′เซียร์ราลีโอน′สั่งเข้มสู้อีโบลา ห้ามปชช.ออกนอกบ้าน 4 วัน
 


′เซียร์ราลีโอน′สั่งเข้มสู้อีโบลา ห้ามปชช.ออกนอกบ้าน 4 วัน


 ′เซียร์ราลีโอน′สั่งเข้มสู้อีโบลา ห้ามปชช.ออกนอกบ้าน 4 วัน


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน เซียร์ราลีโอน หนึ่งในประเทศภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเชื้ออีโบลา ประกาศว่า จะปิดตายประเทศเป็นเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 18 - 21 กันยายน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งเปิดเผยว่า ประชาชนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว
 
จุดประสงค์ของมาตรการนี้ก็เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถคัดแยกผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆ ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปมากกว่านี้ โดยอีโบลาคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 1,900 ราย ใน 4 ชาติภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกคือ เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย กินีและไนจีเรีย ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ไลบีเรียได้ปิดตายสลัมใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของประเทศ เป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ เป็นความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสเช่นเดียวกัน  
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของเซียร์ราลีโอนจะเข้าประจำการเฝ้าระวังเขตกักกันโรคในหลายจุดแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าคำสั่งปิดตายทั่วประเทศจะสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ เนื่องจากความเต็มใจที่จะเชื่อฟังของประชาชนถือเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของนโยบายนี้ และการออกคำสั่งบังคับมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดประเด็นขัดแย้งด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจนำไปสู่การประท้วงต่อต้านที่รุนแรงได้ ด้านที่ปรึกษาของประธานาธิบดีเซียร์ราลีโอนชี้แจงว่า มาตรการนี้อาจแข็งกร้าว แต่ก็มีความจำเป็นสำหรับการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา 
 
วันเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (ฮู) แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกว่า 200 คนจากทั่วโลกเป็นเวลา 2 วันที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า ยารักษาอีโบลาที่อยู่ระหว่างการทดลองจะถูกนำมาใช้ก่อน ขณะที่การทดสอบความปลอดภัยของวัคซีนที่จะใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ อีกวิธีการรับมือเร่งด่วนคือ จะนำเลือดของผู้ที่รอดชีวิตจากอีโบลามาถ่ายให้กับผู้ป่วยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลหลักฐานมากเพียงพอที่จะพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่า วิธีการรักษาแบบนี้ได้ผลก็ตาม 
 
ขณะที่นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาวันเดียวกันนี้ว่า ยูเอ็นจะจัดตั้งศูนย์วิกฤตอีโบลาขึ้นเพื่อช่วยให้เกิดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพให้บรรลุเป้าหมายในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของอีโบลาให้ได้ภายในเวลา 6-9 เดือนตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.