เทรนด์สมาร์ทโฟน จอใหญ่ขึ้น-แอนดรอยด์แชมป์
 


เทรนด์สมาร์ทโฟน จอใหญ่ขึ้น-แอนดรอยด์แชมป์


เทรนด์สมาร์ทโฟน จอใหญ่ขึ้น-แอนดรอยด์แชมป์

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ [email protected]

ผ่านครึ่งปีแรกมาได้ไม่นาน ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับแวดวงสมาร์ทโฟนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลทางการตลาดเหล่านี้น่าสนใจก็ตรงที่มันจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มทั้งรูปลักษณ์ หน้าตา ขนาด เรื่อยไปจนถึงขีดความสามารถของสมาร์ทโฟนทั้งหลายในตลาดในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้เราได้เลือกใช้กันนั่นเองครับ

ข้อมูลชุดแรกที่ผมขอหยิบมาเล่าสู่กันฟังก็คือ ข้อมูลของ ไอดีซี ที่ติดตามตลาดอุปกรณ์ดิจิตอลทั้งหลายมาตลอดและได้รับความเชื่อถืออยู่ในระดับสูงของโลก แต่ก่อนที่จะไปถึงตัวเลขล่าสุด ขอย้อนภาพรวมนิดหน่อยว่า ปี 2013 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ตลาดสมาร์ทโฟนโตเร็วมาก ทำสถิติยอดส่งขาย (ชิปเมนต์) ทะลุหลัก 1,000 ล้านเครื่อง ได้เป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ก่อนหน้านั้นถึง 38.4 เปอร์เซ็นต์

ทีนี้มาว่าถึงไตรมาสสองของปีนี้ที่เป็นของล่าสุด ไอดีซีระบุว่า สมาร์ทโฟนยังทำสถิติใหม่ต่อมาเรื่อยๆ ด้วยยอดส่งขายสูงถึง 301.3 ล้านเครื่องได้เป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2012 ที่อยู่เพียง 240.5 ล้านเครื่อง เกือบทั้งหมดคือ 94.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ ถ้าไม่เป็นแอนดรอยด์ ก็เป็น ไอโอเอส ครับ

ถ้าเจาะลงไปให้เห็นภาพของการแข่งขันระหว่างระบบปฏิบัติการสองระบบนี้ ไอดีซีพบว่า สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ยังคงครองความเป็นแชมป์อย่างชัดเจน มีส่วนแบ่งสูงถึง 84.7 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดสมาร์ทโฟนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 5.1 เปอร์เซ็นต์ จาก 79.6 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ทิ้งไอโอเอสมากขึ้นไปอีก เพราะยอดขายไอโอเอสสมาร์ทโฟน (ไอโฟน) คิดเป็นสัดส่วนเพียง 11.7 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสเดียวกันนี้ จากตัวเลขดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า จำนวนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ครองตลาดเพิ่มเกือบเท่าตัว โดยใช้ระยะเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้นเอง

ถ้าจำแนกแอนดรอยด์เป็นรายแบรนด์ ซัมซุง ยังครองแชมป์แต่ลดสัดส่วนลงไม่น้อยเหลือเพียง 29.3 เปอร์เซ็นต์ (จากที่เคยครองสูงถึงระดับ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ 2 ปีก่อน) เสียตลาดเพิ่มให้กับคูลแพด, หัวเว่ย, เลอโนโว, แอลจี, เสียวหมี่ และซิเต๋อ(หรือซีทีอี) ที่ส่วนแบ่งไล่เรียงกันตามลำดับครับ

ยอดของไอโอเอสชะลอลงเรื่อยๆ ลดลง 1.3 เปอร์เซ็นต์ จาก 13.0 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 2 ของปี 2013 จนเป็นไปได้ว่าจะกลับสู่ระดับเลขหลักเดียวอีกครั้ง ถ้าไอโฟนตัวใหม่ไม่ทำให้ทุกคน "ว้าว" ได้จริงๆ ส่วนวินโดวส์โฟน ยอดก็เรียวลงไปอีกเหลือส่วนแบ่ง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ลดลง 0.9 เปอร์เซ็นต์ จาก 3.4 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว โอเอสสุดท้ายเป็นแบล็กเบอร์รี่ ที่ถึงแม้จะฟื้นตัวอยู่แต่กินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มได้ไม่มากแทบวัดสัดส่วนไม่ได้เอาเลย

ราคาสมาร์ทโฟนจะถูกลงเรื่อยๆอันที่จริงราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์แพร่หลายเข้าไปในตลาดกำลังพัฒนา ไอดีซีบอกว่า ราว 58.6 เปอร์เซ็นต์ ของยอดส่งขายทั้งหมดของแอนดรอยด์ในไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นโทรศัพท์ที่อยู่ในระดับราคาต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ (ราว 6,000 บาทเศษ) แต่การที่กูเกิลเพิ่งวางตลาด "แอนดรอยด์ วัน" สมาร์ทโฟนสำหรับอ้างอิงดีไซน์ของตัวเองออกมาในระดับราคาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ ก็ทำให้แนวโน้มชัดเจนว่า ตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้

แนวโน้มหน้าจอของสมาร์ทโฟนจะใหญ่ขึ้นครับ อันนี้เป็นผลบ่งชี้จากการสำรวจความคิดเห็นของ จานา รีเสิร์ช ที่เผยแพร่ออกมาในราวกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การสำรวจดังกล่าวทำในประเทศอย่าง อินเดีย, บราซิล, อินโดนีเซีย กับอีก 6 ชาติกำลังพัฒนา มีสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามสูงมากที่ระบุว่า "ต้องการ" สมาร์ทโฟนที่หน้าจอ 5 นิ้ว หรือใหญ่กว่า เหตุผลก็เพราะพวกเขาใช้มันเพื่อการบันเทิงโดยเฉพาะใช้ดูเนื้อหาที่เป็นวิดีโอ

สุดท้ายเป็นข้อมูลน่าสนใจอีกเรื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นผลการสำรวจของ คอมสกอร์ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า "ดิจิตอลไทม์" ปรากฏว่า ผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของตนเองที่เป็น "โมบายล์" (สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต-โน้ตบุ๊ก) มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของดิจิตอลไทม์ที่ใช้ทั้งหมด ถ้านับเฉพาะที่ใช้ผ่านแอพพลิเคชั่น (สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต) คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ใช้เวลาอยู่กับเครื่องเดสก์ท็อปแค่ 40 เปอร์เซ็นต์

น่าเสียดายที่การใช้เวลาอยู่กับแอพพลิเคชั่นมากขึ้นที่ว่านั้น เป็นไปเพื่อ "เอ็นเตอร์เทน" ตัวเองเป็นหลัก ตั้งแต่การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้่ง ไปจนถึงการเล่นเกมและฟังเพลง

ส่วนเดสก์ท็อปคอมพิวเตอร์ไว้ทำงานเท่านั้นเอง!




ที่มา : นสพ.มติชน








// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.