ธปท.ไม่ห่วง ECB ลดดอกเบี้ย คาดบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล
 


ธปท.ไม่ห่วง ECB ลดดอกเบี้ย คาดบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล


 ธปท.ไม่ห่วง ECB ลดดอกเบี้ย คาดบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารกลางยุโรป หรือECB ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.05% ต่อปีนั้น ธปท.ยืนยันว่า ไม่เป็นกังวลถึงตัวเลขดังกล่าวว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียและในไทย เนื่องจากในภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเติบโต ส่วนการค้าในแถบเอเชียมีการกระจายตลาดค่อนข้างมาก และการที่ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็เพื่อคลายความกังวลถึงสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 0.3% จากเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 0.4%

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของแต่ละประเทศฟื้นตัวแตกต่างกัน อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อ่อนไหวต่อข่าวสารของแต่ละประเทศที่ออกมา จึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่เท่าที่ ธปท.ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้นยังมีเสถียรภาพ ยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีเครื่องมือเหมาะสมในการดูแล เพื่อรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นด้วย


เศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีระดับการฟื้นตัวแตกต่างกัน ดังเช่น สหรัฐอเมริกาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว โดยมีจุดอ่อนในด้านภาคครัวเรือน ปัญหาการว่างงาน ในส่วนของยุโรปคือ ด้านการปรับโครงสร้างและการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งไม่ได้เกิดจากภาคครัวเรือน ในขณะที่จีนยังคงชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งเติบโต 7.5% ซึ่งเป็นการควบคุมการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจีนชะลอตัวในด้านการลงทุนของภาครัฐและภาคธุรกิจที่กู้เงินจากธนาคารเงา แต่จะไปกระตุ้นในส่วนที่ต้องการพัฒนา นายจิรเทพกล่าว


นอกจากนี้ ในส่วนของบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลนั้น ธปท.มองว่าหากประเทศจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดจากการลงทุน ย่อมเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ เพราะเป็นการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น คงต้องมาติดตามว่าในประเทศมีการประหยัดพลังงานน้อยเกินไปหรือไม่ ด้านการส่งออก มองว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว ทั้งนี้ ต้องมีการพัฒนาในส่วนเรื่องโครงสร้างการส่งออกให้สามารถส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้การส่งออกของไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) รวมถึงประเทศมาเลเซีย มีสัดส่วนถึง 14% ของส่วนแบ่งการตลาด หรือ market share

 

ในส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ ออกและเสนอขายตราสารทางการเงินที่สามารถนำมาคำนวณเป็นเงินกองทุนขั้นที่ตามแนวทางของบาเซิล (Basel III)นั้น นายจิรเทพกล่าวว่า ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ แห่งสนใจที่จะขออนุญาตออกตราสารทางการเงินดังกล่าวแล้ว โดยตราสารประเภทนี้ซับซ้อนและมีความเสี่ยงแตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไป เนื่องจากผู้ถือตราสารจะถูกบังคับให้แปลงสภาพตราสารเป็นหุ้นสามัญของธนาคารในภาวะที่ธนาคารมีปัญหาทางการเงิน  ดังนั้น ก.ล.ต.จึงกำหนดราคาแปลงสภาพขั้นต่ำที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ การออกตราสารทางการเงินดังกล่าว เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีทุนที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อกันสำรองไว้กรณีที่ประสบปัญหาการดำเนินงาน นอกจากนี้ การออกตราสารดังกล่าวยังสามารถออกได้ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินตราต่างประเทศ แต่หากออกเป็นสกุลเงินบาทนั้นจะมีข้อจำกัดว่าต้องออกให้กลุ่มที่มีความมั่งคั่งซึ่งมีมูลค่าสูงเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป  

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.