วิพากษ์แนวคิด"บิ๊กตู่" แยก"บริหาร-นิติบัญญัติ"
 


วิพากษ์แนวคิด"บิ๊กตู่" แยก"บริหาร-นิติบัญญัติ"


 วิพากษ์แนวคิด

วิพากษ์แนวคิด"บิ๊กตู่" แยก"บริหาร-นิติบัญญัติ"

หมายเหตุ - ความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องต่อแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยกตัวอย่างประเทศในแถบยุโรปที่มีหลักการแยกกลไกบริหารและนิติบัญญัติออกจากกัน 


เจษฎ์ โทณวณิก
นักวิชาการทางกฎหมาย 


ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่เข้มเเข็งทั้งหลาย ต่างเเยกกลไกฝ่ายบริหารเเละนิติบัญญัติออกจากกัน ต่างคนต่างทำงานเเละก็สามารถที่จะตรวจสอบ ถ่วงดุล เเละค้านกันได้ด้วย โดยไม่มีการทับซ้อน คาบเกี่ยวหรือมีความเป็นพวกกันในการทำงานของสองฝ่ายนี้ อาทิ สหรัฐอเมริกาหรือฝรั่งเศส ก็สามารถคานกันได้ 

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก รวมทั้งของไทยเพราะในปี พ.ศ.2475 คณะราษฎรก็มีจุดมุ่งหมายอย่างนั้น เพียงเเต่ว่าไทยเราไม่เคยทำได้ 

วันนี้ถ้าเป็นไปได้ ต้องเริ่มตอนนี้เลย โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวอย่าง เเยก 3 อย่างให้ได้อย่างชัดๆ 

1.เเยกการทำงานในส่วนของ คสช.กับกลไกการบริหารราชการเเผ่นดินทั่วไป 

2.เเยกการบริหารของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ได้เพราะ สนช.ถือเป็นนิติบัญญัติ 

3.เเยก คสช. ครม. สนช. ออกจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ได้ 


"ถ้าทำเเบบนี้ก็จะเป็นตัวอย่างเเรกให้เห็นว่าเเม้จะมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ก็ยังทำให้กลไกเหล่านี้เเยกการทำงานได้เลยคือถ้าไม่เคยเซ็ตตัวอย่างไว้ เเล้วเราเอาเเต่บอกว่านักการเมือง เวลาตั้งคณะรัฐมนตรี ก็เอาเเต่ตั้งพรรคพวกกันมา ถ้าท่านทำเหมือนกัน ท่านจะเอาตัวอย่างที่ดีจากไหนให้เขาดู ต้องเเสดงตัวอย่างให้เห็น" 

ทั้งนี้ ข้อดีการเเยกอำนาจบริหารเเละนิติบัญญัติออกจากกัน เเน่นอนว่ามีข้อดีเยอะเเยะมากมาย เเต่มีข้อเสีย เช่น ส.ส.ไม่สังกัดพรรคอาจส่งผลให้กลไกในการเชื่อมประสานในระดับประเทศหรือในเขตอื่นๆ ลำบาก

ในส่วนของบัญชีรายชื่อ ถ้าจะให้มี ส.ส.เป็นอิสระนั้นเเทบจะทำไม่ได้เลย เพราะบัญชีรายชื่อนั้นเลือกโดยพรรค

ขณะเดียวกันในส่วนของนายกรัฐมนตรี ถ้าให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ข้อเสียคือ ถ้าได้นายกฯไม่ดี ซื้อเสียงจากทั่วประเทศ อันนี้ก็เเย่ยิ่งกว่าการมีนายกฯที่มาจาก ส.ส.เสียอีก ท้ายสุดเรื่องของมติพรรค ถ้าจะไม่ให้มติพรรคมีส่วนสำคัญต่อ ส.ส. ก็จะส่งผลให้ ส.ส.ที่สังกัดพรรค เเละไม่สังกัดพรรคนั้นเหมือนๆ กัน เเละเหวี่ยงกับไปในลักษณะที่เราเคยเรียกกันว่า ส.ส.ขายตัว อันนี้คือข้อเสีย เเต่ถามข้อดีมีเยอะกว่า ควรค่าที่เราควรเดินไป 

เจษฎ์ โทณวณิก, เอกชัย ไชยนุวัติ



มีข้อเสนอเเนะคือ นายกฯเลือกได้ 2 อย่าง 

1.เลือกนายกฯโดยตรง 

2.ถ้าหากว่าจะยังคงเอานายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ก็อยากให้โหวตเลือกนายกฯ จากคนที่ไม่ได้สังกัดพรรค ส.ส.อยากจะโหวตใครมาก็โหวตเเล้วใช้เสียงข้างมากในสภานั้นเเหละตัดสิน ทำให้นายกฯไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมาก อย่างนี้ถึงจะได้ชื่อที่สมกับตำเเหน่งนายกฯมากที่สุด 

รัฐธรรมนูญปี "40 ถือว่าทำได้ดีเลย หากยังจำได้ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเเต่ละคน ต้องไม่ได้เป็น ส.ส. ถ้า ส.ส.จะไปเป็นรัฐมนตรีต้องลาออก ถือว่าเเยกอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติได้ดีพอสมควร เเต่ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี "40 คือทำให้ฝ่ายบริหารเข้มเเข็งกว่าฝ่ายนิติบัญญัติค่อนข้างมาก 

เอกชัย ไชยนุวัติ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม 


ประเทศยุโรปส่วนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ที่เลือกมีการแยกฝ่ายบริหารเเละนิติบัญญัติออกจากกัน เป็นเพราะปกครองในระบบสหพันธรัฐและให้เกิดความมั่นคงในการเมือง ส่วนประเทศไทยหลังจากที่มีการอภิวัฒน์เมื่อปี พ.ศ.2475 ได้เลือกระบอบประชาธิปไตยในแบบประเทศอังกฤษ คือระบบรัฐสภา เป็นระบบที่ผู้นำจะต้องมีความรับผิดชอบในฝ่ายบริหารต่อรัฐสภาด้วย เพราะว่าผู้นำของประเทศเป็นเสียงที่มาจากรัฐสภา 

หากอนาคตมีการเปลี่ยนเป็นแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึง แท้จริงแล้วจะเป็นรูปแบบที่ทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชอบมากกว่าระบบปัจจุบัน เพราะเลือกกี่ครั้งก็มีโอกาสที่จะชนะ อีกทั้งจะมีความมั่นคงทางการเมือง ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อรัฐสภา ไม่ต้องกลัวเรื่องการยุบสภา ไม่ต้องกลัวเรื่องมติอภิปรายการไม่ไว้วางใจ

ประเด็นอยู่ที่ว่าตอนนี้ต้องการอะไร ต้องการให้มีความรับผิดชอบต่อรัฐสภาหรือไม่ การรับผิดชอบในลักษณะนี้คือการเปิดอภิปราย ทั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอภิปรายทั่วไป โดยประเด็นนี้แม้ว่าการอภิปรายโดยมากแล้วฝ่ายบริหารหรือฝ่ายเสียงข้างมากจะชนะอยู่เสมอในการลงมติ หากไล่มาตั้งแต่ พ.ศ.2475 การอภิปรายทุกครั้งฝ่ายบริหารจะชนะมาโดยตลอด แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะประเด็นสำคัญคือการอภิปรายเพื่อให้สาธารณชนรับทราบและตัดสินใจเอง ให้ประชาชนคือผู้ตัดสินในท้ายที่สุดว่าไว้วางใจหรือไม่ เป็นการฝึกให้ประชาชนมีความตื่นตัว 

นพดล ปัทมะ, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ



เพราะฉะนั้นหากเลือกที่จะใช้ในรูปแบบยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ก็จะไม่มีตรงส่วนนี้ จะไม่มีการรับผิดชอบต่อสภา ดูตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ว่าสภาจะพูดอย่างไร ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็เดินหน้าบริหารต่อไป สิ่งเดียวที่สภาจะสามารถคานได้คือการไม่ผ่านกฎหมายให้ฝ่ายบริหาร แต่จะไม่มีกลไกอื่นใดที่ทำให้ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายนิติบัญญัติ 

หากจะมองดูว่ามีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับว่าต้องการอะไร ต้องการรูปแบบใด ถ้าคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง ต้องใช้ในแบบที่พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึง คือทำให้ฝ่ายรัฐสภามีหน้าที่หลักคือออกกฎหมาย และหน้าที่หลักของฝ่ายบริหารคือนำกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาไปใช้ มีการคานอำนาจโดยการผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมายเท่านั้น 

นพดล ปัทมะ
คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย

การปฏิรูปการเมืองโดยใช้แนวทางการแบ่งแยกอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติออกจากกันให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง การเลือกตั้งนายกฯโดยตรงนั้นเป็นแนวคิดที่น่าศึกษาเพิ่มเติม โดยเรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่เคยมีมาเป็น 10 ปีแล้ว โดยข้อดีคือ 

1.ทำให้มีผู้นำที่เข้มแข็ง ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 

2.คะแนนเสียงป๊อปปูลาร์โหวตของประชาชนไม่ตกหล่น และ

3.ทำให้นายกฯไม่ได้อยู่ในอาณัติของพรรคการเมือง หรือ ส.ส. ที่ต้องตั้ง ส.ส.มาเป็นรัฐมนตรี ทำให้สามารถเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ 

ส่วนข้อเสีย คือ นายกฯที่คิดว่าตัวเองมาจากประชาชนโดยตรง และไม่ฟังเสียงสภาก็อาจจะทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความประสงค์ของตัวแทนประชาชนได้ ต้องคิดหากลไกหรือวิธีในการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติว่าหากนายกฯไม่ดีจะถอดถอนนายกฯได้หรือไม่ และจะตรวจสอบนายกฯได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ทั้งนี้ ตอนนี้ประเทศไทยมีระบอบคล้ายกับประเทศอังกฤษ แต่หากจะมีการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงก็จะคล้ายกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่เลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยตรง แต่จะแตกต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาตรงที่ประเทศไทยจะไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี เพราะประเทศไทยจะต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์


แนวคิดการแยกอำนาจนิติบัญญัติออกจากอำนาจบริหาร มองว่าเป็นแนวคิดของนักวิชาการที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต คือ อำนาจรัฐที่เป็นฝ่ายบริหารแข็งเกินไป ที่ผ่านมาประเทศเกิดวิกฤตปัญหาต่างๆ ขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นเพราะฝ่ายบริหารไม่ฟังเสียงข้างน้อย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรามีรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาให้ทั้ง 2 ฝ่าย มีอำนาจที่คานกันโดยมีองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ แต่ฝ่ายบริหารกลับเป็นผู้ทำลายเสียหมด

ถ้าหากจะแยกอำนาจทั้ง 2 ออกจากกัน มองว่ายิ่งจะทำให้อำนาจฝ่ายบริหารนั้นเข้มแข็งจากเดิมขึ้นไปอีก 3 เท่าจากที่เป็นอยู่ ถามว่าวันนี้อำนาจบริหารอ่อนแอหรืออย่างไร ถึงจะต้องไปทำให้เข้มแข็งขึ้นมา ดังนั้น ถ้าจะทำต้องยอมรับความเข้มแข็งของอำนาจรัฐที่จะเกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หากแยกอำนาจทั้งสองก็จะเป็นไปในรูปแบบของการมีประธานาธิบดี คล้ายๆ กับประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนตัวคิดว่าถ้ายังเอาระบบรัฐสภาไว้ก็ต้องหาอำนาจที่จะมาคานฝ่ายบริหาร หรือหยุดอำนาจรัฐในบางกรณี โดยออกแบบองค์กรอิสระให้สามารถทำหน้าที่ปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม อาจเป็นการพิจารณาถึงที่มาขององค์กรอิสระใหม่ไม่ให้เป็นที่ตำหนิ เนื่องจากตอนนี้องค์กรอิสระมาจากตุลาการ พอเกิดเรื่องอะไรที่ทำให้องค์กรอิสระมีความเสียหาย ตุลาการและศาลก็เสียหายไปด้วย เพราะฉะนั้นควรออกแบบที่มาขององค์กรอิสระใหม่


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.