ฟังรอบด้านหรือยัง หรือว่าเราจะพลาดไปตอนนั้นเพราะเรายังใหม่ๆ พูดง่ายๆ คนที่ร่างกฎหมายเขาก็มองฝ่ายของเขา เพื่อประโยชน์ของเขา แต่ถ้าเราทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเราต้องฟังทุกฝ่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปเชื่อเขานะ แต่การตรากฎหมายมันเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลของอำนาจทุกฝ่าย ต่อไปก็จะทำอย่างนั้น


- กฎหมายที่เป็นนโยบายรัฐจะมีอะไรชัดๆ หรือไม่

ชัดๆ ก็คือกฎหมายภาษีมรดก กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอะไรต่างๆ เข้ามา เพราะเรื่องเกี่ยวกับภาษีเป็นนโยบายแน่ๆ เมื่อเป็นกฎหมายของรัฐบาล สนช.ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายรัฐบาลไปในตัว ดูว่าสิ่งที่รัฐบาลทำถูกต้องเพียงใด ต้องหาจุดสมดุลให้ได้ว่าการใช้อำนาจของรัฐบาลกระทบต่อประชาชนเพียงใด เพราะกฎหมายทุกชนิดมันกระทบต่อประชาชนทั้งนั้น จะเก็บภาษีก็เก็บจากประชาชน จะลงโทษก็ลงโทษกับประชาชน ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเสนอกฎหมายมาอย่างไร สนช.เป็นเพียงตรายางประทับ จะเห็นบทบาท และเห็นการทำหน้าที่ของ สนช.ในประเด็นนี้มากขึ้น

ทั้งนี้ การสร้างสมดุลของกฎหมายด้านเศรษฐกิจ และสังคม ด้านเศรษฐกิจก็ต้องสร้างสมดุลลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าในด้านสังคม กฎหมายฟากรัฐบาลจะส่งเข้ามาในด้านที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สถานะของบุคคลเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในกระบวนการอำนวยความยุติธรรมเช่น พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ สนช.ก็ต้องหาจุดสมดุลอะไรที่มันเหมาะสม


- อีกด้านหนึ่ง สนช.มีภารกิจการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีต ส.ส. ส.ว. สุดท้ายจะกลายเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาอีกหรือไม่

การถอดถอนเป็นกระบวนการที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ2550 ซึ่งเป็นประเด็น แม้แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่ายังคงหลักการการถอดถอนไว้หรือไม่ เพราะการถอดถอนด้วยอำนาจทางการเมือง มันเป็นการถอดถอนด้วยการใช้ดุลพินิจแบบการเมือง มันไม่ได้ใช้ดุลพินิจด้วยการลงโทษที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ยังเกิดปัญหา เพราะการถอดถอนทางการเมืองมันมีใช้อยู่คือการพ้นจากตำแหน่ง

แต่ประเด็นของเราหลักมันบานปลายไปเป็นบรรทัดฐานไปแล้วว่าแม้ว่าจะพ้นตำแหน่งแต่ก็ต้องถอดถอน เพราะมันมีผลจากการถอดถอนเพิ่มขึ้น คือจะดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้อีก 5 ปี มันเลยดูแล้วเหมือนกับว่าเป็นกระบวนการที่มีปัญหาในแง่ที่ว่าไม่ใช่ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

ผมศึกษากฎหมายเปรียบเทียบแล้วประเทศที่เขามีการถอดถอน เขาไม่ได้ตามด้วยการพ้นจากตำแหน่ง ถ้าไปถามเขาว่าทำไมถึงไม่มี ก็เพราะว่าถ้าถึงขั้นถอดถอนแล้วประชาชนไม่เลือกมาอีกแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา แค่เกือบถูกถอดถอนก็ไม่มีวันกลับมาไม่ได้อีกแล้ว มีครั้งหนึ่งก็ถอดถอนประธานาธิบดีนิกสันไม่สำเร็จ เสียงไม่พอ แต่เมื่อนิกสันรู้ว่าประชาชนไม่ต้องการก็ออกไป แล้วคนอย่างนิกสันก็ไม่มีทางได้รับเลือกมาอีกแล้ว ไม่ต้องไปลงโทษอะไรเขาเลย แต่บ้านเรามันไม่ใช่ วัฒนธรรมคนละอย่างก็ต้องดูกันไป

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วว่า แม้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ถอดถอนได้เพราะต้องถูกเว้นวรรค 5 ปี ก็เลยมีกระบวนการนี้ได้ต่อไป มัน...จะต้องมีการพัฒนาระบบเช่นว่านี้ แต่จะให้ สนช.ไม่ถอดถอนมันก็ผิดรัฐธรรมนูญ มันเป็นหน้าที่ก็ต้องดำเนินการไป แต่กระบวนการนี้กำลังถูกตั้งคำถามในความชอบธรรมของระบบที่กฎหมายสร้างขึ้นมาอ้างมาจากต่างประเทศ ไม่ใช่ความชอบธรรมของ สนช.


- ในฐานะประมุขนิติบัญญัติใจจริงแล้วอยากให้มีการถอดถอนหรือไม่

ไปพูดอย่างนั้นคนจะเข้าใจผิดตอนนี้เพราะมีกระบวนการถอดถอนอยู่แต่กระบวนการถอดถอนมันต้องสร้างกลไกใหม่ขึ้นมาที่จะทำให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปเพราะคนคนนั้นไม่ควรอยู่ในตำแหน่งเนื่องจากประชาชนไม่ต้องการ หรือเขาทุจริต แต่กระบวนการที่มีอยู่ตอนนี้มันยังไม่สร้างความรู้สึกเช่นนั้นให้เกิดขึ้น ถ้ามาถามผมตอบไปคนอาจจะเข้าใจผิดว่าผมไปชี้นำว่าอยากให้ถอดถอนใครหรือไม่ เพราะปัญหามันละเอียดอ่อน


- ถ้าหากเราต้องสร้างความรู้สึกว่าคนคนนี้ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป ถ้าไม่ใช้วิธีถอดถอนจะทำอย่างไร

ก็ต้องมีกระบวนการพิสูจน์ความผิดที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่ใช่ด้วยการใช้กระบวนการทางการเมือง เพราะกระบวนการทางการเมืองต้องมีข้อปัจจัยทางการเมือง ถ้าใช้ ส.ว.เป็นผู้ถอดถอนซึ่งเขามาจากการเลือกตั้งก็กระทบมากทีเดียวว่าจะต้องไปคิดว่าจะลงโทษคนนี้หรือไม่


- ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาจากประชาชน คนที่จะใช้อำนาจถอดถอนจะต้องมาจากประชาชนด้วยหรือไม่

ตามหลักการของการถอดถอนผมไม่ได้มองอย่างนั้นเพราะผมมองว่าการถอดถอนในระบบการเมือง มันหาจุดตอบเรื่องการใช้ดุลพินิจที่เป็นธรรมยาก ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการกระทำความผิด ถ้าคนอยู่ในการเมืองด้วยกันคุณอาจจะชอบ หรือเกลียดเขา เพราะความเป็นการเมือง แต่ผมไม่ได้หมายความว่าวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา และแต่งตั้ง หมายความว่าฝ่ายหนึ่งจะมีสิทธิ์ที่จะไปถอนอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ มันไม่ควรจะมีประเด็นเหล่านี้ เพราะมีส่วนที่เป็นผลประโยชน์ของคุณ การที่คุณมีสถานะแบบนั้นมาลงโทษพวกเดียวกันเอง หรืออีกพวก พวกที่แต่งตั้ง หรือเลือกตั้งมันไม่ถูก


- ตอนนี้ สนช.จำเป็นต้องถอดถอน ถ้าทำสำเร็จจะสร้างปัญหาให้เราเมื่อพ้นตำแหน่งไปหรือไม่

กระบวนการยุติธรรมบ้านเรา มันเปิดช่องให้คนฟ้องร้องกันง่าย ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญง่ายมาก ที่เกิดวิกฤตกันแบบนี้

เพราะประชาชนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไรแล้ว มันเป็นพื้นฐานนำไปสู่การฟ้องอย่างอื่น ตอนนี้ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญก็ไปได้ยากมาก ก็ไปได้ศาลเดียวที่จะไปได้คือศาลยุติธรรม ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฟ้องง่าย แต่กระบวนการที่นำไปสู่การพิสูจน์ความผิดยาก แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่ถูกฟ้อง เพราะใครก็ฟ้องได้ทั้งนั้น เมื่อเขาเป็นผู้เสียหาย แต่เขาจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบล่ะ มันไม่มีพื้นฐาน แต่พื้นฐานที่เขาถูกถอดถอนก็เพราะมันมีพื้นฐานจากการที่เขาทำขัดรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญว่ามาก่อน


- คนที่มาจะมาเอาคืนในวันที่ท่านพ้นหัวโขนประธาน สนช.ก็คงยาก เพราะต้องสู้ในกระบวนการศาลยุติธรรม


การสู้ในกระบวนการยุติธรรมเป็นหนทางเดียวที่เขาจะดำเนินการแต่ไม่มีพื้นฐานข้อกล่าวอ้าง กล่าวอ้างได้อย่างเดียวคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งไม่รู้จะว่าไง เพราะมาตรา 157 ก็สุดแล้วแต่ศาล ถ้าพูดถึงพื้นฐานคดีถอดถอนทั้งหลายมาจากศาลรัฐธรรมนูญทั้งนั้นเลย ต้องศาลรัฐธรรมนูญว่าก่อน


- คนที่เข้ามาสู่อำนาจหลังการรัฐประหารมักกลัวถูกเช็กบิลย้อนหลัง ท่านกลัวหรือไม่

คนที่อยู่ฝ่ายการเมืองจะถูกเช็กบิลต่อเมื่อทำผิดกฎหมาย กฎหมายที่สำคัญคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ก็อย่าทำผิดสิ


- เคยบอกว่าเข้ามาร่วมกับ คสช.แล้วต้องทำให้สุด ถ้าจบจ็อบพิเศษจะทำอะไรต่อ

คงไม่คิดทำอะไรแล้ว พักผ่อน


- กลับไปอยู่องค์กรอิสระเหมือนเดิมหรือไม่

ไม่ทำแล้ว


- พอใจกับการทำหน้าที่ตอนนี้หรือไม่


หน้าที่ประธาน สนช.รู้สึกโอเค ขอบคุณท่านสมาชิกท่านเข้าใจปัญหาต่างๆ จากที่มองว่าขยันกันจริง ตอนนี้ก็เริ่มทำความเข้าใจวิธีการทำงานที่ถูกต้องของระบบรัฐสภามากขึ้นก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี แม้ สนช.มีที่มาต่างกัน แต่ความขัดแย้งหรือความแตกต่างในความคิดไม่ได้รุนแรงถึงกับเป็นพรรคเป็นพวก เป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่มีลักษณะนั้น ไม่ควรจะมี ไม่ได้หมายความว่าอยากให้ทุกคนมีความเห็นเหมือนกัน แต่เราไม่อยากเห็นความเป็นพรรคเป็นพวกว่าเราเห็นอย่างนี้ พอมีเรื่องอะไรก็มาโหวตกันอย่างนี้นะ อันนี้ไม่มีเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่น่าพอใจอย่างมาก



ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat