ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร : คสช.รัฐบาลใหม่จุดเปลี่ยนบนความท้าทาย การคืนความสุขสู่สังคมไทย
 


ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร : คสช.รัฐบาลใหม่จุดเปลี่ยนบนความท้าทาย การคืนความสุขสู่สังคมไทย


 ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร : คสช.รัฐบาลใหม่จุดเปลี่ยนบนความท้าทาย การคืนความสุขสู่สังคมไทย

คสช.รัฐบาลใหม่จุดเปลี่ยนบนความท้าทาย การคืนความสุขสู่สังคมไทย

โดย ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา




มนุษย์ทุกคนทุกชาติทุกภาษาเกิดมาล้วนแต่แสวงหาความผาสุก เพราะความผาสุกย่อมนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี

สังคมไทยหลายปีที่ผ่านมาตกอยู่ในภาวะของความแตกต่างจากความคิดของคนบางกลุ่ม เกิดการต่อสู้ในลักษณะของการนำมาซึ่งความแตกแยก สร้างความสูญเสียในหลายมิติ

ความสูญเสียในสังคมที่เป็นฝีมือของผู้คนในสังคมบางกลุ่มบางพวก ก่อให้เกิดความทุกข์แก่คนส่วนใหญ่ ความเป็นไทย ความเป็นสยามเมืองยิ้มที่ผู้คนมีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นับวันที่จะห่างหายไปจากสังคม

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่สังคมไทยต้องบันทึกไว้อีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารโดยคณะนายทหารที่มองสถานการณ์สังคมแล้วว่าทำท่าจะนำมาซึ่งความแตกแยกที่รุนแรง และสร้างความทุกข์ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ภายหลังรัฐประหาร คำว่าเดินหน้าประเทศไทยเกิดขึ้น คำว่าทวงคืนความสุขจึงมีการหยิบยกขึ้นมาดำเนินการอย่างเร่งด่วน

อาการของโรคที่กัดกร่อนสังคมซึ่งมาจากความต่างบนความคิดของคนบางกลุ่ม ได้รับการเยียวยาด้วยกุศโลบายที่ผ่านการกลั่นกรองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

วันนี้มีคำถามกลับมาว่า ความผาสุกเกิดขึ้นในสังคมไทยหรือยัง ก็คงมีคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าความผาสุกที่ผู้คนของประเทศปรารถนากำลังกลับคืนมา ถึงแม้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนจากความทุกข์เป็นความสุขได้อย่างทันท่วงที

มีคำกล่าวว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างวันเดียวฉันใด สังคมไทยก็เช่นเดียวกัน คณะ คสช. รวมทั้งคนไทยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนความผาสุก ไม่ใช่จะได้มาโดยความรู้ความสามารถของ คสช. เท่านั้น คนไทยทั้งประเทศทุกสาขาอาชีพล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่จะผลักดันร่วมกันทั้งสิ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เรื่องมหาชนก ซึ่งพระราชนิพนธ์ดังกล่าวเป็นการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยได้มีความมุ่งมั่นในการเดินไปข้างหน้าถึงแม้จะมีความทุกข์แต่เมื่อมีความมุ่งมั่น ความมานะอดทน ความสุขความสำเร็จก็จะมาถึง ในปีพุทธศักราช 2542 พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส.แก่ปวงชนชาวไทย มีความตอนหนึ่งว่า ถึงจะมองไม่เห็นฝั่งเราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร โภคะทั้งหลายมิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น

เมื่อพูดถึงความสุขในโอกาสวันสำคัญต่างๆ มักจะมีนักวิชาการหรือสถาบันการศึกษาเข้าไปสำรวจความคิดเห็นหรือมีการทำโพล ตัวอย่างเช่น วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติ มีการสำรวจความสุขของคนทำงานและมีผลการศึกษา ความสุขของคนทำงานในปี 2555 ของ HAPPINOMETER เครื่องมือวัดความสุขของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล โดยวัดจากความรู้สึกและประสบการณ์ 9 มิติ ได้แก่ สุขภาพดี ผ่อนคลายดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี ครอบครัวดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี สุขภาพเงินดีและการงานดี ซึ่งในการสำรวจครั้งนั้น ดำเนินการ 2 รอบ ผลการสำรวจรอบแรก ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2555 มีคนทำงานตอบแบบสำรวจ 9,596 คน ส่วนใหญ่ทำงานด้านบริการการผลิต และงานในสำนักงานเกือบ 3 ใน 4 เป็นการจ้างงานแบบประจำเกือบครึ่ง ทำงานในองค์กรปัจจุบัน 10 ปีขึ้นไป

การสำรวจคะแนนเฉลี่ยทุกมิติ เกินร้อยละ 50 ถือว่าอยู่ในระดับ HAPPY หรือความสุขตามเป้าหมาย ถ้าคะแนนเฉลี่ยทุกมิติต่ำกว่าร้อยละ 50 ถือว่าอยู่ในระดับ UNHAPPY หรือระดับความสุขต่ำกว่าเป้าหมาย ผลรอบแรก พบว่าคนทำงานทั่วประเทศมีความสุขร้อยละ 61.1 โดยมีมิติด้านจิตวิญญาณดี ได้คะแนนสูงสุด 68.6 ส่วนมิติด้านสุขภาพดี น้ำใจดี สังคมดี การงานดี ใฝ่รู้ดี ได้คะแนนเฉลี่ยเกินร้อยละ 60 มีเพียง 3 มิติเท่านั้นที่คะแนนเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 60 ถือครอบครัวดีร้อยละ 56.2 สุขภาพเงินดีร้อยละ 55.7 และผ่อนคลายดีต่ำสุดร้อยละ 51.3 ในขณะที่การประเมินรอบสองระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2555 มีผู้ตอบแบบสอบถามเกือบเท่าตัว 16,969 คน ในขณะที่รอบแรกมีผู้ตอบ 9,596 คน ผลสำรวจในรอบนี้ พบว่าความสุขของคนทำงานทั่วประเทศในภาพรวมลดลงจากครึ่งปีแรกเล็กน้อยเหลือร้อยละ 60.9 โดยเรียงจากมิติต่างๆ ดังนี้ จิตวิญญาณดี ร้อยละ 68.8 น้ำใจดีร้อยละ 67.9 ใฝ่รู้ดีร้อยละ 61.8 สุขภาพดีร้อยละ 61.5 การงานดีร้อยละ 59.9 ครอบครัวดีร้อยละ 59.4 สังคมดีร้อยละ 57.4 สุขภาพเงินดีร้อยละ 55.3 ผ่อนคลายดีร้อยละ 52.0 ในการสำรวจ ณ เวลานั้น จะเห็นว่าความผ่อนคลาย ความสุข ด้านการเงิน ความสุขด้านครอบครัว คือ มิติที่คนทำงานต้องการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขที่ยั่งยืนมาในปัจจุบันนี้ ด้านความสุขของคนทำงานยังไม่มีผลสำรวจออกมาอย่างเป็นทางการ จะมีอยู่บ้างก็เป็นโพลด้านสังคมและเศรษฐกิจที่สถาบันการศึกษาเข้าไปดำเนินการ

หันกลับมาที่ คสช. หลังจากได้เข้ามามีบทบาทต่อการปฏิรูปประเทศ ได้มีกำหนดแผนงานหรือยุทธศาสตร์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน วางโรดแมปที่เห็นเป็นรูปธรรมหนึ่งในแผนงานที่พิสูจน์ชัดคือการคืนความสุขสู่สังคมไทย

นักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ ระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ตั้งคำถามกับผู้เขียนในการบรรยายรายวิชาจริยธรรมสำหรับผู้บริหารด้วยคำถามที่แหลมคมและผู้เขียนเลยถามนักศึกษา คนหนุ่มสาวกลับไปด้วยคำถามเดิมซึ่งคำถามมีอยู่ว่า ทำไมต้องคืนความสุข ใครทำให้เกิดความทุกข์ ทำไม คสช.ต้องออกมา และจากนี้ไปเราจะทำอย่างไร ทางรอดทางเลือกประเทศไทยจะอยู่ที่ไหนŽ

จากคำถามในวงเสวนาทางวิชาการ วันนั้นจนถึงวันนี้ นักศึกษาและผู้เขียนมีคำตอบแล้วว่าทำไมต้องคืนความสุขสู่สังคมไทย



ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจสุขภาพจิต หรือความสุขของคนไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 จากการสอบถามคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตเท่ากับ 31.30 คะแนน จากคะแนนเต็ม 15 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2557 พบว่า คะแนนความสุขลดลง 1.84 คะแนน โดยเมื่อพิจารณาตามรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานครมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตมากที่สุดที่ 34.15 คะแนน รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33.21 คะแนน ภาคใต้ 33.19 คะแนน ภาคเหนือ 33.04 คะแนน และภาคกลาง 32.68 คะแนน

ในเรื่องการสร้างความสุขของ คสช. สวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง สิ่งที่เปลี่ยนไประหว่างก่อนมี คสช. และหลังมี คสช. ระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2557 โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 2,091 คน พบว่า สิ่งที่ประชาชนคิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปหลังมี คสช. อันดับ 1 ร้อยละ 88.52 รู้สึกสบายใจมากขึ้นที่เห็นบ้านเมืองสงบสุข รองลงมาร้อยละ 81.96 สามารถเดินทางได้ตามปกติ และสะดวกมากขึ้น ขณะที่ความเห็นของครอบครัวพบว่า ร้อยละ 93.53 คิดว่าบรรยากาศในครอบครัวดีขึ้นไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของคนในครอบครัว รองลงมาร้อยละ 72.35 ได้รับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้การประกอบอาชีพการทำมาหากินสะดวกขึ้น ส่วนความเห็นของญาติ เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 90.20 มีความสุขไม่เครียดกับสถานการณ์บ้านเมือง ร้อยละ 84.71 เปิดใจรับฟังความคิดเห็นกันมากขึ้น และร้อยละ 68.43 คำนึงถึงส่วนรวมมากขึ้น สรุปได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุด คือ มีความสุขเพิ่มมากขึ้นถึงเกือบร้อยละ 90 หลังจาก คสช.เข้ามาบริหารประเทศ (มติชน 7 กรกฎาคม 2557 หน้า 13)

การทวงคืนความสุขให้ประชาชนและประเทศนั้น ผู้นำประเทศในแต่ละยุคได้กำหนดแนวคิดไว้มากมาย เพียงแต่ว่าผู้นำและเครือข่ายรอบกายจะมีจิตที่มุ่งมั่นแค่ไหน โดยเฉพาะนักการเมือง เมื่อมีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศมักจะส่งความสุขชั่วครั้งชั่วคราวให้ประชาชนเสพสุขเพื่อหาคะแนนนิยมโดยแฝงมาในรูปของนโยบาย, ซึ่งนโยบายที่ทำลายฐานรากของคนในชนบทมากที่สุดและลามมาสู่เมืองคือนโยบายประชานิยม

ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สังคมเปลี่ยนไวใส่ใจสุขภาพจิตในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ ความตอนหนึ่งน่าสนใจว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีปราชญ์หลายท่านเรียกว่าเป็นความมืดมนของประเทศ เช่น นักการเมือง เน้นประชานิยม ที่ไม่รับผิดชอบ ประชาชนลุ่มหลงในวัตถุนิยมและบริโภคนิยม สื่อมวลชนมอมเมาคนดูในทางโลภโกรธหลง มีระบอบทุนนิยม เทคโนโลยีสารสนเทศ คนไทยเชื่อและติดสร้างมโนทัศน์ตามข่าวสารที่ได้รับจากสื่อมวลชน ไม่ได้เรียนรู้ความดีความชอบจากปู่ย่าตายาย เนื่องจากพูดกันไม่รู้เรื่อง ต่างพูดกับหน้าจอตนเอง การก่อการร้ายโรคระบาดใหม่วัฒนธรรมจากต่างชาติ ความรู้ใหม่ต่างถาโถมเข้ามาในประเทศอย่างรวดเร็ว

โครงสร้างการเมืองไทยที่ผ่านมาเราสร้างศัตรูจากการเมือง นักการเมืองจึงต้องเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หัวใจสำคัญของนักการเมืองคือ ต้องมีความดี ความจริง ความงามไม่ใช่ความเท็จ ความหลอกลวง

และเมื่อใดที่เรายกย่องคนดี และทำงานในหน้าที่อย่างเต็มที่ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ประเทศก็เจริญ เราทุกคนควรมาร่วมมือกันปลูกศักดิ์ศรีความเป็นชาติไทย สร้างกติกาใหม่ นำส่วนดีจากวัฒนธรรมไทยที่ปู่ย่าตายายสะสมมาให้ ซึ่งถือเป็นแกนของสุขภาพจิตสำหรับสังคมไทยเพื่อกำจัดความมืด ได้แก่ ความจนกับความโกง โดยใช้คุณธรรมนำชีวิต ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม เคารพต่อกฎเกณฑ์และกฎหมาย ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และต้องขยัน ประหยัด มีน้ำใจ ตลอดจนน้อมนำพระบรมราโชวาทมาใช้ในการดำเนินชีวิต รู้จักข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้ว่าชั่วว่าเสื่อมยึดมั่นทำแต่ความดี (ไทยรัฐ 6 สิงหาคม 2557 หน้า 12)



ในขณะที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งหลักการทำงาน พล.ร.อ.ณรงค์วางแนวไว้ หลักการทำงานของคณะทำงานชุดนี้มีเป้าหมายเพิ่มสุขภาวะประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในระดับพื้นที่ แบ่งการทำงานเป็นสองมิติ

มิติแรก จัดให้มีโครงสร้าง 5 ประการ อาทิ 1.การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันการระบาด 2.ระบบการปฐมภูมิในระดับอำเภอ 3.การพัฒนาการเงินการคลัง 4.การกระจายกำลังคนอย่างเท่าเทียม และ 5.การบริหารจัดการหรือการอภิบาลระบบ

และมิติที่สอง คือ การจัดการปัญหาเฉพาะพื้นที่ เช่น อีสานมีปัญหามะเร็งตับ ภาคกลางมีปัญหาท้องไม่พร้อม เป็นต้น กลไกการออกแบบทั้งสองมิติจะเน้นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน

จะเห็นได้ว่า คสช.มองการคืนความสุขสู่สังคมอย่างรอบด้าน ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง มีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่รอความสุขเช่นเดียวกัน คือ เด็กๆ นักเรียนที่อยู่ห่างไกลในชนบท ใครจะคิดว่าวันนี้มีเด็กไทยส่วนหนึ่งความเป็นอยู่ย่ำแย่ยากจนขาดอาหาร ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา วันนี้เด็กกลุ่มนี้กำลังจะมีความสุข เมื่อ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนประถมศึกษามีมติอนุมัติเงินในการจัดโครงการอาหารกลางวันเพิ่มเติมให้กับนักเรียนประถมศึกษาที่มีภาวะทุพโภชนาการ จำนวน 20 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นเงินที่ให้เพิ่มเติมจากเงินรายหัวที่ได้รับ

วันนี้มีนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการเกินร้อยละ 10 และโรงเรียนไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 4,545 โรง เป็นเงินกว่า 297 ล้านบาท

ขณะที่ข้าราชการก็จะได้อานิสงส์แห่งความสุขเช่นเดียวกัน เมื่อ คสช.มีแนวคิดการขึ้นเงินเดือนตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 โดยปลัดกระทรวงการคลังแจ้งว่า การขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ 8% ต้องใช้งบประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะได้สรุปแนวทางให้ชัดเจน และเงินคงไม่มีปัญหาเพราะมีเงินคงคลังเหลืออยู่กว่า 3 แสนล้านบาท

พูดถึงข้าราชการในฐานะเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ในการทำงานให้ประชาชนมีความสุขควรจะต้องตระหนักในบทบาทหน้าที่ที่แท้จริง ความทุกข์ของประชาชนบางครั้งมาจากข้าราชการก็มีไม่น้อย ข้าราชการที่ไม่ใช่ข้าราชการมืออาชีพก็มีอยู่มาก ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอาเปรียบประชาชน ทุจริตคอร์รัปชั่นจนบ้านเมืองเสื่อมโทรมต้องกลับมาคิดใหม่ทำใหม่

การพัฒนาประเทศเพื่อความผาสุกของประชาชนเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้นำประเทศ ในเร็ววันนี้เราจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งสังคมไทยกำลังจับจ้องและเฝ้าลุ้นในตัวนายกรัฐมนตรีผู้ที่จะมาเป็นอัศวินม้าขาวดังคำกล่าวที่ว่า อยุธยาไม่สิ้นคนดี

วันนี้เมื่อมองในประเทศก็ต้องมองออกไปนอกประเทศ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง เหมือนซุนหวู่จากเรื่องสามก๊กกล่าวไว้ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง



ตัวอย่างประเทศที่กำลังเป็นมหาอำนาจเกือบทุกด้านคือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศนี้มีประชาชนนับพันล้านคน ผู้นำของเขาจึงต้องเป็นคนเก่งคนดี ปัจจุบันสีจิ้นผิงผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน ซึ่งเป็นทั้งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดี ได้ประกาศแผนปฏิรูปประเทศจีนครั้งใหม่ในที่ประชุมสภาประชาชนจีนเมื่อปีที่แล้ว

แผนปฏิรูปล่าสุดของจีน สีจิ้นผิงได้ลงมือด้วยตัวเองโดยลงไปคลุกคลีทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่คัดเลือกมา 60 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ มีการพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด 2,564 เรื่อง จาก 114 องค์กรเอกชนและภาครัฐ เพื่อย่อยออกมาเป็นนโยบายปฏิรูปประเทศ สีจิ้นผิงกำชับให้ผู้เชี่ยวชาญที่เขียนนโยบายว่าจะต้องเขียนให้ตรงกับความคาดหวังของประชาชนและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่เขียนเสียสวยหรูบนแผ่นกระดาษแต่ปฏิบัติจริงไม่ได้

การใช้คนให้ตรงกับงานมีส่วนสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการคืนความสุขและการปฏิรูปประเทศ สีจิ้นผิงคัดผู้เชี่ยวชาญ 60 คน มาร่วมงานทั้งๆ ที่เขามีประชาชนมากกว่า 1,350 ล้านคน

บ้านเรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ถ้านายกรัฐมนตรีมองไกล วางคนเหมาะกับงาน เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะก้าวไกลไม่เป็นรองในอาเซียนและเอเชีย และแม้กระทั่งในโลก ถ้าผู้นำรัฐบาลจะนำแนวคิดของผู้นำจีนมาใช้เป็นแนวทางคงจะเป็นประโยชน์ในบางบริบทสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะกฎเหล็ก 14 ข้อ ที่ใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นายทหารทุกระดับชั้นและภาคธุรกิจเอกชน อาทิ ห้ามขึ้นป้าย ปูพรมแดง มอบช่อดอกไม้แก่คนในรัฐบาล ข้าราชการนายทหารระดับสูงไม่ว่าโอกาสใด ห้ามจ่ายเงินหลวงอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะการไปตรวจราชการต้องไม่พักโรงแรมหรู ห้ามจัดเลี้ยงอาหารราคาแพง สั่งอาหารล้นโต๊ะ ห้ามคนในรัฐบาล เจ้าหน้าที่กรมการเมือง ข้าราชการนายทหารระดับสูงใช้สัญญาณไซเรนเพื่อขอทางสะดวกแก่ตน, ให้เจ้าหน้าที่ ข้าราชการนายทหารระดับสูงทุกคนอบรมสั่งสอนภรรยาและลูกให้กระทำตนเป็นเยี่ยงอย่างในการรับใช้ราชการด้วยความซื่อสัตย์ ห้ามรับสินบนทั้งหน้าบ้าน ในบ้าน และหลังบ้าน และให้ใช้เวลาพิสูจน์รถหรูราคาแพง นาฬิกาแบรนด์ดังได้มาจากไหน อย่างไร เป็นต้น

ดูหนังดูละครแล้วย้อนมาดูตนเอง เป็นคำกล่าวที่คนไทยทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันปฏิรูปประเทศ และทวงความผาสุกคืนสังคมไทยกับ คสช. ต่างชาติในหลายๆ ประเทศล้วนเดินหน้าเป็นต้นแบบให้เห็น ประเทศไทยจะเดินตามในสิ่งที่ดีงามและเป็นนวัตกรรมใหม่ไม่ใช่เป็นสิ่งน่าอาย เพียงแต่วันนี้คนไทยพร้อมหรือยังกับความสุขที่จะมาเยือนโดยร่วมมือกับ คสช.และรัฐบาล

 

..........

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 30 กันยายน 2557)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.