"อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" ขยับเข้าใกล้มาทุกที
 


"อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" ขยับเข้าใกล้มาทุกที



"อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" ขยับเข้าใกล้มาทุกที

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ [email protected]




คําอธิบายอย่างง่ายของวลี "อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" (Internet of Things) ก็คือ การที่อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่รายล้อมอยู่โดยรอบตัวเรา เชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายอินเตอร์เน็ตทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุม บริหารจัดการและใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ในแง่ของความสะดวกสบายของผู้ใช้นะครับ

อุปกรณ์ที่ว่านี้มีตั้งแต่หลอดไฟฟ้า เรื่อยไปจนกระทั่งถึงเครื่องครัว ตู้เย็น แอร์ ฯลฯ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ หลอดไฟฟ้า ที่ทุกวันนี้มีหลายๆ ยี่ห้อทำให้มันเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตได้ผ่านเครือข่ายไวไฟภายในบ้าน ผลที่ได้ก็คือ แทนที่มันจะให้แสงสว่างเฉยๆ เหมือนที่ผ่านมา มันสามารถทำหน้าที่เป็นลำโพง เปล่งเสียงเพลง (จากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต) ให้เราได้ฟังเพลินๆ ด้วย

นอกเหนือจากการที่การเชื่อมต่อดังกล่าวนี้สามารถทำให้เราปิด-เปิดไฟฟ้าแต่ละดวงได้จากระยะไกลๆ ถูกต้องตรงตามเวลาที่ต้องการด้วยอีกต่างหาก

หรือจะเป็นเครื่องใช้ในครัวสำหรับคุณแม่บ้าน อย่างเช่น เครื่องปั่นหรือเครื่องตีแป้ง ของคิชเช่นเอด (ดูภาพประกอบ) ที่เป็นรุ่นแรกๆ ของอุปกรณ์ทำนองนี้ที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ช่วยให้เราสามารถสั่งให้มันทำงานได้ล่วงหน้าจากที่ทำงาน เพื่อให้พอกลับไปถึงบ้านก็พอดีแป้งและส่วนผสมที่เตรียมไว้เสร็จสรรพเรียบร้อย นำเข้าอบได้ทันที เป็นต้น



นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดเรื่องทำนองนี้อีกมากมาย อย่างเช่น ตู้เย็นที่สามารถสั่งซื้อของออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง ทุกครั้งที่ข้าวของที่ว่านั้นพร่องลงไป หรือแอร์คอนดิชั่นที่สั่งงานปิด-เปิดได้ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟที่สามารถส่งสัญญาณไปยังสถานีดับเพลิงได้โดยอัตโนมัติ เป็นต้น

นี่ยังไม่นับ "หุ่นยนต์รับใช้" ซึ่งทำงานบ้านสารพัดให้แทนตัวเรา ที่ว่ากันว่าจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมในอนาคต (ไกลๆ) เหมือนๆกับที่กาลครั้งหนึ่งบรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐีทั้งหลายมีคนรับใช้เต็มบ้านยังไงยังงั้น

ที่ผ่านมาผู้ผลิตหลายรายเริ่มชิมลางตลาดเหล่านี้กันบ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเพราะยังไม่มี "มาตรฐาน" ที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้งานร่วมกัน แต่กลับมีการสร้างแพลทฟอร์มกันคนละอย่างสองอย่าง เพื่อจำกัดให้ใช้กับอุปกรณ์ของตัวเอง

อย่างเช่น แพลทฟอร์ม "โฮมคิท" ของแอปเปิลที่กำหนดให้อุปกรณ์นั้นสามารถนำไปใช้กับสมาร์ทโฟน (หรือแท็บเล็ต) ที่ติดตั้ง ไอโอเอส 8 เท่านั้น หรือ วิวินท์ สกาย ที่ทำหลายๆ อย่างออกมาให้เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต แต่ต้องสั่งการผ่านอุปกรณ์ที่ตัวเองผลิตขึ้นมาจำหน่าย เป็นต้น

แต่ที่ผมบอกว่าเรื่องนี้ขยับเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นแล้วในตอนนี้เพราะว่า เมื่อไม่นานมานี้ "เนสต์ แล็บส์" บริษัทใหม่ล่าสุดที่กูเกิลเข้าไปเทกโอเวอร์ ประกาศความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ในแวดวงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์-อิเล็กทริกส์ อย่าง

ซัมซุง, เออาร์เอ็ม โฮลดิ้งส์, ฟรีสเกล เซมิคอนดัคเตอร์, ซิลิคอน แล็บส์, บิ๊ก แอสส์ แฟนส์, และเยล เพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรที่จะกำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของอุปกรณ์ต่างๆ ให้เป็นแบบเดียวกัน คือใช้โปรโตคอลอันเดียวกันทั้งหมด กลุ่มที่ว่านี้เรียกตัวเองว่า "เธรดกรุ๊ป"

ที่สำคัญก็คือ "เธรดกรุ๊ป" ตั้งเป้าว่าจะให้มาตรฐานใหม่ที่ตัวเองกำหนดขึ้น ทำงานร่วมกับแพลทฟอร์มอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึง "โอไอซี" หรือ "โอเพ่น อินเตอร์คอนเน็คต์ คอนซอร์เตียม" ที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้าไม่นานโดยบิ๊กๆ อย่าง อินเทล, ซัมซุง, เดล, และอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าอะไรก็ตามที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้จะ "ทำงานร่วมกันได้"

โดยเธรดกรุ๊ปกำหนดจะเริ่มให้ตราประทับรับรองการทำงานร่วมกันได้ที่ว่านั้น ภายใต้โปรโตคอลใหม่ที่กำหนดขึ้นมาใช้ร่วมกันตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปครับ

ทางเนสต์ แล็บส์ เชื่อว่าสรรพสิ่งที่เป็น "อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" ทั้งหลายนั้นจะเริ่มต้นเข้ามาหาเรานับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป การกำหนดมาตรฐานเสียตั้งแต่ตอนนี้ก็เพื่อให้ผู้ผลิตนำไปใช้ทดสอบก่อนผลิตในเชิงพาณิชย์จริงๆ นั่นเอง

ก่อนที่จะทะลักทะลายเข้าสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านชิ้นภายในปี 2020 ครับ!

 

 

.........

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 5 กันยายน 2557)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.