ย้อนรอยประวัติศาสตร์รถไฟไทย กับปัญหาในปัจจุบันที่ต้องข้ามผ่าน
 


ย้อนรอยประวัติศาสตร์รถไฟไทย กับปัญหาในปัจจุบันที่ต้องข้ามผ่าน


ย้อนรอยประวัติศาสตร์รถไฟไทย กับปัญหาในปัจจุบันที่ต้องข้ามผ่าน

วันที่ 28 ส.ค. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรม สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "แผนที่-โครงการรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 กับการพัฒนาเมกะโปรเจ็คต์ของไทยในปัจจุบัน" ร่วมเสวนาโดย นายไกรฤกษ์ นานา นักเขียนและนักสะสมเอกสารเก่า และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่อาคารมติชนอคาเดมี่

โดยการเสวนาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยในภาคเช้า นายไกรฤกษ์ นานา ได้พูดในหัวข้อ "แผนที่-โครงการรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5" ส่วนภาคบ่ายเป็นหน้าที่ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในหัวข้อ "การพัฒนาเมกะโปรเจ็คต์ของไทยในปัจจุบัน"



นายไกรฤกษ์ กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ ปัญหาในการสร้างทางรถไฟของสยามหลายๆ ครั้ง ที่ล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นการขุดคอคอดกระ หรือโครงการรถไฟไปเมืองจีน โดยสยามถูกเกลี้ยกล่อมให้คล้อยตามค่านิยมของคนอังกฤษและวิสัยทัศน์ของโลกสมัยใหม่ เช่น การวางโทรเลข และวางระบบทางเดินรถไปจีน หากไทยตอบตกลง ทั้งมลายู ปีนัง และสิงคโปร์จะถูกลดความสำคัญลงทันที และสยามจะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่ แต่ความจริงแล้วอังกฤษมีเหตุผลแอบแฝงเพื่อประโยชน์ทางด้านอาณานิคม และการค้าของตนเป็นหลัก รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักว่า สยามควรจะประมาณตนเองลงบ้าง เส้นทางรถไฟไทย-จีน จึงถูกพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าจำเป็นต้องยกเลิก เพราะไม่ใช่ผลประโยชน์ของสยามอย่างแท้จริง มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์และการแอบอ้าง อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องการเชื่อมรถไฟระหว่างภูมิภาคนี้กับจีนนั้นมีมานานแล้ว



นายไกรฤกษ์ กล่าวต่อว่า คนไทยเรารุ่นนี้จนรุ่นต่อๆ ไป ควรคำนึงว่า บรรพบุรุษเราพยายามปกป้องกันแบบเอาเป็นเอาตายไม่ว่าจะเป็นการเซ็นสัญญา ไม่ว่าจะทำอะไรเราควรมองย้อนไปมองประวัติศาสตร์ว่า บรรพบุรุษพยายามรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้อย่างไร ในอดีตเราจะเห็นว่านายกรัฐมนตรี เสนาบดีอาจจะไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย เราจึงต้องยกย่องเครดิตให้พระราชวงศ์จักรี ให้เครดิตกับพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเหมือนกับกระบอกเสียง เป็นตัวแทนประเทศที่ต้องตัดสินพระทัย ณ จุดนั้น ว่าต้องทำอย่างไร ถ้าเราขุดคอคอดกระไป แล้วเราเสียเปรียบอังกฤษ เราปล่อยให้อังกฤษทำรถไฟ ใครจะเป็นคนถูกกล่าวโทษ เครดิตพวกนี้นอกจากนึกถึงแล้ว เรายังต้องใช้เป็นแม่แบบในการพัฒนาต่อไป

โครงการต่างชาติเข้ามา บทเรียนจากประวัติศาสตร์ เป็นตัวอย่างของการดำเนินสู่ในอนาคต เป็นสิ่งดีที่รัฐบาลในปัจจุบันหันมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มากขึ้น ก่อนหน้าที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา ยกตัวอย่างเช่นปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร ถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าตกลงเป็นของใคร เหตุเพราะเราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ไม่มีความรู้เบื้องลึก เบื้องหลังเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ การศึกษาประวัติศาสตร์จึงเป็นครูที่สอนเรา เด็กสมัยนี้ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์มากพอ อาศัยอ่านในเน็ต แต่ข้อมูลทางวิกิพีเดีย เขียนโดยฝรั่ง ซึ่งฝรั่งจะรู้ไปกว่าคนไทยได้อย่างไร

ข้ามมาถึงภาคปัจจุบัน นายชัชชาติ วิเคราะห์ปัญหาว่า แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยน แต่อุปสรรคและปัญหาด้านการพัฒนาสร้างสิ่งต่างๆ ของรถไฟไทยยังเป็นเครื่องหมายคำถามต่อเนื่อง โดยการขนส่งเพื่อการค้าเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากขึ้น และเป็นต้นทุนหลักของรายได้ในประเทศ แต่สิ่งที่สวนทางกันคือปัญหาคุณภาพของระบบรางที่แย่ลงทุกปี ซึ่งมีการเปิดเผยว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คุณภาพระบบรางของไทยตกลงถึง 20 อันดับ ในปี 2552 ไทยอยู่อันดับ 52 ของโลก แต่ในปี 2557 ไทยตกลงมาอยู่ที่ 72 สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้างอย่างอินโดนีเซีย ที่พัฒนาขึ้นตลอด 5 ปีหลัง โดยในปี 2552 อินโดฯอยู่ในอันดับ 60 แต่อีก 5 ปีต่อมา กลับสปีดแซงไทยขึ้นไปอยู่อันดับ 44 แล้ว



โดยปัญหาดังกล่าว นายชัชชาติมองว่า เป็นเพราะขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลมานาน นับแต่แยกออกมาเป็นรัฐวิสาหกิจ รถไฟไทยต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างมาก ใน 5 ปีที่ผ่านมารถไฟไทยได้รับงบการปรับปรุงพัฒนาเพียงเล้กน้อยของจำนวนเงินที่ขอไป รวมถึงประเทศไทยเสียเวลากับการลงทุนทีไม่ตรงจุด ระบบรางรถไฟที่ควรเน้นแก้ไขกลับไม่เน้น แต่เราเลือกไปลงทุนทำถนนก่อน

รวมถึงการบริหารทรัพย์สินที่ดินยังไม่ดีเท่าที่ควร หลายๆ ครั้งถูกนำไปปลูกสร้างสิ่งที่ยังไม่จำเป็น แทนที่จะสร้างเส้นทางเดินรถเพิ่ม ซึ่งจริงๆ แล้วการรถไฟมีโครงการที่จะทำเยอะที่เตรียมทำการประมูล แต่ยังเป็นแค่แพลนที่อยู่เพียงในกระดาษเท่านั้น ควรโฟกัสว่าปัญหาในปัจจุบันคืออะไร เร่งปรับปรุงให้ไว และพร้อมพัฒนาต่อไป

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องของความปลอดภัย-คุณภาพของรถไฟ ที่รั้งไม่ให้รถไฟไทยพัฒนาเสียที แถมยังสะท้อนว่า แค่ปัญหาระดับพื้นฐานยังแก้ไขได้ล่าช้าเอามากๆ เช่น ความเก่าแก่ของรถไฟ หัวรถจักรบางอันใช้มาแล้ว 47-50 ปี ตัวอย่างเช่นหัวรถจักร GE ซึ่งมีอยู่อย่างต่ำ 45 หัว ด้านอายุขบวนรถก็เก่าไม่แพ้กัน



แม้ทั้งสองกรณีจะเกิดขึ้นต่างยุค ต่างสมัย ต่างวาระ แต่ก็แสดงภาพปัญหาที่เป็นเหมือนเส้นขนานลากยาวมาถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ มากมาย แม้ทางออกการแก้ไขที่ชัดเจนอาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่งเราอาจต้องย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น เรียนรู้และนำมาปรับใช้กับปัจจุบัน เพื่อร่วมกันก้าวข้ามปัญหาที่คาราคาซังของรถไฟไทย ที่แก้ยังไงก็ไม่เคยหายเสียที




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.