วิชั่น"เจ้ากระทรวง" มอบนโยบาย"ขรก."
 


วิชั่น"เจ้ากระทรวง" มอบนโยบาย"ขรก."


 วิชั่น




ณรงค์ชัย อัครเศรณี, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์

หมายเหตุ - บรรดารัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทยอยเดินทางเข้ากระทรวงเป็นวันแรกพร้อมมอบนโยบายการทำงานให้แก่ข้าราชการในสังกัด เมื่อวันที่ 12 กันยายน

ณรงค์ชัย อัครเศรณี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน


นโยบายเร่งด่วนที่จะรีบดำเนินการคือการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้ทันภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เนื่องจากแหล่งพลังงานในไทยเหลือพอใช้ในประเทศอีก 7 ปีเท่านั้น การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการพิจารณาต่ออายุสัมปทานให้รายเก่า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ สะท้อนได้จากปัจจุบันที่ภาคเอกชนให้ความสนใจสำรวจและขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในไทยน้อยลงมาก เนื่องจากมองว่าศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมในไทยไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน

ขณะเดียวกันไทยต้องมองหาแหล่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชาและเมียนมาร์ ซึ่งวันที่ 12 กันยายน จะเดินทางไปเมียนมาร์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ในโอกาสที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ลงทุนในเมียนมาร์ครบรอบ 25 ปี รวมถึงพูดคุยแนวทางการพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกันในอนาคต

สำหรับความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของไทยแม้จะมีปริมาณไฟฟ้าในระบบถึง 3.3-3.4 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ไม่อยากให้ประชาชนชะล่าใจว่าจะมีไฟฟ้าใช้ไปตลอด เพราะปัจจุบันเริ่มเกิดปัญหาไฟฟ้าตกและไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ ดังนั้นต้องเร่งเสริมความมั่นคงโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ขณะที่ก๊าซธรรมชาติมีปริมาณลดลงและเหลือใช้อีกแค่ประมาณ 7 ปี จึงควรกระจายการพึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพรวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ควรมีอยู่ในแผน ส่วนจะทำเมื่อไร ต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับพลังงานทดแทน อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) แม้จะมีความจำเป็นควรเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นพลังงานที่ไม่เสถียร และต้องใช้พื้นที่ในการตั้งแผนโซลาร์ หากเลือกพื้นที่ไม่เหมาะสมจะกลายเป็นปัญหาตามมา

นอกจากนี้ ในส่วนนโยบายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) เห็นว่า เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจในหลักการให้มีความเห็นตรงกันทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน และมีความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ทุกประเภท ส่วนตัวเห็นว่าควรยกเลิกการชดเชยราคาแอลพีจีในภาคขนส่ง แต่ยังควรอุดหนุนหรือชดเชยราคาในภาคครัวเรือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะที่เอ็นจีวีควรเพิ่มสถานีบริการ (ปั๊ม) ให้เพียงพอกับความต้องการ

ในส่วนโครงสร้างราคาน้ำมัน จะมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเบนซินและดีเซลให้ใกล้เคียงกัน เนื่องจากความต้องการใช้ดีเซลในประเทศมีสูงส่วนหนึ่งจากการอุดหนุนราคา ทำให้ปริมาณเบนซินเหลือ ส่งผลให้ต้องจำหน่ายออกนอกประเทศในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง


พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย



"ผมมีความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของไทย ทั้งการสำรวจและขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในไทย รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น กระทรวงพลังงานมีความตั้งใจที่จะเข้ามาดำเนินการใน 2 เรื่องดังกล่าว แม้จะยังบอกไม่ได้ว่า การขอเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ หรือการซื้อเชื้อเพลิงจากประเทศเพื่อนบ้านจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่จะทำตามหลักการอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนจากการขาดแคลนพลังงานและไฟฟ้าในอนาคต"


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


กระทรวงเตรียมจัดทำแผนระยะกลาง ระยะสั้น และระยะเวลา 1 ปี ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เห็นภาพของกระทรวงคมนาคมที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะดำเนินการในเรื่องอะไรบ้างในระยะเวลา 1 ปีแรก รวมถึงการสานต่อไปในปีที่ 2-4 โดยแผนการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนของยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เพื่อเชื่อมโครงข่ายของประเทศในกรอบใหญ่ โดยเชื่อว่าการดำเนินงานต่างๆ จะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดในปี 2565

ในวันที่ 15 กันยายนนี้ จะมีการประชุมกำหนดนโยบายของรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย โดยนโยบายดังกล่าวจะพิจารณาจากหลายภาคส่วนประกอบกัน รวมถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีจากนั้นจึงนำมากำหนดเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม

"จะนำนโยบายของนายกรัฐมนตรีมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ หรือแอ๊กชั่นแพลน โดยตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 16 กันยายน ส่วนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานตามจริงจะต้องดำเนินการควบคู่กับการปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่เนื่องจากการดำเนินงานด้านคมนาคมขนส่งจำเป็นจะต้องมีการเชื่อมโยงกันทั้งทางบก น้ำ อากาศ ทั้งในประเทศ ชายแดน และระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องวางแผนไว้ในระยะยาวไว้ที่เป็นภาพรวม และวางระยะสั้น 1 ปีให้เกิดความชัดเจน รวมถึงมีแผนที่เงาในปีที่ 2-4 ไว้ด้วยจึงต้องใช้เวลา"

สำหรับการดำเนินงานในบางเรื่อง เช่น การก่อสร้างท่าเรือ การก่อสร้างสนามบินต่างๆ รวมทั้งของโครงการรถไฟทางคู่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ แต่ยืนยันว่ารถไฟทางคู่ มี 2 ส่วนที่ต้องดำเนินการ คือ ตามกำหนดการเดิมในช่วง 6-8 ปี แต่เมื่อจำเป็นต้องเชื่อมต่อไปยังลาวและมาเลเซีย จึงต้องขยายระยะเวลาดำเนินการไปถึง 10 ปี ส่วนโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 จะใช้เป้าหมายเดิมเป็นหลัก โดยจะขยายอาคารผู้โดยสารเดิมและเพิ่มอาคารผู้โดยสารใหม่ มีการปรับลานจอดให้ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ทางวิ่งจะต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยยืนยันว่าในปี 2558 การก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ช่วงที่ 1 จะเริ่มต้นแน่นอน แต่รายละเอียดจะแถลงให้ทราบในเดือนตุลาคมนี้

ในส่วนวงเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย จะมีหลายส่วน คือ 1.เป็นงบในเรื่องของการสำรวจการเวนคืนที่ดิน และการออกแบบ จะใช้งบของราชการ ก็จะแยกออกมาเป็นอีกตัวเลขหนึ่ง 2.โครงการที่จะกู้เงินมาลงทุนจะเป็นอีกตัวเลขหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งที่เตรียมการไว้ คือ การบริการจัดการที่เป็นงานบริการจะเป็นอีกตัวเลขหนึ่ง โดยในส่วนนี้จะเป็นการกู้หรือการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ตัวเลขวงเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการทั้งหมดจึงยังไม่นิ่ง โดยจะพยายามทำตัวเลขให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้เช่นเดียวกัน โดยยืนยันว่าจะทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 11 และ 12 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของอาเซียนให้ได้

 

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน


ได้อ่านยุทธศาสตร์และแผนงานของกระทรวงแรงงานมาบ้างแล้ว มองว่าการที่สื่อไปสัมภาษณ์ความเห็นทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างนั้น ทำให้เห็นว่าต้องทำหน้าที่เพื่อทั้งสองฝ่ายอย่างสมดุล ส่วนในเรื่องของนโยบายต้องขอศึกษารายละเอียดก่อน และจะดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล คือ 1.การบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ เป็นที่พึ่งของประชาชน 2.ต้องปฏิรูปประเทศไทยควบคู่กัน ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ต้องปฏิรูปในเรื่องของแรงงาน อะไรที่ต้องการเปลี่ยนแปลง เป็นปัญหาต้องมีการเสนอเข้ามา 3.การสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

"หลายปีที่ผ่านมา มีความเชื่อในการเมืองที่แตกต่างกันจนพัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่พร้อมใช้ความรุนแรงเข้าหากัน ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการเช่นกัน แต่ต้องกลับมาสมัครสมานสามัคคีกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า และดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงานที่วางไว้ การทำงานต้องดำเนินงานไปตามเป้าหมายที่กำหนดไม่ใช่เพียงในระดับกระทรวงแต่ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น และให้ทำแผนการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ทำก่อน ทำจริง มีผลสัมฤทธิ์และยั่งยืน เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง"

การค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว และปัญหาลูกจ้าง เป็นเรื่องเร่งด่วนทั้งนี้ข้าราชการต้องช่วยกันทำงาน โดยจะมีการประเมินผลทุก 3 เดือน และหากกระทรวงไม่มีผลงานก็พร้อมลาออกเอง

 


พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


จะขับเคลื่อนตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำของสังคม ช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนยากจน สตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อีกทั้งต้องเตรียมรับสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ทั้งหมดจะมีการทำแผนทั้งระยะเร่งด่วน ปานกลาง และระยะยาว ดูแลให้ครบวงจร ส่วนกรณีปัญหาเร่งด่วนที่จะดำเนินการ ได้แก่ การอุ้มบุญ ซึ่งจะมีการบูรณาการในการแก้ปัญหาร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข โดยคาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งไทยถูกประเมินรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ 2014 โดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ให้อยู่ในลำดับเทียร์ 3 ต่ำสุด ดังนั้นจะพยายามผลักดันแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่

"ผมเป็นตำรวจและคุ้นเคยปัญหาเหล่านี้ ทั้งความยากจน ความไม่ยุติธรรม และมีประสบการณ์ในการทำงานทั้งในระดับภูธร และชายแดนใต้ ซึ่งเข้าใจปัญหาในพื้นที่ได้ดี ขอเวลาตั้งหลัก ปรับตัว รวมถึงขอรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของข้าราชการภายในกระทรวง เอ็นจีโอ ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นการดำเนินงานไปด้วยกัน และตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาต่างๆ"

 


พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)

"ส่วนตัวหนักใจกับงานใหม่ เพราะงาน ศธ.ซับซ้อนกว่างานในกองทัพเรือ เพราะเป็นการขับเคลื่อนครู และนักเรียน ต้องใช้ศิลปะ จิตวิญญาณความเป็นครู ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้นักเรียนประสบความสำเร็จตามความตั้งใจ โจทย์สำคัญคือการที่ ศธ.ต้องอยู่ภายใต้ภาวะกดดันจากสังคมที่ไม่สามารถจัดการศึกษาได้ตามเป้า และไม่สอดรับกับงบประมาณที่ได้รับจำนวนมาก เป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ ศธ.ต้องปรับปรุง และปฏิรูป

สำหรับนโยบายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 นโยบายทั่วไปที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ ได้แก่ 1.พัฒนาและการปฏิรูปการศึกษา ตามแนวทางของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และแถลงนโยบายรัฐบาล 2.สร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมที่เท่าเทียม เป็นธรรม 3.พัฒนาระบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา ปลูกฝังอุดมการณ์ความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 4.ส่งเสริมและยกสถานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา 5.บริหาร และการปฏิบัติราชการกระทรวงในทุกระดับ เน้นบูรณาการการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล ปราศจากการทุจริต และคอร์รัปชั่น

กลุ่มที่ 2 นโยบายเฉพาะ ใช้เวลาดำเนินการให้เห็นผลภายใน 1 ปี ได้แก่ 1.พัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 พัฒนาศักยภาพการแข่งขัน และพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 4.มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพ 5.พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย 6.เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบ 2558 ของ ศธ.และ 7.ดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และการปฏิรูปการศึกษา

และกลุ่มที่ 3 นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ คือ 1.สำรวจให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟู สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเร็ว 2.แก้ปัญหาความรุนแรง และเหตุทะเลาะวิวาทของเด็กอาชีวศึกษาอย่างเป็นระบบ 3.เร่งสร้างค่านิยม และปรับภาพลักษณ์อาชีวะ 4.ทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอน 5.ทบทวนเงินอุดหนุนรายหัว 6.เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา 7.ปรับระบบการบรรจุ และทบทวนมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่เหมาะสมเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น 8.เร่งทบทวนมาตรการจัดกิจกรรมรับน้อง 9.ทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถานศึกษา ทั้งกิจกรรมทัศนศึกษา และมาตรการความปลอดภัยในการขนส่งนักเรียน นักศึกษา และ 10.ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของ ครม.

.................

 

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 13 ก.ย.2557)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.