นิจศาล จันภูตระกูล : คู่มือ ฯพณฯ รมต.ป้ายแดง
 


นิจศาล จันภูตระกูล : คู่มือ ฯพณฯ รมต.ป้ายแดง


 นิจศาล จันภูตระกูล : คู่มือ ฯพณฯ รมต.ป้ายแดง

คู่มือ ฯพณฯ รมต.ป้ายแดง


โดย นิจศาล จันภูตระกูล




บรรดาว่าที่ รมต.ทั้งหลายช่วงนี้คงอยู่ระหว่างรอลุ้นว่าจะได้เป็นเสนาบดีสักครั้งในชีวิตให้คนเขาได้เรียกว่า ฯพณฯ รมต. และคงจะลุ้นระทึกก่อนที่จะมีการโปรดเกล้าฯ มีรายชื่อได้เป็น รมต.ป้ายแดง ต้องทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่ได้แถลงต่อ สนช. ทันทีที่ได้รับโปรดเกล้าฯ และเข้าถวายสัตย์ฯก่อนเข้ารับหน้าที่ จะเป็นช่วงที่ ฯพณฯ รมต.ได้รับการแสดงความยินดีจากบรรดาท่านทั้งหลายที่เดินทางไปมอบกระเช้าแสดงความยินดีกันอย่างมากมาย

และสิ่งแรกที่ ฯพณฯ รมต.มักจะกระทำคือ การหาซินแส ดูฤกษ์ยามเข้ากระทรวง ตามฤกษ์พานาทีที่ได้กำหนดมา

บ้างก็อุ้มพระหน้าตักขนาดใหญ่เดินเข้าห้องทำงาน บ้างก็ส่งซินแสไปดูทิศ ดูทางการวางโต๊ะทำงาน แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน เมื่อถึงกำหนดวันเวลาเข้ากระทรวง ก็ต้องทำการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กราบวิงวอนเพื่อขอพรให้ได้นั่งเก้าอี้ รมต.นานๆ จนครบวาระ ซึ่งที่กล่าวมานั้นเป็นช่วงเวลาที่ ฯพณฯ รมต.ทั้งหลายได้ปฏิบัติจนเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

จากนั้นเมื่อได้นั่งเก้าอี้ รมต.แล้วจะเข้าสู่โหมดการทำงานของ ฯพณฯ รมต.ป้ายแดงทั้งหลาย ซึ่งคงมีคำถามในใจว่า ชีวิตนี้ได้เป็น รมต.ครั้งแรก แล้วงานที่ทำมีงานอะไรบ้าง แล้วต้องทำอย่างไร ภารกิจหน้าที่ในตำแหน่งที่เขาเรียกว่า รมต.ที่ทุกคนอยากเป็นกันนั้น จะบริหารราชการกันอย่างไร บางคนมาจากภาคเอกชน เป็นซีอีโอมาก่อน คงงงกับกฎหมาย ระเบียบทางราชการที่เกี่ยวข้องมากมาย จะมานั่งหัวโต๊ะประธานที่ประชุม แล้วทุบโต๊ะจะเอาอย่างนั้น อย่างนี้ คงจะคิดแบบนั้นไม่ได้อีกต่อไป

และระยะเวลาการทำงานแค่ปีเดียว คงไม่มีเวลาไหว้ครู หรือฝึกงาน ดังนั้น ต้องเตรียมกันดีๆ หรือบางคนมาจากข้าราชการเก่า การเข้ามานั่งทำงานด้านการเมือง อย่าเผลอตัวทำงานคิดว่าตัวเองเป็นปลัดกระทรวงเสียเอง เพราะงานการเมืองนั้นต้องเรียนรู้ การมาบริหารราชการแผ่นดินนั้น ต้องเรียนรู้ศึกษาระบบงานจากฝ่ายช่วยอำนวยการประจำสำนักงาน รมต.

เมื่อเดินทางเข้ารับตำแหน่งและได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสมใจแล้ว ก็คงมีคำถามว่างานในภารกิจ รมต. นั้น มีอะไรทำกันบ้าง ซึ่งไม่เคยมีตำรา หรือหลักสูตรใดๆ เคยเขียนไว้

ผู้เขียนจะจำแนกภารกิจหลักที่ฝ่ายการเมืองระดับสูง ตั้งแต่ นรม. รอง นรม. รมต. และ รมช. มีหน้าที่ปฏิบัติประกอบด้วย ดังนี้ การบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อ สนช. การควบคุม กำกับ การสั่งและปฏิบัติราชการหน่วยงานในสังกัด ซึ่งถือเป็นภารกิจหลัก การทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่กฎหมาย มติ ครม. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดไว้ การเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ประชุม สนช. การเข้าเวรผลัดเฝ้ารับเสด็จ การพบปะหารือทูตต่างประเทศ การออกตรวจราชการต่างจังหวัด การเดินทางไปประชุมต่างประเทศ เป็นต้น

สิ่งที่ รมต.ป้ายแดง ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกคือทีมงาน ก็คือคนซึ่งจะมาเป็นทีมงานประจำสำนักงาน รมต. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายและข้อสั่งการต่างๆ โดยตัวข้าราชการที่จะช่วยปฏิบัติราชการนั้นถือเป็นกลไกสำคัญที่สุดอันดับแรกที่ รมต.ป้ายแดงทั้งหลายต้องคำนึงถึง

การที่จะหาข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์และแม่นยำในข้อกฎหมายระเบียบต่างๆ นั้นมาจากสองแนวทาง คือ ข้าราชการในหน่วยงานที่ รมต.กำกับ และอีกแนวทางคือ การยืมตัวข้าราชการฝีมือดีจากหน่วยงานต่างๆ ไปช่วยราชการ ซึ่งภารกิจ รมต.ในการบริหารราชการแผ่นดิน จะเข้าตากรรมการคือประชาชน และผลโพลสำรวจว่าไม่เป็นรัฐมนตรีโลกลืมนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ทีมงานประจำสำนักงาน รมต.

และสิ่งที่พึงระวังคือ ผู้ติดตาม รมต.ที่ติดสอยห้อยตามไปทำงานกับ รมต. ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทส่วนตัวหรือการยืมตัวข้าราชมาจากหน่วยงานอื่น ต้องกำชับการวางตนให้ดี ว่าอย่าทำตัวใหญ่กว่า รมต.ไปเที่ยวชี้นิ้วสั่งการ แสดงเพาเวอร์ จนทำให้สำนักงาน รมต.ป่วนไปหมด และอย่าลืมว่าการเข้าไปทำงานกระทรวงนั้น กลไกสำคัญคือ ข้าราชการที่จะร่วมกันเป็นทีมงานหากให้เกียรติการทำงานกันแล้วภารกิจก็จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี

การจะหาข้าราชการทีมงานมือดีจากที่ไหน ก็ต้องหารือผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ขอให้ช่วยคัดข้าราชการมือดีของหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถสูง รอบรู้งานในหน้าที่และรอบรู้ในข้อกฎหมาย

เมื่อได้ข้าราชการมือดีมาทำงานแล้ว ก็มอบหมายภารกิจให้แต่ละคนรับผิดชอบ ตามความสามารถ เช่น งานกลั่นกรองแฟ้ม งานสรุปสาระ ครม. วาระการประชุม สนช. วาระการประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ งานพิธีการ งานต้อนรับแขกต่างประเทศ ในประเทศ งานภารกิจติดต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะต้องหารือซักซ้อมระบบการทำงานของสำนักงาน รมต. เนื่องจากบางครั้ง รมต.กับเลขานุการ รมต. มาจากที่มาต่างกัน กล่าวคือ รมต.ไม่ต้องการให้เลขานุการ รมต. มารับรู้รับทราบระบบแฟ้มเอกสาร สิ่งนี้ต้องซักซ้อมระบบการไหลของเอกสารให้ชัดเจน อาจเกิดปัญหาของสำนักงาน รมต.ได้ เมื่อวางระบบการทำงานเรียบร้อยแล้ว ภารกิจแรกคือทีมงานต้องทำหน้าที่เรียกข้อมูล เอกสารหน่วยงานในสังกัด เพื่อบรรยายสรุปภารกิจหน่วยงาน โครงสร้างอำนาจหน้าที่ งบประมาณ แผนงาน โครงการ และการดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อปูพื้นฐานให้ รมต. ก่อนที่จะเชิญผู้บริหารหน่วยงานเข้าพบเพื่อรับฟังบรรยายสรุป และเตรียมนัดหมายเพื่อไปมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด

ตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงภารกิจ การเข้าประชุม ครม. การเข้าประชุม สนช. การทำหน้าที่ประธานกรรมการชุดต่างๆ การต้อนรับทูต การเดินทางไปประชุมต่างประเทศ การไปตรวจติดตามราชการต่างจังหวัดนั้น การช่วยอำนวยการให้ รมต.ป้ายแดง ทำงานอย่างมีประสิทธิผลนั้น มีวิธีการอย่างไร

เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรามี ร.ร.เตรียมทหาร ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา แต่เราไม่มี ร.ร.เตรียมรัฐมนตรี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน

 

..........

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 5 กันยายน 2557)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.