ควันหลง ที่สุดแห่งงาน ′เสวนา′ ′นิธิ 20 ปีให้หลัง′ พลังความรู้-ความคิดที่ถูกส่งต่อ (มีคลิป)
 


ควันหลง ที่สุดแห่งงาน ′เสวนา′ ′นิธิ 20 ปีให้หลัง′ พลังความรู้-ความคิดที่ถูกส่งต่อ (มีคลิป)


 ควันหลง ที่สุดแห่งงาน ′เสวนา′ ′นิธิ 20 ปีให้หลัง′ พลังความรู้-ความคิดที่ถูกส่งต่อ (มีคลิป)


มติชน



ควันหลง ที่สุดแห่งงาน ′เสวนา′ ′นิธิ 20 ปีให้หลัง′ พลังความรู้-ความคิดที่ถูกส่งต่อ

โดย วจนา วรรลยางกูร และ วรรณโชค ไชยสะอาด




(จากซ้ายไปขวา) เกษียร เตชะพีระ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ประจักษ์ ก้องกีรติ และนิธิ เอียวศรีวงศ์



ว่ากันว่าเป็น "งานใหญ่ส่งท้ายปี"

กับงานเสวนาในหัวข้อ "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ว่าด้วยหนังสือ 4 เล่มที่จัดพิมพ์ออกมาเป็นชุด ผลงานของนักวิชาการรุ่นใหญ่หาเปรียบยาก นิธิ เอียวศรีวงศ์

1.กรุงแตก พระเจ้าตากฯ, 2.ชาติไทย เมืองไทยฯ, 3.โขน, คาราบาวฯ และ 4.ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น กางเกงใน และ ฯลฯ

ความคึกคักเริ่มต้นตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม เก้าอี้ที่ตระเตรียมไว้ถูกจับจองเต็มหมดด้วยเวลาอันรวดเร็ว

งานนี้ นอกจากปาฐกถาจากอาจารย์นิธิที่ทุกคนเฝ้าคอยแล้ว ยังมีการพูดคุยถึงผลงานชุดนี้ ตลอดจนข้อเขียนอื่นๆ ของ อ.นิธิด้วย โดยได้นักวิชาการอย่าง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เเละ เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. ร่วมเสวนา โดยการดำเนินรายการอย่างเป็นกันเองของผู้ดำเนินรายการสาวเห็นเป็นกรี๊ด เจ้าของฉายา "เจ้าชายแห่งวงการรัฐศาสตร์" ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ.

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา งานของ อ.นิธิเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับนักศึกษาในเเต่ละยุค รวมทั้งผู้ดำเนินรายการด้วย

"ทำไมนักประวัติศาสตร์ถึงวิเคราะห์การเมืองได้ดีกว่าอาจารย์รัฐศาสตร์ นั่นคือความรู้สึกเมื่อผมได้อ่านหนังสือของ อ.นิธิ"

ประจักษ์เปิดวงเสวนาด้วยความชื่นชม ก่อนจะเข้าสู่การพูดคุย

ประวัติศาสตร์ ′ร่วมสมัย′ ในแบบ ′นิธิ′

เริ่มต้นด้วย อ.ธเนศพูดถึงการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ภายใต้มุมมองของ อ.นิธิ

อ.ธเนศกล่าวว่า ถ้าใครติดตามงานเขียนของ อ.นิธิมาตลอด จะรู้ว่าไม่ใช่ประวัติศาสตร์ธรรมดา เเต่เป็นการเมืองมากกว่าประวัติศาสตร์ โดยการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ภายใต้มุมมองของ อ.นิธินั้นเเตกต่างจากงานเขียนของนักเขียนคนอื่นๆ เเม้จะใช้เนื้อหา เรื่องราว รวมทั้งหลักฐานที่เป็นหลักฐานทางพงศาวดารมาประกอบเหมือนกับเล่มอื่นใช้ เเต่จะมีความโดดเด่นในการสร้างความเข้าใจ เเละความกระจ่างในยุคสมัยจากอดีตถึงปัจจุบัน

นั่นคือจุดเด่นที่ทำให้งานเขียนของ อ.นิธิ พิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง เเม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป

"เเทบไม่มีหนังสือไทยเล่มไหนที่สามารถอยู่รอดเเละใช้เป็นหลักฐานได้เกินกว่า10ปีหากงานของ อ.นิธินั้นถือเป็นข้อยกเว้น ที่สามารถอยู่ผ่านการเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้น รวมทั้งการล่มสลายของหลายสิ่งหลายอย่าง" ธเนศกล่าว

ถ้าถามธเนศว่า อะไรที่ทำให้งานของนิธิเป็นเเบบนั้น?

คำตอบที่ได้รับคือ "เพราะสามารถนำมาอ้างอิงประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันได้ นอกจากจะเป็นความร่วมสมัยเเละก่อให้เกิดการถกเถียงตลอดเวลาเเล้ว ผมคิดว่า งานยังมีสิ่งที่เรียกว่าการสร้างประวัติศาสตร์ อย่างการอธิบายการเกิดขึ้นของสยามยุคใหม่ ผมคิดว่าเขาได้ค้นพบวิธีการสร้างประวัติศาสตร์

"สังเกตได้ว่างานชุดเเรกๆ ของ อ.นิธิให้ความสำคัญกับการสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์อยู่เยอะ เพราะต้องการสร้างความเข้าใจในกระบวนการประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นจากอดีตมาสู่ปัจจุบันอย่างกระจ่าง อีกอย่างในความพิเศษของ อ.นิธิ คือการอธิบายบริบทประวัติศาสตร์เเบบใหม่ คือการนำข้อมูลหลักฐานเข้าไปใกล้กับประวัติศาสตร์มากขึ้น เพื่อความเข้าใจให้มากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์นั้นบอกไม่ได้ทั้งหมดว่า เรื่องนั้นๆ จริงหรือไม่จริง เเต่เราบอกได้มากที่สุดว่ามันใกล้ความเป็นจริง

"ขณะที่ปัจจุบันเมื่อเหตุการณ์มีความแหลมคมมากขึ้น ยิ่งจำเป็นที่ต้องอธิบายบริบทรอบด้านให้มากด้วย" ธเนศกล่าว



คือปัญญาชนผู้ ′ปรับทัศนคติ′ สังคมไทย

"อ.นิธิเป็นปัญญาชนผู้ปรับทัศนคติของสังคมไทยอย่างใหญ่หลวงที่สุดในรอบ 20 ปี คิดดูว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ใครจะยังจำค่านิยม 12 ประการได้" ประโยคจาก อ.เกษียรที่เอ่ยจบก็หัวเราะเสียงดังลั่น

"20 ปีให้หลัง งานของ อ.นิธิยังไม่เชย เพราะอาจารย์ไม่หยุด มีการปรับความคิดให้เท่าทันสังคมไทยตลอดเวลา" เกษียรย้ำ

เกษียรบอกว่า งานของ อ.นิธิเป็นการมองการเปรียบเทียบและใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยามาจับ เน้นลักษณะไม่คงที่ เปลี่ยนแปรเรื่อยๆ เรื่องสำคัญที่ค้นพบ คือ การชี้ให้เห็นวาทกรรมความเป็นไทยสามแบบ

1.The imaginary Thainess ความเป็นไทยในจินตนาการ

2.The Symbolic un-Thainess ความไม่เป็นไทย เป็นอื่นในฝันที่เราไม่เป็นและอาจจะไม่มีวันเป็น

3.The Real Thainess ความเป็นไทยที่เราเป็นอยู่จริงแต่ถูกกลบเกลื่อนกดทับไว้ ถูกความเป็นไทยในจินตนาการและความเป็นไทยในฝันกดทับไว้ ทำให้คนไทยขาดความสามารถในการเข้าใจตัวเอง สิ่งที่คนไทยแสดงออกคือ อัตวินิบาตกรรมทางวัฒนธรรม การอายและเกลียดตัวเองที่ดันเกิดมาเป็นคนไทยซึ่งไม่เป็นเหมือนอุดมคติความเป็นไทยในอดีตของนักอนุรักษนิยมที่ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริงและไม่เทียมทันความไม่เป็นไทยในอนาคตของนักพัฒนาที่อาจไม่มีวันเป็นได้

"คนมีแง่งามแต่ก็มีด้านมืดด้านต่ำปัญหานี้ต้องมีการยอมรับและจัดการ แต่วัฒนธรรมไทยที่เรียนรู้มากดทับไว้ให้เราอายและเกลียดตัวเองในแง่ที่เป็นจริง สุดท้ายแล้วความเป็นไทยที่เราเรียนรู้ใช่ความเป็นมนุษย์จริงๆ หรือเปล่า" เกษียรเกล่าว

ดังนั้น ต้องคืนคนให้แก่วัฒนธรรม คืนวัฒนธรรมให้แก่คน ไม่ต้องอายการเป็นคนในความเป็นจริง ต้องทำให้กระบวนการนิยามสร้างสรรค์ เป็นไปโดยเสรีประชาธิปไตย

สิ่งที่เราต้องการคือการเสวนาอย่างสันติและเสรี ระหว่างคนไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา และเพศ คนชั้นกลางในเมืองห่างไกลจากคนชนบท และวัฒนธรรมปัญญาเชิงวิจารณ์ของปัญญาชนโลก

เหมือนเกษียรจะพยายามชี้ว่า นี่คือสิ่งที่งานของ อ.นิธิ สังเกตเห็นและร้องทักสังคม

อ.เกษียรทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอของ อ.นิธิจากบทความ "มองการเมืองไทยผ่านกรัมชี่" คือฐานทางวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมยอมรับอำนาจครอบงำซึ่งรัฐต่างๆ ยึดกุมอยู่ ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ กรัมชี่ชี้ว่าปีศาจตัวใหม่จะเกิดขึ้น ปัญหาคือ จะเป็นปีศาจแห่งกาลเวลาตัวแทนอำนาจนำใหม่ของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือเป็นปีศาจแห่งโลกเก่าของสมาคมชั้นสูงที่ปฏิเสธพรุ่งนี้

หลังจากที่ทั้ง 2 อาจารย์พูดถึง อ.นิธิ และผลงานแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงสำคัญ คือ ปาฐกถาของ "พระเอกตัวจริง"

ตลอดจนการถามตอบที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่ได้ความรู้ ความคิด กลับบ้านแน่นหนัก

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเสวนาเท่านั้น

แต่บรรยากาศที่แน่นขนัดไปด้วยนักเขียนนักวิชาการลูกศิษย์ลูกหาตลอดจนแฟนหนังสือของ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" นั้น อาจจะไม่สามารถเจอะเจอได้บ่อยครั้งอย่างในครั้งนี้

"นิธิ 20 ปีให้หลัง"



คำต่อคำ ปาฐกถา ′นิธิ เอียวศรีวงศ์′ ได้อะไรจากการเป็นนักสะสมนาฬิกา?

สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมก็คงไม่รู้จะพูดอะไรมากนะครับ ก่อนอื่นก็คงต้องขอขอบคุณ อ.ประจักษ์ อ.ธเนศ และ อ.เกษียร เป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่กรุณามาให้ความเห็นที่น่าสนใจมากๆ ในวันนี้ นอกจากนี้ก็แน่นอน ผมขอขอบคุณศิลปวัฒนธรรม และมติชน ในการจัดงานวันนี้ขึ้น

ก็คงขอคุยอะไรเล็กๆ น้อยๆ โดยเริ่มต้นจากเรื่องค่อนข้างส่วนตัวนิดหน่อย


ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บมจ.มติชน (กลาง) และ
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน (ขวา)
ให้การต้อนรับนิธิ เอียวศรีวงศ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ


ผมเป็นนักเล่นนาฬิกานะครับ สะสมนาฬิกาไว้หลายประเภท ทั้งนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนข้างฝา และอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นนาฬิกาเก่า ที่ยอมเสียเงินไปซ่อม แต่ซื้อมาในราคาค่อนข้างถูก และผมมาพบอย่างหนึ่งว่า ไอ้นาฬิกานี่มันมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ คุณสามารถหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการ คุณหมุนมันกลับไปได้เลย ถ้าเป็นนาฬิกาที่มีวันที่ด้วย แม้แต่วันที่มันก็จะย้อนกลับให้เราได้ด้วย แต่ข้อเสียของนาฬิกามันมีอยู่อีกอย่างหนึ่งก็คือถึงเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตามแต่ มันก็จะเดินก้าวหน้าต่อไปอีกไม่ยอมหยุด เดินมาถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้สักวันหนึ่ง

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องส่วนตัวที่ผมอยากจะพูดวันนี้ด้วยคือผมรู้สึกว่าผมได้อะไรเขียนลงไปในศิลปวัฒนธรรมเมื่อ20 ปี ที่ผ่านมานั้น คำถามของ อ.ประจักษ์คือ สิ่งเหล่ามันเชยหรือยัง

เอาเข้าจริงผมว่ามันเชยมากๆ มันแย่มากๆ เช่นเป็นต้นว่า เรื่องเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทยคือ ใช้ไม่ได้กับหนังไทยในปัจจุบันเอาอย่างนั้นแล้วกัน หนังไทยในปัจจุบันมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างเดียวแล้ว คุณใช้ความคิดเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทยตอนนั้น มาดูหนังไทยในปัจจุบันนี้ไม่ได้ มันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทีเดียว คงต้องใช้กรอบวิธีมองอย่างอื่นแทน

เพราะเหตุที่ว่าวัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่ อ.เกษียรพูดถึงคือวัฒนธรรมที่เป็นจริง มันได้เปลี่ยนไปอย่างมากในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา เวลาที่พูดถึงวัฒนธรรมนั้น ผมหมายความถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง-ผู้ชายในปัจจุบันนี้ก็ไม่เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง-ผู้ชายเมื่อตอนที่ผมเขียนเมื่อ20ปีที่แล้วหรือความสัมพันธ์ระหว่างคนรวย-คนจน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวชนบทกับชาวเมืองอย่างที่ อ.เกษียรพูดก็เปลี่ยนไปอย่างยิ่ง มากมายหลายหลาก

ถ้ามองเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งผมถือว่านั่นล่ะคือ วัฒนธรรม ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของสังคมไทยคือ พบว่าเราไม่ได้สัมพันธ์กัน อย่างที่เราเคยสัมพันธ์กันแล้ว แน่นอนครู กับศิษย์ในปัจจุบันก็ไม่เหมือนครูกับศิษย์ในเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ผมพบสิ่งนี้ และผมคิดว่าสิ่งที่ผมพยายามจะเตือนจะเสมอเมื่อ 20 ปีที่แล้วคือ วัฒนธรรมไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เวลาเขียนเรื่องเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทย ผมก็บอกว่า นั่นเป็นกรอบวิธีคิด วิธีเล่าเรื่องของคนไทยในอดีต แล้วมันสะท้อนมาในหนัง มีเสือ มีลูกสาวกำนัน มีอะไรก็แล้วแต่ มันจะวนซ้ำ จากจุดเริ่มต้นที่มีความสุข วนกลับมาสู่จุดที่มีความสุขอีกครั้งหนึ่ง เวลามันไม่เดินไปไหน นิยายไทย เวลามันจะหมุนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่เดินไปข้างหน้า และหนังไทยในช่วงนั้น สมัยนั้นก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ คือเป็นนิยาย หรือเรื่องราวที่เวลามันหมุนวนกลับมาสู่ที่เก่าตลอดเวลา และผมก็เตือนเอาไว้ในบทความนั้นว่า สิ่งนี้มันต้องเปลี่ยน วันหนึ่งข้างหน้ามันจะต้องเปลี่ยน จะเปลี่ยนไปสู่อะไรผมก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน

หรือเวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ผมก็บอกว่า สิ่งที่พูดมานี้มันก็เป็นอุดมคติ ที่วันหนึ่งมันก็ต้องเปลี่ยนไป และไม่กลับมาเหมือนเก่าอีก

20 ปีผ่านไปเร็วเหมือนโกหกจริงๆ สำหรับผมรู้สึกว่ามันไวมากๆ เพราะมันไม่ใช่อีกแล้ว สังคมไทย ประเทศไทยมันไม่ใช่อย่างที่ผมจินตนาการถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันเปลี่ยนไปหมด นั้นเป็นสิ่งที่ผมสำนึกได้เมื่อ 20 ปีมาแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรม ไม่เคยอยู่นิ่งกับที่ มันมีพลัง มีพลวัต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ แต่ใน 20 ปีต่อมา ผมมาพบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้นขึ้นไป มีความตระหนักในเรื่องนี้น้อยเกินไป

กล่าวคือ รูปแบบของวัฒนธรรมหนึ่งๆ นั้น จริงๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะมีอเมริกันเข้ามา หรือเราส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น หรือเพราะจีนเปลี่ยนประเทศมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ปัจจัยภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว มันยังมีปัจจัยสำคัญอยู่อีกอันหนึ่งคือ ในแต่ละรูปแบบวัฒนธรรม มันมีผลประโยชน์ปลูกฝังของคนบางกลุ่มบางเหล่าในวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วย

หมายความว่า การมองชีวิตเป็นวงกลมแบบรามเกียรติ์ หรือหนังไทยเมื่อ 20 ปีมาแล้ว ไม่ใช่เป็นความคิดตกค้างมาจากรามเกียรติ์เฉยๆ มันมีผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม มันมีโลกทรรศน์ของคนบางกลุ่ม มันมีอำนาจของคนบางกลุ่ม ที่อยากให้ทุกคนมองเวลาเป็นวงกลมแบบนั้น คือเวลาพูดถึงเวลาเป็นวงกลมก็ตาม ลูกศิษย์ควรเคารพครูอย่างยิ่งก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัฒนธรรมเฉยๆ แต่ในวัฒนธรรมนี้มีส่วนที่เอื้อต่อโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างผลประโยชน์ และอื่นๆ เป็นอย่างยิ่ง

ผมยอมรับว่า 20 ปีที่แล้วมองประเด็นนี้ไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ในปัจจุบันนี้ผมคิดว่ามองเห็นประเด็นนี้ชัดเจนขึ้น

เมื่อสักครู่นี้ อ.ประจักษ์ได้พูดว่าหนังสือเล่มนี้ (กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย) พิมพ์ 11 ครั้ง ผมอยากจะเตือนว่าหนังสือ (ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์) ซึ่งผมเดาว่าพิมพ์มากที่สุดในประเทศไทย แต่ไม่ทราบว่าใช่หรือเปล่า คือ เมื่อสัก 20 ปีมาแล้ว ประวัติศาสตร์ไทย ของหลวงวิจิตรวาทการ พิมพ์ 24 ครั้งแล้ว ปัจจุบันเดาว่า อาจจะถึง 30 กว่าครั้งแล้วก็ได้

หนังสือเล่มนั้นจะดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไรนี้ไม่พูดถึง เพียงแต่เป็นตัวอย่างที่ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า การมองประวัติศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่ได้เป็นการมองของนักปราชญ์ หรือของนักประวัติศาสตร์เฉยๆ แต่มองอย่างนี้มันเอื้อต่อโครงสร้างผลประโยชน์ โครงสร้างอำนาจ โครงสร้างอะไรของคนบางกลุ่มบางเหล่าด้วย แล้วเขาก็อยากจะรักษาให้การมองอย่างนั้นดำรงอยู่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น หนังสือประวัติศาสตร์แบบหลวงวิจิตรฯ ที่เน้นให้ทุกคนเสียสละเพื่อชาติของตนเอง โดยอยู่ภายใต้การกำกับของคนเก่งคนฉลาดบางคน หรือบางกลุ่ม ไม่ใช่รักชาติเฉยๆ แต่รักชาติภายใต้การกำกับของคนบางกลุ่มด้วย วิธีแบบนี้ต้องมีความหมาย เพราะถ้าไม่มีความหมาย มันพิมพ์ถึง 20-30 ครั้งอย่างนั้นไม่ได้

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าไอ้นาฬิกานี่มันสอนใจเรา ไม่ว่าคุณจะหมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเมื่อคุณพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต ไอ้นาฬิกามันไม่หยุด มันเสือกเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อยากจะเจอมันอีกตลอดไป

ฉะนั้น ในฐานะคนเล่นนาฬิกา ผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่าง ที่หลายคนในประเทศไทย ที่ยังท่องตำราหลวงวิจิตรฯไม่เข้าใจว่า คุณอาจถอยกลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว แม่งเสือกเดินต่อไปอีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึงจนได้เสมอไป

ผมมีเพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณมากเลยครับ

ชมคลิปการเสวนา



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.