เตือน..รีแบรนด์เที่ยวไทย แก้ให้ถูกจุดก่อนสูญเปล่า
 


เตือน..รีแบรนด์เที่ยวไทย แก้ให้ถูกจุดก่อนสูญเปล่า


เตือน..รีแบรนด์เที่ยวไทย แก้ให้ถูกจุดก่อนสูญเปล่า
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ...กำลังกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในยามนี้ยามที่เศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแรง เพราะถูกพิษเศรษฐกิจโลกซ้ำเติม จนทำให้รายได้หลักของประเทศอย่างการส่งออกต้องซวนเซล้มลุกคลุกคลานมาตลอดทั้งปี ขณะที่การท่องเที่ยวเองแม้จะถูกพิษการเมืองในประเทศทำร้ายบ้างแต่ก็ยังสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

แม้การท่องเที่ยวจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เพียงไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่ใช้กลยุทธ์นี้ แต่ประเทศอื่นในโลกต่างก็พยายามเฟ้นหา “จุดเด่น” ด้านการท่องเที่ยวมาขับสู้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะหวังได้รายได้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน เห็นได้จากการที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องถือว่าเป็นอีกหนึ่งแดนสวรรค์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต่างชื่นชมและนิยม ได้งัดมาตรการงดเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวคนไทย เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งได้รับผลดีเกินคาด เพราะคนไทยแห่แหนกันไปเที่ยวกันจนทะลักทลายกันทีเดียว

ขณะเดียวกัน ไทยได้ใช้กลยุทธ์นี้ งดเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน เพื่อกู้วิกฤตินักท่องเที่ยวในช่วงที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวจากแดนมังกรเดินทางมาเที่ยวไทยมากมายเช่นกัน!

อย่างไรก็ตามการจะให้ท่องเที่ยวเติบโตและมีนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน แค่เพียงการงดเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ดูจะไม่ใช่แนวทางที่ช่วยได้มากนัก! ต้องยอมรับว่า นักท่องเที่ยวบางกลุ่มไม่ได้มีศักยภาพในด้านการใช้จ่ายมากนักแต่แนวทางที่แท้จริงคือ การพัฒนาให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีความเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง และทำให้กลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่นักท่องเที่ยวอยากจะเดินทางมา โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพ

ด้วยเหตุนี้เอง “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รมว.การท่องเที่ยว และกีฬา จึงมีแนวคิดที่จะปรับภาพลักษณ์หรือรีแบรนด์ท่องเที่ยวไทย ซึ่งมุ่งเป้าหมายให้เมืองไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ ที่มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาใช้จ่ายให้มากที่สุด ซึ่งล่าสุดในการวางแผนยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยว กระทรวงจึงได้นำร่องรีแบรนด์แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด แหล่งท่องเที่ยวหลัก ๆ ของประเทศไทย ทั้งกรุงเทพฯ ที่เตรียมปั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา

รวมไปถึงเมืองพัทยา ที่เตรียมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบสปอร์ตเดสติเนชั่น และแหล่งท่องเที่ยวแบบครอบครัว ขณะที่ในส่วนของเกาะพะงันที่ขึ้นชื่อเรื่องฟูลมูนปาร์ตี้ และเตรียมรีแบรนด์พร้อมจัดโซนนิ่งปาร์ตี้สนุกสนาน พร้อมเพิ่มตัวเลือกให้กับนักท่องเที่ยวด้วย การจัดฟูลมูนปาร์ตี้วิถีไทย ส่วนจังหวัดน่าน จะปั้นให้เป็นเมืองปลอดภัย และท่องเที่ยวเชิงคนแก่ และสุดท้ายจังหวัดภูเก็ต ที่เตรียมปั้นให้เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบพรีเมียม

เป้าประสงค์สำคัญของการรีแบรนด์ท่องเที่ยวครั้งนี้... ได้มุ่งเป้าหมายที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมดึงนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักให้มาจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้น ให้เข้ามาพักผ่อนกันนานขึ้น

อย่างไรก็ดี หากมองในฝั่งของเอกชนนั้น การจะปรับภาพการท่องเที่ยวให้เป็นไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ และมองภาพไกลถึงความยั่งยืนด้วย โดย “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) บอกว่าการจะ รีแบรนด์ท่องเที่ยวไทย ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรที่จะศึกษาให้ดีก่อนว่า ในแต่ละพื้นที่ที่จะทำตอบโจทย์ความต้องการและกับคนในพื้นที่หรือไม่ โดยเฉพาะกับคนในพื้นที่ที่ประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้จากการรีแบรนด์การท่องเที่ยวจะต้องเข้าถึงคนในชุมชนมากที่สุด

“การปรับภาพลักษณ์ให้ในแต่ละแหล่งท่องเที่ยวมีจุดเด่นเพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ถือเป็นเรื่องดีกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแต่ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ทำตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยวจริง ๆ เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการจริง ๆ อีกทั้งเมื่อทำได้แล้วก็จะต้องมีความยั่งยืน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่จะต้องคิดต่อยอดไปให้ได้ว่าจะทำให้การรีแบรนด์ครั้งนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืนได้อย่างไร”

ขณะที่ “สุเฉลิมพร ปรมะเจริญโรจน์” ผู้บริหารบริษัท แม็กซี่คอร์ป จำกัด ผู้ให้บริการโรงแรมซูการ์ ปาล์ม และโรงแรมซูการ์ มารีน่า บอกถึงสิ่งที่อยากเห็นแหล่งท่องเที่ยวในภูเก็ตว่า หากจะมองภูเก็ตในอีก 6 ปี ควรเริ่มตั้งแต่การแก้ปัญหาพื้นฐานในปัจจุบัน ซึ่งต้องการเห็นภูเก็ตเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่มองที่จำนวนนักท่องเที่ยว เพราะยิ่งนักท่องเที่ยวเพิ่ม เมืองภูเก็ตก็ยิ่งหนาแน่นซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาการจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูล ระบบขนส่งมวลชน ถนนหนทาง ทำให้นักเที่ยวคุณภาพไม่อยากมา ดังนั้นก่อนที่จะมองไปข้างหน้า วันนี้ต้องแก้ปัญหาให้เรียบร้อย รวมทั้งพัฒนาคัดสรรนักท่องเที่ยวคุณภาพให้มากขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของวงการท่องเที่ยวไทยจะออกมาอย่างไร แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องการเห็นมากที่สุด คือการทำให้แหล่งท่องเที่ยวที่กำลังจะพัฒนา ตอบโจทย์ที่ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากที่สุด ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ได้รีแบรนด์ไปก็สูญเปล่า!.

เอวิกานต์ บัวคง



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.