มรสุมเศรษฐกิจรัสเซีย รูเบิลร่วง...สะเทือนบัลลังก์ "ปูติน"
 


มรสุมเศรษฐกิจรัสเซีย รูเบิลร่วง...สะเทือนบัลลังก์ "ปูติน"


มรสุมเศรษฐกิจรัสเซีย รูเบิลร่วง...สะเทือนบัลลังก์

แม้ธนาคารกลางรัสเซียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเดียว 6.5% แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นการรูดลงของค่าเงินรูเบิลได้ สร้างความวิตกว่ารัสเซียกำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรง และสั่นสะเทือนเก้าอี้ของ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ปูติน ที่กุมบังเหียนประเทศมา 3 วาระ

บลูมเบิร์ก ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยจาก 10.5% เป็น 17% ไม่เพียงพอที่จะต้านทานการดิ่งลงของค่าเงินรูเบิล เพราะราคาน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัสเซียลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก ทำให้นักลงทุนเทขายเงินรูเบิลอย่างหนัก เฉพาะสัปดาห์นี้เงินรูเบิลเสื่อมค่าลงแล้ว 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และอ่อนค่าลงมากกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี 2557

ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียต้องพึ่งพารายได้ภาษีจากอุตสาหกรรมพลังงานมากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมด และราคาน้ำมันต้องอยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลขึ้นไปจึงจะมีรายรับสมดุลกับรายจ่าย แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันร่วงแตะ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มจะลดลงอีก



นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากปัจจัยราคาน้ำมันและมาตรการลงโทษ จากสหรัฐกับสหภาพยุโรปแล้วการระดมทุนของรอสเนฟท์ บริษัทน้ำมันรายใหญ่สุดของรัสเซียก็มีส่วนผลักดันให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งเหวเช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทดังกล่าวออกหุ้นกู้ในรูปสกุลรูเบิลมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่ธนาคารรัฐวิสาหกิจรัสเซียเป็นผู้รับซื้อ ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารกลางรัสเซียส่งสัญญาณว่า พร้อมให้สถาบันการเงินใช้หุ้นกู้ของรอสเนฟท์เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้เงินจากธนาคารกลางได้

ท่าทีสนับสนุนรอสเนฟท์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ นายอิกอร์ เซชิน คนสนิทของนายปูตินนั่งเก้าอี้ประธานบริษัท สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความโปร่งใสและความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งกระทบต่อค่าเงินรูเบิลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันของรัสเซีย ยังทำให้หลายคนหวนนึกถึงการล่มสลายของภาคการเงินรัสเซียปี 2541 ซึ่งค่ารูเบิลร่วงกราวรัฐบาลรัสเซียผิดนัดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยพุ่งแตะเลข 3 หลัก จนในที่สุดนายบอริส เยลซิล ประธานาธิบดีขณะนั้นต้องใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก รวมถึงร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

แม้สถานะการเงินของรัสเซียในปัจจุบันจะดูดีกว่า16 ปีก่อนมาก เห็นได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2 แสนล้านดอลลาร์ และมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ แต่ถ้าธนาคารกลางยังคงขายเงินดอลลาร์เพื่อปกป้องค่าเงินรูเบิล และรัฐบาลรัสเซียยังไม่มีแหล่งรายได้อื่นมาชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากรายได้ด้านพลังงาน อาจนำไปสู่วิกฤตซ้ำรอยเดิมหรือรุนแรงกว่าเดิมได้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าธนาคารกลางรัสเซียอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ก่อนใช้ไม้ตายอย่างการควบคุมเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณความตื่นตระหนกในหมู่คนรัสเซีย อีกทั้งคะแนนนิยมของนายปูตินยังพุ่งสูง

รอยเตอร์ส มองว่า เป็นเพราะภาครัฐควบคุมสื่อได้เกือบเบ็ดเสร็จ โดยนำเสนอข่าวว่าปัญหาการเงินในประเทศเกิดจากการโจมตีของนักเก็งกำไรตลอดจนชาติตะวันตก แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงจากเงินรูเบิลอ่อนตัวและเศรษฐกิจตกต่ำ เริ่มส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางใหม่ตามเมืองใหญ่ๆ ของรัสเซียบ้างแล้ว และจะแผ่ขยายไปยังคนในหัวเมืองระดับรอง ซึ่งเป็นฐานเสียงของปูตินในไม่ช้า

และเมื่อเร็วๆ นี้ผู้นำรัสเซียก็ได้ออกมาเตือนประชาชนว่า อาจต้องเตรียมรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก โดยธนาคารกลางรัสเซียประเมินว่าปีหน้าเศรษฐกิจอาจหดตัว 4.5-4.7% ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจสหรัฐปี 2551 ซึ่งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปะทุ


เนื่องจากค่าจ้างและเงินบำนาญเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 9% ชาวรัสเซียตระหนักว่าอำนาจซื้อของพวกเขากำลังลดลง ชนชั้นกลางและชนชั้นนำจึงเริ่มนำสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปเงินรูเบิล เช่น เงินฝากในธนาคารมาแปลงเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่น อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เงินยูโร หรือเงินดอลลาร์ เพื่อรักษาอำนาจซื้อของตัวเองไว้โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่บีบีซีรายงานว่า สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในรัสเซียขยายตัวอย่างรวดเร็วในปีนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะทะยานขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดีมานด์ต่ออสังหาฯ ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัสเซียเผชิญผลกระทบอย่างรุนแรงจากราคาน้ำมันร่วง เป็นเพราะพึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงานมากเกินไป อุตสาหกรรมดังกล่าวทำเงินได้สูงและไม่ต้องลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากนัก ทำให้ชะล่าใจไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางสำนักชี้ว่า แม้ราคาน้ำมันจะดิ่งลง แต่การอ่อนค่าของค่าเงินรูเบิลก็ทำให้รายได้จากอุตสาหกรรมพลังงานในรูปเงินรูเบิลไม่ลดลงมากนัก และอาจช่วยซื้อเวลาให้นายปูตินหาทางออกหรือวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของชาวรัสเซีย เช่น แทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน ท้าตีท้าต่อยกับยุโรปหรือสหรัฐ เพื่อสร้างกระแสชาตินิยมและเรียกคะแนนเสียง


ผลกระทบต่อโลกและไทย

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจาก แคปิตอล อีโคโนมิกส์ มองว่า "ความเชื่อมโยงทางการเงินและเศรษฐกิจรัสเซียต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับต่ำ" ดังนั้น ผลกระทบจึงมีไม่มากนักแต่ประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ซึ่งมีมูลค่าการค้ากับรัสเซียสูงถึง 76,000 ล้านยูโร และมีบริษัทจากเมืองเบียร์เข้าไปลงทุนในแดนหมีขาวจำนวนมาก อาจเจอหางเลขหนักกว่าประเทศอื่น

ส่วนไทยเจอทั้งผลกระทบแง่ลบและบวก โดยมาตรการคว่ำบาตรสินค้าเกษตรจากยุโรปของรัสเซีย เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตก ช่วยเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเข้าไปตีตลาดรัสเซียมากขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนลงก็ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยลดลง ซึ่งเห็นสัญญาณบ้างแล้วที่พัทยาหรือภูเก็ต





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.