‘ลู่วิ่งยางพารา’ ทางเลือกในการแก้วิกฤติยางไทย
 


‘ลู่วิ่งยางพารา’ ทางเลือกในการแก้วิกฤติยางไทย


‘ลู่วิ่งยางพารา’ ทางเลือกในการแก้วิกฤติยางไทย
ดันงานวิจัยให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาของประเทศ

..ไม่ใช่เพิ่งทำ.. แต่มีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมใช้งาน หากผู้ที่เกี่ยวข้องสนใจจะนำไปใช้จริง..

อย่างเช่น “วิกฤติยางพารา” ที่ผลผลิตล้นตลาดจนเกิดปัญหาราคาตกต่ำอยู่บ่อยครั้ง

“ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหนึ่งในกระทรวงที่ต้องร่วมแก้วิกฤติยางพาราด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนสร้างอุตสาหกรรม ใหม่ ๆ ในการแปรรูปยางพารา และขณะนี้ก็มีงานวิจัยหลายโครงการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เช่น การพัฒนาลู่ลานกรีฑาด้วยยางธรรมชาติ ผลงานของ “ดร.อรสา อ่อนจันทร์” นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ดร.อรสา บอกว่า การจัดสร้างลู่ลานกรีฑาที่ได้มาตรฐานหรือมีสมบัติตรงตามข้อกำหนดของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) ปัจจุบันต้องใช้วัสดุที่สังเคราะห์สำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูง กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ทำการวิจัยและพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อจัดสร้างลู่ลานกรีฑาที่ได้มาตรฐานสากลขึ้น โดยเน้นการใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณและลดการนำเข้าวัสดุสังเคราะห์สำเร็จรูปจากต่างประเทศที่มีราคาสูง

ทีมวิจัยพัฒนาต้นแบบแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2552 มีค่าคุณสมบัติต่าง ๆ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยสหพันธ์กรีฑานานาชาติทุกรายการ และผ่านการทดสอบการใช้งานเป็นลู่ต้นแบบที่การกีฬาแห่งประเทศไทยพบว่ามีความทนทานสูง อายุใช้งานประมาณ 5-7 ปี

นักวิจัยบอกว่าพื้นลู่ลานกรีฑาที่พัฒนาขึ้นนี้ประกอบด้วย 2 ชั้น ชั้นแรกด้านล่างเป็นชั้นที่ใช้รองรับน้ำหนักของพื้นจะมีความหนาประมาณ 10 มิลลิเมตร ประกอบด้วยส่วนผสมของพอลียูรีเธนและเม็ดยางดำ โดยสามารถใช้ยางธรรมชาติหรือเม็ดยางครัมบ์ (ขยะยาง เช่น ยางรถยนต์ที่เสื่อมสภาพ) เพื่อทดแทนการใช้ยางสังเคราะห์ได้ถึง 100% ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ส่วนชั้นที่สองด้านบน จะเป็นชั้นที่ใช้สร้างแรงเสียดทานของผู้ใช้กับพื้นสนามกีฬา มีความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ประกอบด้วยพอลียูรีเธนและเม็ดยางแดง สามารถใช้ยางธรรมชาติร่วมกับยางสังเคราะห์ในอัตราส่วน 60 : 40

การสร้างลู่ลานกรีฑาโดยใช้สูตรที่คิดค้นขึ้นนี้ มีค่าใช้จ่ายตารางเมตรละประมาณ 1,700 บาท เมื่อคำนวณจากต้นทุนยางกิโลกรัมละ 50 บาท ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในงานทำพื้นลู่ลานกรีฑาในแบบเดิมที่ต้องนำเข้าคิดเป็นตารางเมตร 2,500 บาท พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 30% สนามกรีฑา มาตรฐานซึ่งมีพื้นที่ 6,500 ตารางเมตร จะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 5 ล้านบาท และที่สำคัญหนึ่งสนามจะใช้ยางธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศประมาณ 12 ตัน

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บอกว่า กระทรวงกีฬาฯ บอกใน 3 ปี จะมีสนามลู่วิ่งถึง 165 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้น หากมีการผลักดันให้นำยางธรรมชาติไปใช้จริง เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหายางพาราได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีการ ประชุมบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงต่าง ๆ เพื่อนำยางไปใช้ประโยชน์ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะหากจะส่งเสริมให้เกิดการใช้งานผลิตภัณฑ์ในประเทศ ก็ต้องออกเป็นมติ ครม.ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาผลิตภัณฑ์ในประเทศที่มีมาตรฐานเป็นสำคัญ

สำหรับงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางธรรมชาติของไทย นอกจากการพัฒนาลู่ลานกรีฑา ที่มีโอกาสสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ในเร็ว ๆ นี้นั้น ยังมีงานวิจัยที่สามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราได้อีกหลายโครงการ เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนาถุงมือผ้าเคลือบยางเพิ่มความคงทน และเพิ่มมูลค่าจากถุงมือผ้าธรรมดาราคา 10 บาท เคลือบยางมูลค่าเพิ่ม 30-40 บาท

ปัจจุบัน วว.กำลังศึกษาการพัฒนาวัสดุยางเชิงประกอบสำหรับอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เพิ่มคุณค่ายางธรรมชาติสำหรับใช้เป็นวัสดุรองรับแรงกระแทก ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการก่อสร้าง การจราจร การขนส่ง นอกจากนี้ยังสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จีโอเท็กซ์ไทล์ จากยางธรรมชาติเชิงประกอบ สำหรับการใช้เป็นชั้นกรองปิดทับหน้าตลิ่งชนิดลาดเอียง และผลิตภัณฑ์โครงสร้างปิดทับหน้าตลิ่งลาดเอียงสำหรับใช้เป็นโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง

ขณะที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด และการสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำยางที่ใช้ทางการแพทย์และเภสัชกรรม ส่วนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นยางพาราปูพื้นเพื่อลดแรงกระแทกจากการหกล้ม การออกแบบและพัฒนาแผ่นยางปูพื้นรถยนต์จากยางพาราผสมกัญชงและมีการพัฒนาวัสดุตกแต่งจากน้ำยางพารา

เรียกได้ว่างานวิจัยพร้อม จะขาดก็แต่การนำไปใช้เท่านั้นเอง.

นาตยา คชินทร
[email protected]



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.