"ดิเรก"ฝันไกลดันรัฐธรรมนูญ"ถึงฝั่ง"ถ้าการเมืองไม่เข้มแข็ง บ้านเมืองแย่ไปไม่รอด
 


"ดิเรก"ฝันไกลดันรัฐธรรมนูญ"ถึงฝั่ง"ถ้าการเมืองไม่เข้มแข็ง บ้านเมืองแย่ไปไม่รอด



ใน รอบ 7 ปี ทุกครั้งที่มีวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นบนกระดานการเมือง ชื่อของ "ดิเรก ถึงฝั่ง" สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เคยตกหล่นจากการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในปี 2552 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้น "ดิเรก" เป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธาน ประธาน

คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วงที่อุณหภูมิการเมืองเริ่มร้อนระอุ

เป็นช่วงที่การต่อสู้ระหว่างม็อบ นปช.กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่งผ่านการปิดกรุงเทพฯ และทหารจะเข้าสลายการชุมนุมมาหมาด ๆ

คณะกรรมการสมานฉันท์ฯของ "ดิเรก" ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพื่อศึกษาแนวทางสมานฉันท์ทุกมิติ เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งในห้วงนั้น

คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้แบ่งตัวเป็นคณะอนุกรรมการ 3 ชุดย่อย คือ อนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ อนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมือง อนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งจากประชาชนทั่วประเทศ และพรรคการเมืองต่าง ๆ จนคลอดแนวทาง สมานฉันท์ 3 ข้อ

1.ลดวิวาทะ อคติ และการตอบโต้ใส่ร้ายทางการเมือง 2.รัฐบาลและฝ่ายค้านควรลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่มีอยู่เดิม และไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น 3.อาศัยสื่อมวลชนในการสร้างสังคมสมานฉันท์

พร้อมกับแนบท้ายแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ระบุว่าเป็นมาตราที่สร้างความขัดแย้งอีก 6 มาตรา

1.ประเด็น การยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมือง มาตรา 237 ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการเมือง

2.ประเด็นที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 93 ถึงมาตรา 98

3.ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 111 ถึงมาตรา 121

4.ประเด็นการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา มาตรา 190

5.ประเด็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 265

6.ประเด็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 266

เป็น 6 ข้อเสนอที่รัฐบาลอภิสิทธิ์นำไปใช้เป็นบทสรุปเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 2 ประเด็น คือ แก้ไขที่มาของ ส.ส. จาก 480 คนมาจากเลือกตั้งแบบ "พวงใหญ่-8 กลุ่มจังหวัด" มาเป็นเลือกตั้งแบบ "เขตเดียวเบอร์เดียว" พ่วง "บัญชีรายชื่อ" เพื่อรองรับการเลือกตั้งช่วงกลางปี 2554 พร้อมกับแก้ไขเรื่องการทำสนธิสัญญา มาตรา 190

แต่ข้อเสนอที่เหลืออีก 4 เรื่องถูกเก็บเข้าลิ้นชัก !

ครั้น ในยุคของพรรคเพื่อไทย เมื่อวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กลับถูกคว่ำโดยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ถามความเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญก่อนลงมือโหวตวาระ 3 เมื่อช่วงปลายปี 2555 ทำให้ในต้นปี 2556 "ดิเรก" กลายเป็นคีย์แมน หลัก นำพวกพ้อง-ผองเพื่อน ส.ว.สายเลือกตั้ง จับมือกับพรรคเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ปูทางสู่การที่ ส.ส.-ส.ว.ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 มาตราประกอบด้วย มาตรา 68 มาตรา 190 มาตรา 237 และแก้ไขมาตรา 111 ที่เกี่ยวข้องกับที่มาของ ส.ว. เพื่อให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับยังไม่ "ถึงฝั่ง" เมื่อซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขัดมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข" ทำให้ "ดิเรก" และพวกต้องกลายเป็นจำเลยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

แต่ในห้วงเวลารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกองทัพคุมอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือการเมือง พาประเทศไปสู่การปฏิรูป-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง

ชีวิต "ดิเรก" ก็เข้ามาพัวพันการร่างรัฐธรรมนูญอย่าง "ตั้งใจ" ในฐานะ สปช. และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองคนที่ 1 เขาถูกเสนอชื่อขึ้นมาคานกับ "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" ประธานคณะกรรมาธิการ

เมื่อ "สมบัติ" เสนอว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรกำหนดให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ "ดิเรก" กลับเห็นต่างและค้านแบบหัวชนฝา

เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมาธิการ ปฏิรูปการเมืองมีมติให้ ส.ส. 350 คน แบบแบ่งเขตเลือกตั้งพวงใหญ่ และให้มี ส.ว. 154 คน มาจากการเลือกตั้งสองทาง จากจังหวัดและเลือกตั้งของกลุ่มองค์กรวิชาชีพ "ดิเรก" ก็ยืนกรานไม่เห็นด้วยที่ "ดิเรก" ปฏิเสธทั้งสองแนวทาง เพราะเขายืนยันความคิดเดิมจากสิ่งที่เขาเคยศึกษา เมื่อครั้งเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ว่าการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับการเมืองไทย จะต้องให้มี ส.ส. 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และมาจากระบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน

จากประสบการณ์ที่อยู่ร่วมวงการ ร่างรัฐธรรมนูญมาตลอดตั้งแต่ยุคพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และยุคทหาร เขาคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องยกร่างด้วยการใช้ภาษาให้เลิศหรู มากมาย แต่ต้องทำให้ระบบถ่วงดุลชัดเจน มีการ
ใช้อำนาจไม่ก้าวก่ายกันและกัน

"รัฐธรรมนูญ ต้องกำหนดบทบาท 3 แท่ง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ให้มันชัดเจนไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน และ 3 แท่งคือเสาหลักของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เขาต้องมีหน้าที่มีอำนาจของเขาชัดเจนถูกต้องในแต่ละเสาหลัก แล้วเสาต้องปักให้แน่น เมื่อแน่นแล้วปัญหาอื่นจะไม่มี เหมือนเสาบ้านถ้าเราไม่ปักเสาบ้านให้แน่น เราทำบ้านให้สวยอย่างไร ถ้าเสามันไม่แน่นบ้านก็พัง ดังนั้น ลึก ๆ จริง ๆ ไม่ต้องแก้อะไรมาก"

"การเมืองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชนจริงไหม ต้องทำอำนาจของประชาชนให้เป็นอำนาจของประชาชนที่แท้จริง ต้องทำตรงนี้ให้ได้ อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องเป็นเสาหลักที่มั่นคง หน้าที่ใครหน้าที่มันทำไป เพราะมันเป็นดุลถ่วงอำนาจในตัวมันอยู่แล้ว ถ้าแก้ตรงนี้เป็นพื้นฐานหลักได้ อันอื่นที่ปลีกย่อยไม่ใช่เรื่องยาก เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกร่างมาอย่างไรก็ไม่เกิดปัญหา"

"แต่ถ้าเสาหลักยังโอนเอนอยู่จะทำอย่างไรให้มันสวยงาม เดี๋ยวก็พัง ดังนั้น เสาหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ทางศาล ดังนั้น 3 เสาหลักต้องไม่ก้าวก่ายกัน"

"แต่ที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญ 2550 ตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญไปก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารมีนโยบายที่จะทำอะไรต่ออะไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกจะทำรถไฟความเร็วสูงให้ไปทำถนนลูกรังให้เป็นลาดยางให้ดี เสียก่อน ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะต้องไปพูดถึงการบริหารประเทศ"

ในฐานะที่เคยศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2550 "ดิเรก" ย้ำข้อผิดพลาดว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ขาดหลักของความเป็นธรรมในหลายๆ มาตรา

"เช่น มาตรา 237 เรื่องยุบพรรคการเมือง คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ เอาคนเป็นตัวตั้ง เอาพรรคเป็นตัวตั้ง มุ่งที่จะขจัดการซื้อสิทธิขายเสียง ถ้าใครทำก็จะถูกลงโทษ ถึงไม่ซื้อเสียงก็ถูกลงโทษถ้าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ลงโทษแล้วต้องยุบพรรคทิ้งด้วย คนที่ไม่ได้ทำความผิดก็มุ่งไปด้วย มันผิดหลักของการออกกฎหมาย ผิดของหลักการเมืองประชาธิปไตยที่บอกว่าต้องส่งเสริมพรรคการเมืองให้เข้ม แข็ง แต่รัฐธรรมนูญบอกให้ยุบพรรคทิ้ง เป็นการสลายพรรคโดยเอาเหตุแห่งความผิดทั้งที่ไม่รู้ว่าผิดจริงหรือไม่จริง เพราะไม่ได้เข้าสู่การสอบสวนทางศาล ที่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวนอย่างถูกต้อง ผ่านอัยการ ผ่านศาล แต่ไอ้นี่ศาลรัฐธรรมนูญทีเดียวเลยพิจารณาเอง ว่าเองหมดเลยมันไม่ถูก" "ที่เราเห็นชัดคือ ที่มาของอำนาจ ส.ว.ทำไมมาจากสรรหาของคน 7 คน แล้วเอาไปถอดถอนคนที่ประชาชนเลือกมามันถูกต้องไหม นี่คือความไม่ถูกต้อง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยถูกบรรจุลงในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้เป็นของประชาชนโดยตรง มันมีอำนาจอื่นแฝง เช่น ส.ว.สรรหาครึ่งหนึ่ง ถึงต่อต้านมาตลอดว่า ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด"

"เราเคยบอกว่าเมื่อเรา เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนยังไม่ฉลาด ส.ว.ซึ่งเป็นสภาสูงมันควรมาจากการแต่งตั้งก่อน โดยตั้งสมมุติฐานว่าคนยังไม่ฉลาด แต่นี่มัน 82 ปีมาแล้ว สมมุติฐานยังตั้งเหมือนเดิมอยู่...มันไม่ถูก ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2540 เคยมี ส.ว.เลือกตั้งมาแล้วครั้งหนึ่ง ถามว่าปัญหาอะไรมันเกิดขึ้นกับ ส.ว.ที่มาจากรัฐธรรมนูญ 40 ไม่เห็นมีปัญหาอะไรกับ ส.ว.เลย ที่มาของการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ไม่เห็นเกี่ยวพันกับ ส.ว.เลย เขาบอกว่ามีสภาผัวสภาเมีย มันคนละเรื่องกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง"

"แต่ พอหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ดันเอา ส.ว. 2 ซีกเข้ามา ทะเลาะกันเลย แล้วเห็นไหมที่เป็นเรื่องกันอยู่ ส.ว.สรรหาฟ้องทั้งนั้น ก็หมายความว่าทุกคนที่รักษาสิทธิของตัวเอง คือ พอเขาจะเลิกสรรหา ตัวเองก็เลยฟ้องเลย เพราะตัวเองเสียประโยชน์ ไม่ถูก ถึงบอกว่าอย่ายึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ต้องยึดหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง"

"ดิเรก" สรุปว่า รัฐธรรมนูญ 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่ตั้ง "ธง" ตั้ง "คน" มาล้มนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม จนบานปลายกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกตลอด 7 ปี

"ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่ขัดแย้งจนเกิดเรื่องมาจากการแย่งอำนาจกัน เกิดจากคนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จะออกกฎหมายอะไรก็ตาม จะบังคับอย่างไร แต่ถ้าคนมีปัญหาอยู่มันแก้ไม่ได้หรอก"

แต่เขายังมองในแง่ดีว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างรัฐธรรมนูญใต้ร่มเงาของ คสช.นั้น จะไม่ซ้ำรอยรัฐธรรมนูญ 50 ที่ถูกฉีกไป

"น่าจะดีกว่าปี 2550 เพราะทุกฝ่ายได้พยายามนำเสนอในสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของปี 2550 ด้วย พร้อมกับเสนอของใหม่ และพวกเราก็พูดมาตลอดว่าอย่าอคติต้องยึดหลักความเป็นกลาง ถูกต้อง และที่สำคัญต้องเขียนชัดเจน อย่าให้ตีความเป็นศรีธนญชัย"

แม้ "ดิเรก" จะเป็นเพียงแค่ 1 คนใน สปช.จำนวน 250 คน ไม่ได้เป็น 36 คนในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้มีอำนาจในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่เขาชี้ช่องทาง ปฏิรูปที่สำคัญ 3 เรื่องเป็นการปิดท้าย 1.การเมือง ถ้าการเมืองไม่เข้มแข็ง บ้านเมืองเราแย่ ไปไม่รอด ต้องทำการเมืองให้เข้มแข็ง เมื่อเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเมืองต้องเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง การเมืองจะเชื่อมมาถึงการร่างรัฐธรรมนูญ การเมืองคือหัวใจของประเทศ ถ้าหัวใจสูบฉีดโลหิตดีมันก็หล่อเลี้ยงประเทศได้ดี เศรษฐกิจจะดีหมด

2.ที่ต้องทำคือ การแก้ไขปัญหาความยากจน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และ 3.คือการศึกษา ที่การเมืองแย่งอำนาจกันเพราะคนไม่รู้เรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อย่างลึกซึ้ง เรื่องการศึกษาจะต้องเสริมเข้าไป ต้องมีหลักสูตรการศึกษาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้าไปในระดับเด็กจนถึง มหาวิทยาลัย

"ถ้าเขารู้จริยธรรมการเมืองคืออะไร วัฒนธรรมการเมืองคืออะไร พรรคการเมือง สถาบันการเมืองคืออะไร ผ่านการอบรม ผ่านความเข้าใจมา เขาจะเข้าใจสิทธิของเขา การซื้อสิทธิขายเสียงจะหายไปเองโดยปริยาย ต่างประเทศเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น"

"ดิเรก" สรุป และอยากเห็นรัฐธรรมนูญไทยไปให้ "ถึงฝั่ง"




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.