นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความสงบของรัฐประหารไทย
 


นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความสงบของรัฐประหารไทย


 นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความสงบของรัฐประหารไทย

ความสงบของรัฐประหารไทย

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์




อีกแล้วครับ อีกแล้ว มีข่าวบนหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสานแถลงว่า เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคอีสานตอนบนไม่สามารถจัดเสวนาเรื่องป่าไม้กับที่ดินและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้ เพราะทหารเข้ามาขัดขวาง ทั้งๆ ที่จุดมุ่งหมายของการเสวนานี้ก็เพื่อหาข้อสรุปทำเป็นข้อเสนอยื่นให้แก่รัฐมนตรีสำนักนายกฯ

ข่าวเช่นนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ผมสงสัยว่าผู้อ่านจำนวนมากคงอ่านแต่พาดหัวและกวาดตาดูเนื้อข่าวอย่างรวดเร็ว จนไม่ทันคิดว่านโยบายเกี่ยวกับป่าและที่ดินของ คสช.กระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างไร ตัวเลขของคุณเหลาไท นิ่มนวล ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสานก็คือ ปัจจุบันมีชาวอีสานถูกดำเนินคดีจากนโยบายขอคืนพื้นที่ป่าแล้ว 103 ราย ถูกออกหมายเรียกอีก 1,764 ราย และหากนโยบายนี้ถูกดำเนินต่อไป ในสามเดือนข้างหน้าจะมีพื้นที่ป่าตามกฎหมายถูกขอคืนอีก 5-6 ล้านไร่ กระทบต่อผู้คนอีกราว 30,000 คน

คำถามที่เกิดแก่ผมทันทีก็คือ ทำไม? ทำไมคณะรัฐประหารจึงต้องดำเนินนโยบายที่ดินและป่าอย่างนี้ สร้างศัตรูโดยไม่จำเป็นอยู่เสมอ ไม่เฉพาะแต่รัฐประหารครั้งนี้ หากสามารถไล่กลับไปได้ถึง รสช.ใน 2534 (พื้นที่ดงใหญ่ บุรีรัมย์)

คำตอบแรกที่ผุดขึ้นในใจและเป็นคำตอบที่ได้ยินอยู่เสมอก็คือ การแย่งยื้อทรัพยากรที่ดินระหว่างทุนและชาวบ้านซึ่งเป็นกรณีพิพาทอยู่เสมอ และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในสังคมไทยมานานแล้ว ไม่เกี่ยวกับการรัฐประหารโดยตรง เพียงแต่คณะรัฐประหารต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทุน เข้ามาใช้กำลังอำนาจของตนเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของทุนเท่านั้น

ฟังดูดีนะครับ แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปก็จะพบว่า หากดูเฉพาะทรัพยากรที่ดิน ไม่รวมแม่น้ำ, ภูเขา และเหมืองแร่ แท้ที่จริงแล้วทุนไทยยังไม่ต้องการใช้ที่ดินมากมายอะไรนัก การลงทุนด้านเกษตรกรรมของทุนไทยถูกบังคับให้ลดต้นทุนด้วยการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ไม่ใช่การเข้าไปเป็นเจ้าของที่ดินโดยตรง มิฉะนั้นก็อาจหาเช่าในราคาถูก (แม้แต่บวกค่าต๋งเข้าไปแล้วก็ยังถูก) จากกรมป่าไม้ในพื้นที่ ซึ่งถูกเรียกว่า "ป่าเสื่อมโทรม" ได้ อีกทีหนึ่งก็ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งไม่ต้องลงทุนด้านที่ดินและแรงงานเลย การขูดรีดแรงงานทำได้ยากขึ้นเพราะไทยเริ่มขาดแคลนแรงงาน จะยกไปปลูกและผลิตในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งที่ดินและแรงงานยังถูกอยู่ ก็สิ้นเปลืองค่าขนส่งจนยากแก่การแข่งขัน

ราคาของผลิตผลการเกษตรต่ำเกินกว่าจะลงทุนมากไปกว่านี้

เฉพาะกลไกที่เปิดให้ทุนเข้าถึงทรัพยากรที่ดินเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ ก็เพียบพร้อมเกินกว่าจะต้องทำสงครามแย่งยื้อที่ดินกับชาวบ้าน

อันที่จริงแม้เรามีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ที่ดินในเมืองไทยนั้นมีเหลือเฟือสำหรับการใช้ประโยชน์ของทุกฝ่าย หากจัดสรรให้ดีทุกคนก็ได้ใช้ตามกำลังของตน โดยยังมีป่าเหลือในปริมาณที่ทำให้ระบบนิเวศแข็งแกร่งด้วย เรื่องของเรื่องอยู่ที่ "การจัดสรรให้ดี" ซึ่งไม่มีคณะรัฐประหารใดอาสาเข้ามาทำเลย และที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใด แม้แต่ได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นอาสาจะทำเช่นกัน

และด้วยเหตุดังนั้น นโยบายของ คสช.ที่ประกาศออกมาเกี่ยวกับทรัพยากรที่ดินก็คือ ขอคืนพื้นที่ป่าและหยุดการบุกรุกป่า จึงเป็นนโยบายที่ทำไม่ได้ ตราบเท่าที่ไม่แก้ไขปัญหาถึงระดับโครงสร้างการถือครองที่ดิน ใช่ว่านโยบายนี้แปลกใหม่แต่อย่างใด รัฐบาลทุกชนิดในประเทศไทยประกาศอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จสักรัฐบาลเดียว คสช.กินเหล็กกินไหลมาจากไหนจึงคิดว่าจะทำได้



ในระยะแรกหลังรัฐประหาร คสช. วารสารออนไลน์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย The New Mandala วิเคราะห์ว่า นโยบายที่ดินของ คสช.คือขอคืนพื้นที่ป่ากับเอกชนรายใหญ่หน่อย เช่น เจ้าของรีสอร์ต แต่มาในบัดนี้ก็เห็นแล้วว่า การขับไล่รีสอร์ตซึ่งเป็นข่าวใหญ่ได้เงียบไปแล้ว แต่หันกลับมาไล่ชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยแทน ดูประหนึ่งว่าฝ่ายทุนไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่า (ตามกฎหมาย) เอาเสียเลย ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าไม่จริง แม้แต่คดีเก่าซึ่งนายทุนนักการเมืองบุกรุกพื้นที่สาธารณะก็พลอยเงียบไปด้วย

คำอธิบายนั้นง่ายมาก การผลิตอาหารและเกษตรกรรมของทุนไทยนั้นแยกออกจากการบุกรุกพื้นที่สาธารณะไม่ได้ และการผลิตนั้นเชื่อมโยงไปกว้างไกล ไม่ใช่แค่สินค้าส่งออก แต่รวมไปถึงการจ้างแรงงานอีกจำนวนหนึ่ง การขอคืนพื้นที่ป่าจากทุนจึงมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไพศาล ทั้งนี้ ยกเว้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะไม่เชื่อมโยงไปไกลนัก รีสอร์ตที่บุกรุกป่าจึงเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อก่อนเพราะทำได้ง่าย แต่เลยจากนั้นอย่าทำดีกว่า ในขณะที่ขอคืนพื้นที่ป่ากับชาวนาชาวไร่รายย่อย ไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจแต่อย่างใดเลย (หากไม่นับอาหารในท้องและความมั่นคงของเขาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแห่งชาติ)

แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าจะทำไปทำไม เพราะไม่มีคุณค่าด้านโฆษณาชวนเชื่อสักเท่าไรแล้ว ที่มีเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยก็ไม่คุ้มกับการเพาะศัตรูเพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยไม่จำเป็น

ใครกลายเป็นศัตรูของ คสช.? ผมคิดว่าไม่เฉพาะแต่คนที่ถูกขอคืนพื้นที่นะครับ แต่รวมคนอื่นอีกมากที่อยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน ในประเทศไทยเวลานี้ มีคนอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ยังจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นโดยตรงในการทำมาหากิน ผมไม่ได้หมายถึงคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน พวกนั้นเสียอีกมักไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ เพราะขาดทั้งกำลังทางเศรษฐกิจและกำลังทางการเมือง-สังคมจะใช้ได้ แต่ผมหมายถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นโดยตรง เช่น บุกเบิกที่ไร่ที่นาในพื้นที่สาธารณะประเภทต่างๆ จับปลาในแม่น้ำ หรือเก็บของกินของใช้จากในป่า แต่รายได้หลักของครอบครัวอาจไม่ได้มาจากกิจกรรมอย่างนี้ กลับมาจากตลาด จะเป็นงานจ้างหรือการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แม้กระนั้นรายได้จากการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นโดยตรงก็ยังมีความสำคัญแก่ครอบครัว

คนเหล่านี้ไม่ได้ "ดักดาน" อยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างนี้ เพราะพวกเขาหรือครอบครัวของเขากำลังพยายามไต่เต้าให้สูงขึ้นด้วยการสั่งสมทักษะที่มีค่าในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ผ่านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เช่น โรงงาน, งานรับจ้าง หรือตลาด การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยตรง แม้มีความสำคัญแต่ก็เป็นภาวะชั่วคราวของพวกเขาเช่นกัน

คนเหล่านี้แหละครับที่สะดุ้งสะเทือนกับนโยบายขอคืนพื้นที่ของ คสช. และเมื่อการร้องขอหรือการเรียกร้องของคนในสถานะเดียวกับเขา (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินหรือการเปิดเขื่อนจับปลา) กลับถูกระงับหรือปราบปรามไม่ให้เกิดขึ้น จะให้เขารัก คสช.ย่อมเป็นไปไม่ได้ วันนี้เขายังไม่โดน แต่นโยบายนี้ย่อมต้องมาถึงเขาไม่ในวันนี้ก็พรุ่งนี้ แม้ไม่มาถึงเลยก็ทำให้เขาอยู่ในฐานะเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก แค่จะลงทุนซ่อมบำรุงเครื่องมือก็มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแล้ว

ด้วยเหตุดังนั้น นโยบายรักษาป่าด้วยการขอคืนพื้นที่และยุติการบุกรุกด้วยวิธีการที่ คสช.ได้ทำมาแล้ว จึงไม่เพิ่มความชอบธรรมให้แก่การยึดอำนาจแต่อย่างใด คงต้องหาเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังนโยบายและการปฏิบัติเหล่านี้ที่อื่นกระมัง

และผมคิดว่า เหตุผลเบื้องหลังที่แท้จริงมาจาก "ความสงบ" ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการยึดอำนาจ จนใช้เป็นชื่อของคณะรัฐประหาร แต่ "ความสงบ" นี้มีความหมายกว้างกว่าม็อบปิดกรุงหรือม็อบต่อต้าน หากหมายถึงการฟื้นฟูรัฐที่มีอำนาจในการดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยใช้เครื่องมือกฎหมายและกองกำลังของรัฐ เพราะความไม่ "สงบ" ในสังคมไทยในทรรศนะของกระฎุมพีคือความขาดระเบียบวินัย ปั่นป่วนวุ่นวาย ไร้ระเบียบ ยิ่งไปกว่าม็อบการเมืองในกรุงเทพฯมากนัก มีคนโกงในทุกระดับ ซ้ำทัศนคติของคนทั่วไปยังเห็นว่าโกงก็ไม่เป็นไร ผู้คนพร้อมละเมิดกฎหมายหากทำแล้วได้กำไร ศาสนธรรมถูกทอดทิ้ง แม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเคยเป็นหลักยึดให้เกิดความสงบก็ยังถูกละเมิดจากผู้คนอยู่เสมอ สังคมไทยกำลังเดินไปสู่ความหายนะ เพราะธรรมชาติอันชั่วร้ายของคนไทยเอง เนื่องจากขาดการศึกษาหรือชั่วโดยสันดานก็ตาม

ฉะนั้นจึงต้องมีอำนาจพิเศษเข้ามาช่วยรักษาคนไทยให้รอดพ้นจากคนไทย อำนาจนี้จะเข้ามาสถาปนา "ความสงบ" ให้บังเกิดมีขึ้นในสังคมของเรา ก่อนที่จะตกอยู่ในมิคสัญญีที่ไม่มีทางกู้คืน



นี่คือ peace and order ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของระบอบอาณานิคมที่ครอบงำอุษาคเนย์มานาน พวกอังกฤษ, ดัตช์, ฝรั่งเศส และอเมริกันคิดว่า หากปราศจากพวกเขา ธรรมชาติอันชั่วร้ายของชาวพื้นเมืองกึ่งดิบกึ่งดีจะทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาแย่งชิงทรัพย์สมบัติกันอย่างบ้าคลั่ง ฆ่ากันตายเป็นเบือ จนสังคมแตกสลายลง ไม่เหลือแม้แต่สิ่งดีๆ ที่จักรวรรดินิยมได้สู้อุตส่าห์สร้างไว้ให้ เป็นภาระของคนขาวที่ต้องมีอำนาจพิเศษในการควบคุมรัฐอาณานิคม เพื่อช่วยชาวพื้นเมืองให้รอดพ้นจากพิษภัยของชาวพื้นเมืองเอง

ในภาษาไทย peace and order ในความหมายนี้แปลได้หลายอย่าง นับตั้งแต่ "ความสงบเรียบร้อย" ของ คสช.และ รสช., "ความมั่นคง" ของคณะรัฐประหารชุดอื่น และรวมแม้กระทั่ง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ด้วย

"ความสงบ" ในความหมายอย่างนี้ต่างหากที่เป็นข้ออ้างความชอบธรรมของการยึดอำนาจ ไม่ใช่นโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือการรักษาความยุติธรรมในการแย่งยื้อทรัพยากรระหว่างทุนและชาวบ้าน เหมืองทองคำซึ่งได้รับสัมปทานโดยถูกต้องตามกฎหมายจากรัฐไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากเหมืองของตนเหนือความเดือดร้อนของชาวบ้าน เพราะถ้าปล่อยให้ชาวบ้านตั้งเงื่อนไขการใช้ประโยชน์เหมืองได้เอง จะเกิด "ความสงบ" ขึ้นในบ้านเมืองได้อย่างไร เช่นเดียวกับพื้นที่ซึ่งถูกกฎหมายจัดว่าเป็นป่า ก็ต้องเป็นป่า เขื่อนที่กฎหมายอนุญาตให้สร้างขึ้นแล้ว ก็คือเขื่อนที่ต้องทำหน้าที่ของมันตามกฎหมาย

ที่ไม่ได้จัดการเรื่องทรัพยากรอย่างเสมอหน้ากันระหว่างคนจนและคนรวย ก็เพราะหากไปปรับโครงสร้างการถือครองและจัดการทรัพยากรใหม่ ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายไม่รู้จบ เป็นอันตรายต่อ "ความสงบ" ของสังคม

"ความสงบ" หรือ peace and order ในความหมายนี้ เมื่อประเทศในอุษาคเนย์ได้ปฏิวัติประชาชาติขับไล่จักรวรรดินิยมออกไปแล้วก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็น statism หรือรัฐนิยมในทุกประเทศของอุษาคเนย์ (ซึ่งแตกต่างจากชาตินิยม) ไม่พักต้องพูดถึงประเทศไทยซึ่งไม่เคยผ่านการปฏิวัติประชาชาติเลย ชนชั้นปกครองไทยยังฝังใจอยู่กับ "ความสงบ" แบบระบอบอาณานิคมเหมือนเดิม



 

(ที่มา:มติชนรายวัน 22 ธันวาคม 2557)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.