"นิด้าโพล"หนุนมีนายกฯคนกลาง แก้วิกฤติ
 


"นิด้าโพล"หนุนมีนายกฯคนกลาง แก้วิกฤติ



เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง” สำรวจระหว่างวันที่ 24 - 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.47 เห็นด้วยกับข้อเสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุถึงการมีนายกรัฐมนตรีคนกลางในภาวะวิกฤติ เพราะเป็นการสานงานต่อในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลชุดเดิม และชุดใหม่ ทำให้นโยบายต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดในช่วงที่มีสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนกลาง น่าจะมีความยุติธรรมและเป็นกลางมากกว่า และถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยที่ไม่ต้องมานั่งถกเถียงในภายหลังถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีคนกลางในภาวะวิกฤติ รองลงมา ร้อยละ 23.30 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่ควรมีนายกรัฐมนตรีคนกลาง นายกรัฐมนตรี ควรมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย 

ส่วนข้อเสนอให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเองเพื่อหาบุคคล ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.25 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่ใช่หน้าที่ของปลัดกระทรวงที่จะมารับผิดชอบโดยตรง นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง หรือเกิดจากการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกของประชาชน รองลงมาร้อยละ 46.05 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเชื่อถือในด้านคุณวุฒิตำแหน่ง และคุณธรรมจริยธรรมของปลัดกระทรวง ซึ่งเห็นว่ามีความเหมาะสม และจะได้มีบุคคลในส่วนระบบราชการ เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.36 เห็นด้วยที่จะลดอำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ไม่ให้มีหน้าที่ตัดสินให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือให้ใบเหลือง ใบแดงผู้สมัคร โดยจะให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาแทน เพราะควรให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินชี้ขาด เป็นการลดข้อครหาและเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานหรือการตัดสินของ กกต. ซึ่งปัจจุบันศาลยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือและมีความโปร่งใสมากกว่า รองลงมา ร้อยละ 30.49 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ กกต. มีหน้าที่และมีความรู้ความเข้าใจถึงกฎระเบียบตรงส่วนนี้ดีอยู่แล้ว เป็นการยึดอำนาจฝ่ายเดียวของศาลยุติธรรม อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และความวุ่นวายตามมา

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอที่ว่า ประธานรัฐสภาควรมาจากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ส่วนรองประธานสภา คนที่ 1 และ 2 อาจมาจากพรรคที่มีคะแนนรองลงมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.43 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้มีความคิดเห็นที่มาจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 43.42 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการเลือกกันเองในสภา อาจเกิดการทุจริต การซื้อขายตำแหน่ง และเป็นการให้อำนาจแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ควรมาจากบุคคลภายนอกด้วย เช่น นักวิชาการ นักการเมืองอิสระ.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.