แพทย์ มช. ชูnasoformช่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่
 


แพทย์ มช. ชูnasoformช่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่


แพทย์ มช. ชูnasoformช่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและศีรษะฯ ผุด"nasoform" อุปกรณ์ปรับและควบคุมรูปร่างจมูกหลังผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ใกล้เคียงกับความจริงสุด พร้อมคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านสังคมผลงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ...

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์และผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและศีรษะ รวมตัวกันเพื่อดำเนินการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวมและสร้างเครือข่ายการรักษาในภาคเหนือ เนื่องจากการรักษาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความยากลำบากในการรักษาเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด เพราะต้องเริ่มรักษาตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนกระทั่งอายุ 20 ปี ในแต่ละทุกขั้นตอนของการรักษาต้องใช้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ อย่างน้อยประมาณ 4-5 สหสาขาวิชา ดังนั้นโรงพยาบาลหรือศูนย์ที่ให้การรักษา จะต้องมีบุคลากรและระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งถึง 20 ปี

ดังนั้น การรวมตัวแพทย์ ตามสหสาขาวิชาทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นความยากลำบากของการทำงานของแพทย์ นอกจากนี้ผู้เป็นพ่อกับแม่ จะต้องเป็นแรงสำคัญที่สุดในความตั้งใจและอดทนตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการรักษา เนื่องจากเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ มักจะมีปัญหาตั้งแต่แรกเกิด อาทิ ระบบการหายใจ การดูดนมให้ได้ปริมาณเท่ากับเด็กปกติ ปัญหาหูน้ำหนวก การพูดที่ผิดปกติ รูปทรงกรามบนและจมูก ผิดรูป เป็นต้น

จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาสิ่งที่แพทย์ศัลยกรรมแก้ไขยากที่สุดในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ คือรูปทรงจมูก เมื่อเด็กได้รับการผ่าตัดแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือทำอย่างไรให้รูปทรงใกล้เคียงกับจมูกของคนปกติ เนื่องจากรูปทรงของจมูกที่จัดไว้ไม่สามารถที่จะเอาชนะแผลเป็นได้ เพราะแผลเป็นจะรั้งจมูกให้ล้มไม่ได้รูปทรง จึงเป็นที่มาของนวัตกรรม "nasoform อุปกรณ์ปรับและควบคุมรูปร่างจมูกหลังผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่" ซึ่ง nasoform คือ อุปกรณ์ปรับและควบคุมคล้ายรูปจมูก และพัฒนามาจาก nasal stent โดยการประดิษฐ์นวัตกรรมได้ร่วมกับ ผศ.ทพญ.ดร.พนารัตน์ ขอดแก้ว อาจารย์หน่วยทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทย์เพื่อประดิษฐ์นวัตกรรมดังกล่าว

นพ.กฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนวัตกรรมที่ใช้ปรับรูปจมูกหลังผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ให้ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด สิ่งที่อยากเล่าความประทับใจหนึ่งระหว่างการพัฒนานวัตกรรม คือ ทีมเราได้รับคำแนะนำจากแม่ของผู้ป่วยที่นำ nasoform รุ่นแรกไปใช้ ให้ปรับตำแหน่งยึดไปที่หน้าผากจะทำให้ผู้ปกครองดูแลลูกได้สะดวกยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาขอ nasoform รุ่นหลัง ทำให้จมูกผู้ป่วยเชิดขึ้น สวยขึ้น และจมูกใกล้เคียงกว่าปกติ และผู้ป่วยสามารถถอดได้ ทำความสะอาดได้ นับว่ารางวัลที่ได้รับมานี้ เป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจมากที่สุดเพราะเป็นนวัตกรรมที่ง่าย และสามารถเปลี่ยนวิธีคิด วิธีใช้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนไข้ หรือสังคมได้ เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่มีต้นทุนต่ำ สามารถเผยแพร่กับสังคมไทยให้ใช้ได้ทั่วทุกประเทศ และอยากฝากถึงสังคมไทยและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้มองเห็นว่า การแก้ไขความพิการ ให้กับเด็กที่เกิดมาไม่ใช่เป็นเรื่องของความสวยงาม แต่เป็นความมั่นใจที่จะออกไปสู่สังคม สามารถทำงานได้อย่างปกติ



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.